ปมร้อน ! บอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯ นักท่องเที่ยวต่ำกว่า 12 คนมีไกด์-ไม่มีไกด์ “สร้าง” หรือ “ทำลาย” อุตฯท่องเที่ยวไทย ?

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เกิดประเด็นร้อนของวงการท่องเที่ยวอีกครั้ง! กรณีร่างประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ปี 2559 (ฉบับแก้ไข) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การใช้มัคคุเทศก์ (ไกด์)

โดยประเด็นที่เป็นปัญหาและถกกันอยู่ในขณะนี้คือ การกำหนดไว้ว่าให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวต้องมีมัคคุเทศก์อย่างน้อย 1 คนต่อคณะนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเกินกว่า 12 คน แต่ไม่เกิน 50 คน ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจำนวนต่ำกว่า 12 คน ซึ่งเป็น private group ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวรวมถึงนักท่องเที่ยวเดินทางอิสระ (FIT)นั้นจะมีหรือไม่มีมัคคุเทศก์ก็ได้

ประเด็นดังกล่าวนี้ “วิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์” นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ได้หยิบยกขึ้นมาถกใหม่อีกครั้ง โดยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกำหนดให้กรุ๊ปทัวร์ไม่เกิน 12 คน (รถตู้) ไม่ต้องใช้มัคคุเทศก์ก็ได้นั้น ส่งผลร้ายแรงต่ออาชีพมัคคุเทศก์เป็นอย่างมาก ซึ่งมัคคุเทศก์ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นดังกล่าวอยู่ในขณะนี้

“ในช่วงที่คณะอนุกรรมการยกร่างอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯนั้น ผมไม่ได้นั่งเป็นนายกสมาคมมัคคุเทศก์ แต่เมื่อผมกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกรอบเมื่อปลายปี 2561 และโดยตำแหน่งก็เป็นคณะกรรมการยกร่างอนุบัญญัติด้วยไม่ได้เห็นด้วยตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว กระทั่งล่าสุดที่กรมการท่องเที่ยวได้ส่งหนังสือเวียนเพื่อถามความเห็นอีกรอบ (คาดว่าก่อนนำเสนออีกรอบ) จึงถือโอกาสนี้คัดค้านโดยให้มัคคุเทศก์ทั้งหมดทำจดหมายยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เข้ามาภายในวันที่ 20 มิถุนายนนี้” วิโรจน์กล่าว

พร้อมทั้งระบุว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเมสเซสที่ระบุว่า ให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวจัดให้มีมัคคุเทศก์อย่างน้อย 1 คนต่อจำนวนนักท่องเที่ยวเกิน 12 คน และไม่เกิน 50 คน แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ว่า จะไม่จัดให้มีมัคคุเทศก์ในกรณีที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่า 12 คน

เหตุผลคือ ที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากทำโดยใช้มัคคุเทศก์ผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก การออกกฎหมายมาแบบนี้จะเป็นการเปิดช่องและทำให้สิ่งผิดกฎหมายที่เคยทำกันในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และทำให้มัคคุเทศก์ไม่มีงานทำ ที่สำคัญ เป็นห่วงว่าหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งแนวโน้มการท่องเที่ยว new normal นั้น นักท่องเที่ยวจะเดินทางเป็นกลุ่มเล็กลง การออกประกาศลักษณะนี้จึงไม่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวใหม่

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ปี 2559 (ฉบับแก้ไข) ได้กำหนดกรอบกว้าง ๆ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการมีมัคคุเทศก์ ส่วนนักท่องเที่ยวอิสระ หรือ FIT ให้ไปกำหนดเรื่องจำนวนในกฎหมายลูก

โดยคณะอนุกรรมการยกร่างอนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ เสนอว่าให้กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวว่านักท่องเที่ยวจำนวนเท่าไหร่ต้องใช้มัคคุเทศก์ โดยต้องกำหนดเป็นตัวเลข (จำนวนกี่คน) สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นกรุ๊ปขนาดเล็กที่ประสงค์ไม่ใช้มัคคุเทศก์นั้น ต้องมีนักท่องเที่ยวไม่เกินเท่าไหร่ จึงเป็นที่มาของข้อกำหนดว่า ถ้านักท่องเที่ยวไม่เกิน 12 คน ไม่ต้องมีมัคคุเทศก์ก็ได้ หรือจะมีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักท่องเที่ยว

