3 รมต.หอบแฟ้มฟื้นฟู “การบินไทย” หารือนายกฯ ประธานสหภาพแฉ

3 รมต.หอบแฟ้มฟื้นฟู

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 เวลา 12.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สหภาพการแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้มายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อแสดงจุดยืนของสหภาพฯ ต่อกรณีแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสากิจการบินไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณว่าแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย สหภาพฯ จึงต้องออกมาแสดงจุดยืน ซึ่งสหภาพฯ เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูเพราะเป็นทางรอดทางเดียวของการบินไทย แต่ถ้าให้การฟื้นฟูครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพได้จริง

ในส่วนของพนักงานการบินไทย 20,000 คนที่มีสหภาพฯเป็นตัวแทน ขอให้มีสหภาพฯหรือพนักงานที่สหภาพฯ เห็นว่ามีความสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมการดำเนินการในทุกขั้นตอน ถึงจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทและเป็นพนักงานการบินไทยอย่างแท้จริง และให้เกิดความเชื่อมั่นกับนายกรัฐมนตรีและประชาชนว่าแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะฟื้นฟูได้จริง เพราะแผนฟื้นฟูการบินไทยในปี 2558 ก็เคยกู้เงินไปครั้งหนึ่งแล้วต้องกลับมากู้เงินใหม่อีก

“พนักงานในองค์กรทุกคนยินดีให้ความร่วมมือ ในอดีตมีการฟื้นฟู 3 ครั้ง แต่พนักงานไม่เคยได้มีส่วนร่วมและไม่มีโอกาสได้รับรู้ ครั้งนี้ก็ขอบคุณท่านนายกฯ ที่ให้โอกาสถามถึงพนักงานและสหภาพฯ หากท่านอนุมัติแผนฟื้นฟูไป สหภาพฯและพนักงานไม่ให้ความร่วมมือแล้วมันจะเกิดได้อย่างไร ก็เหมือนกับให้เงิน 50,000 ล้านบาทไปก็จบเหมือนเดิม ฉะนั้น คนในองค์กร 20,000 กว่าคนจึงขอมีตัวแทนเข้าไปร่วมในตรวจสอบการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู ซึ่งท่านนายกฯบอกเป็นครั้งสุดท้าย การต้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูองค์กร ถ้ามันจะจบ ขอให้เราร่วมจบไปกับบอร์ดและผู้บริหารในองค์กรด้วย อย่าไปจบเพราะคนอื่นมากำหนดให้เราจบ ครั้งนี้เราไม่ยอมจบง่ายๆ เราจะสู้ต่อ”

ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวต่อไปว่า แผนฟื้นฟูองค์กรก็ต้องเป็นไปตามที่การบินไทยทำเสนอกระทรวงคมนาคมเสนอ ผ่านไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพียงแต่ความเชื่อมั่นในการทำให้แผนไปสู่ความสำเร็จ จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพราะแผนนี้เป็นแค่แผนในกระดาษ มีหลักการจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขั้นตอนการปฏิบัติจะปฏิบัติตามจริงหรือไม่ ต้องมีพนักงานช่วยตรวจสอบ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาแผนฟื้นฟูการบินไทย มีการกู้เงินก็จริง แต่ไปทำอีกอย่าง

Advertisment

“ในครั้งนี้นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ก็ให้สหภาพฯได้เห็นแผนฟื้นฟูว่าจะลดพนักงาน และจำนวนเครื่องบินขนาดไหน ทุกอย่างกระทบกับเรา เพราะถ้าหากพนักงานไม่ให้ความร่วมมือแผนเดินต่อไม่ได้แน่นอน แต่ถ้าเกิดว่าเราได้ร่วมในกระบวนการทำแผนกับบอร์ดและฝ่ายบริหารก็จะเป็นไปได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นทำแผนใหม่ เพราะผ่าน คนร.มาแล้ว ทางสหภาพฯก็เห็นแล้ว เพียงแต่ขอให้พนักงาน 20,000 คนจัดตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินแผนไปสู่ภาคปฏิบัติ หลักๆ ง่ายๆ เลยแผนฟื้นฟูการบินไทยทำมาหลายครั้งแล้ว แต่การปฏิบัติจริงไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นไปตามแผนของกู้เงินหรือไม่ ดังนั้นคนที่จะตรวจสอบได้ดีที่สุดก็คนในบ้านเงินที่กู้มา 50,000 ล้านบาทได้ใช้อย่างคุ้มค่าจริง ไม่ใช่ไปสร้างหนี้ใหม่ เมื่อเป็นโอกาสสุดท้ายของเราแล้วก็ขอเราเข้าไปช่วยด้วย”

ส่วนที่มีการวิจารณ์กันว่า รัฐบาลเข้าไปอุ้มการบินไทย ต้องเข้าใจว่าการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ การกู้เงินแต่ละครั้ง ระบบเดิมรัฐบาลเป็นคนกู้เงินให้เราแล้วรัฐบาลเป็นหนี้แทนเรา เป็นหนี้สินของประเทศ แต่ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมารัฐบาลได้ผลักหนี้ของรัฐวิสาหกิจไปเป็นของตัวรัฐวิสาหกิจเอง ดังนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินกู้แค่รัฐบาลค้ำประกันให้ พวกเราต้องเป็นคนหาจ่ายเอง หากแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จ ถ้าเรามีส่วนร่วมลงเรือลำเดียวกันแล้ว เรือมันจะจมเราก็จะต้องยอมตายในเรือลำนั้น นายกฯบอกว่าโอกาสครั้งสุดท้ายแล้ว เราจะขอร่วมขบวนการช่วยอุดเรือลำนี้ด้วย เราจะพยายามอุดให้อยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในหนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการของพนักงานทุกคนให้มีสภาพจ้างงานตามกฏหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งแสดงความเห็นด้วยที่จะปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย กำจัดอิทธิพลทางการเมือง ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการลดขนาดขององค์กร

อย่างไรก็ตาม มีข้อความระบุว่าในแผนฟื้นฟูที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต้องไม่กระทบกับสภาพการจ้างงานของพนักงาน และขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทด้วยการแบ่งหน่วยธุรกิจของบริษัทออกจากกัน และการให้การบินไทยพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น

Advertisment

ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลหารือถึงแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย รวมถึงมาตรการรองรับหากถอดจีนและเกาหลีใต้ออกจากประเทศกลุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19