และกำหนดจำนวนสูงสุดด้วยว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนตั้งแต่ 12-50 คนนั้นต้องใช้มัคคุเทศก์อย่างต่ำ 1 คน และเพื่อไม่ให้มีลูกเล่นเยอะจึงกำหนดอีกว่าถ้านักท่องเที่ยวมีจำนวนเกิน 50 คน ต้องใช้มัคคุเทศก์เพิ่มขึ้นอีก 1 คน ไม่ใช่นักท่องเที่ยว 50 คน ก็ใช้มัคคุเทศก์ 1 คน นักท่องเที่ยว 200-300 คน ก็ใช้มัคคุเทศก์ 1 คน

แหล่งข่าวย้อนความให้ฟังด้วยว่า ร่างกฎหมายลูกตัวนี้ได้ทำการจัดทำมาตั้งแต่ 2560 และได้นำเสนอในบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯ โดยมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นประธาน ซึ่งในตอนนั้นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไม่เห็นด้วยที่มีการกำหนดจำนวนสูงสุดไว้ โดยให้ความเห็นว่าไม่เป็นการค้าเสรี จึงตีตก และให้คณะอนุกรรมการยกร่างฯกลับไปทำการบ้านมาใหม่

ขณะที่คณะอนุกรรมการยกร่างยังคงยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมว่า ต้องมีกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดต่อจำนวนมัคคุเทศก์ เพราะเป็นห่วงว่าถ้าไม่กำหนด หากมีจำนวนนักท่องเที่ยว 100-200 คน ผู้ประกอบการจะใช้มัคคุเทศก์ 1 คน ที่เหลือใช้มัคคุเทศก์ผิดกฎหมาย รัฐจะควบคุมไม่ได้

ด้าน “สุรวัช อัครวรมาศ” ในฐานะบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯ และ 1 ในคณะอนุกรรมการยกร่างอนุบัญญัติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เจตนารมณ์ของคณะอนุกรรมการยกร่างอนุบัญญัติมีความตั้งใจให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้มัคคุเทศก์ และตั้งใจช่วยมัคคุเทศก์จึงกำหนดว่า นักท่องเที่ยวจำนวนตั้งแต่ 12-50 คน ต้องใช้มัคคุเทศก์ 1 คน และเพิ่มมัคคุเทศก์อีก 1 คน หากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุก ๆ 50 คน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่า 12 คนนั้นให้คงสถานะทุกอย่างเหมือนกฎหมายเดิม กล่าวคือ ให้นักท่องเที่ยวเป็นคนเลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้มัคคุเทศก์

“ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี 2551 ไม่ได้ระบุว่า จำนวนการใช้มัคคุเทศก์ นักท่องเที่ยวจะใช้หรือไม่ใช้มัคคุเทศก์ก็ได้ ดังนั้น ฉบับแก้ไขจึงมีหลักการให้ใช้มัคคุเทศก์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่ากฎหมายเดิมมีแล้วกฎหมายใหม่ทำให้ปริมาณการใช้ไกด์น้อยลง อย่างน้อยที่สุดเรากำหนดว่าถ้าเป็นรถบัสต้องใช้ไกด์” สุรวัชอธิบาย

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่า 12 คนนั้นร่างประกาศใหม่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเลย เหมือนเดิมทุกอย่าง ใครจะใช้ก็ใช้ ใครไม่อยากใช้ก็ได้ แต่ถ้าใครใช้ต้องใช้ไกด์ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แค่เพิ่มเติมในส่วนของการกำหนดให้มีการใช้มัคคุเทศก์เท่านั้น

คงต้องจับตาและติดตามกันต่อไปว่า “ข้อสรุป” ของกฎหมายลูกดังกล่าวนี้จะออกมาในทิศทางไหน แต่ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายควรพิจารณาให้ดีคือ หลักการที่ออกมาบังคับใช้นั้นช่วย “สร้าง” หรือ”ทำลาย” อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างไร…