เลิกเคอร์ฟิว-ดื่มกินเสรี 4 จังหวัด เปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 65

เครื่องดื่มแอล

ศบค.เคาะคิกออฟเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พ.ย. ยกเลิกเคอร์ฟิว 4 จังหวัดนำร่อง “กทม.-ภูเก็ต-กระบี่-พังงา” เปิดเสรีให้ดื่มเหล้า-เบียร์ในร้านอาหาร กางไทม์ไลน์เปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 65 กทม.ตั้งการ์ดสำรองเตียงรับผู้ป่วย 27 สายการบิน ต่างชาติกว่าหมื่นรายจ่อเข้าไทย “หนองคาย-เลย-เมืองกาญจน์” เตรียมมาตรการ-บูมแหล่งท่องเที่ยวใหม่รองรับ

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศบค.ครั้งที่ 17/2564 มีมติเห็นชอบ ตามที่สาธารณสุข (สธ.) เสนอแผนการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

ปรับโซนสีแดงเข้มเหลือ 7 จังหวัด

โดยปรับพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 23 จังหวัด เหลือ 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

พื้นที่ควบคุมสูงสุด 30 จังหวัด เพิ่มเป็น 38 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 24 จังหวัด เป็น 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม น่าน บึงกาฬ มุกดาหาร และสกลนคร

ขาย-ดื่มแอลกอฮอล์ 4 จังหวัด

ทั้งนี้ พื้นที่สีฟ้า ซึ่งจะมี 4 จังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระบี่ พังงา และภูเก็ต จะเปิดให้มีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป

ในการประชุมคราวเดียวกันนี้ ได้เห็นชอบแผนการรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดโควิด-19 ปี 2565 แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะนำร่อง (16-31 ต.ค. 64) ให้ส่วนราชการทุกหน่วยงาน เตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการ ตัวชี้วัดและกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนเปิดประเทศ

จากนั้นเข้าสู่แผนระยะที่ 1 (1-30 พ.ย. 64) ที่ให้ทุกหน่วยงาน ทุกระดับจัดทำแผนปฏิบัติการตามกลยุทธ์ และมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ส่วนระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค. 64) และระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป) มีการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่การประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ซื้อตั๋วบินเข้าไทยทะลุหมื่นราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการรายงานจำนวนการจองบัตรโดยสารของเที่ยวบินที่ทำการบินเข้าออก ประเทศไทย วันที่ 1-5 พ.ย. 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ต.ค. 64) ระบุว่า มีสายการบินทั้งหมด 27 แห่ง อาทิ บริษัท เกาหลีแอร์ไลน์ จำกัด, เตอร์กิชแอร์ไลน์, กาตาร์ แอร์เวย์, เอมิเรตส์, บริษัท ออล นิปปอน แอร์เวย์ จำกัด, สิงคโปร์แอร์ไลน์ส เป็นต้น

โดยเครื่องบินของสายการบินเหล่านี้ จะบินเข้าออกจากสนามบินในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย และเชียงใหม่ รวมผู้โดยสารที่จองบัตรโดยสารไว้ทั้งหมด 10,919 ราย

ทอท.ชี้ต่างชาติยังน้อย

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ผู้บริหารสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) กล่าวว่า ช่วงปลายเดือน ต.ค.ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินหลักทั้ง 6 แห่งของ ทอท. เฉลี่ย 50,000-60,000 คนต่อวัน เพิ่มจาก 29,000-30,000 คนต่อวัน

ช่วงต้นเดือน ต.ค. เดือนแรก ที่คลายล็อกให้คนไทยเดินทางข้ามเข้า-ออกจังหวัดสีแดงเข้ม โดยผู้เดินทางดังกล่าวนี้ 98-99% เป็นการเดินทางท่องเที่ยวของตลาดคนไทยเดินทางภายในประเทศ

ขณะที่นักเดินทางต่างประเทศมีสัดส่วนน้อยมาก อาทิ สนามบินภูเก็ต ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า-ออกเฉลี่ย 700-800 คนต่อวัน สนามบินสุวรรณภูมิ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าออกเฉลี่ยราว 1,000 คนต่อวัน เป็นต้น สนามบินอื่น ๆ เกือบ 100% ยังเป็นกลุ่มคนไทย

แนวโน้มเดือน พ.ย.ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินและสายการบินต่างประเทศที่ให้บริการเที่ยวบิน-เข้าออกสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ยังใกล้เคียงเดือน ต.ค.ปัจจุบันสายการบินต่างประเทศจองสล็อตการบินเหลือราว 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด

“ในส่วนของสายการบินภายในประเทศแม้ที่ผ่านมาทุกสายการบินได้ทยอยเพิ่มเส้นทางบินและความถี่เที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ยังมีสล็อตการบินให้บริหารเหลือ 60-70% เมื่อเทียบกับปี 2562”

อย่างไรก็ตาม มาตรการเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวประเทศเสี่ยงต่ำ 46 ประเทศเข้ามาโดยไม่กักตัว ต้องรอประเมินดีมานด์ปริมาณเที่ยวบินเดือน ธ.ค.อีกครั้ง

กทม.ยึดโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยเฉพาะมาตรการด้านสาธารณสุข ยืนยันว่า กทม.ไม่ประมาท

และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องจนครบ 2 เข็มในสัดส่วน 70% ของประชากรทั้งหมด เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา มาตรการส่วนใหญ่จะปรับมาจาก “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

สำหรับมาตรการที่เตรียมไว้เบื้องต้น ได้แก่ 1.การสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง (รุนแรง) และสีเหลือง (เสี่ยงรุนแรง) ซึ่งได้จัดเตรียมไว้ประมาณ 10,000 เตียง และ 2.มาตรการตรวจคัดกรองโรค แบ่งกว้าง ๆ 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ผู้เดินทางมาจาก 46 ประเทศ ตามประกาศ ศบค. และได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เมื่อเข้าประเทศแล้วไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องตรวจคัดกรองด้วยการแหย่โพรงจมูก (RT-PCR) ที่โรงแรมหรือที่พักที่ได้จองเอาไว้ ซึ่งจะต้องตรวจนับตั้งแต่เข้าประเทศภายใน 3 ชม.

กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ไม่ได้มาจาก 46 ประเทศ ตรวจเหมือนกลุ่มแรก แต่ต้องกักตัว 7 วัน และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดแล้ว 1 เข็ม และไม่ได้มาจาก 46 ประเทศ ตรวจเหมือนกลุ่มแรก แต่ต้องกักตัว 14 วัน

หนองคายรัฐ-เอกชนพร้อม

สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า การเตรียมเปิดเมืองของหนองคาย เป็นไปตามที่รัฐบาลและ ศบค.กำหนด โดยดำเนินโครงการ Nong Khai Sandbox หรือ “หนองคายสบายดี”

ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.เมือง, อ.ท่าบ่อ, อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.สังคม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดพร้อม 100% ตามแนวทางปฏิบัติของ ศบค. และทางกระทรวงสาธารณสุข

เบื้องต้นได้ระดมฉีดวัคซีนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คืบหน้าใกล้เคียงเป้าที่ตั้งไว้ คือ 80% ส่วนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50% หรือ 70% ในกลุ่มอำเภอเป้าหมายได้รณรงค์อย่างต่อเนื่อง พร้อมรับนักท่องเที่ยว

เงื่อนไขสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือมีผลการตรวจโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

นายพรพิพัฒน์ ตันนารัตน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมอัศวรรณ จ.หนองคาย เปิดเผยว่า โรงแรมอัศวรรณมีความพร้อมรับการเปิดเมือง โดยผ่านมาตรฐาน SHA แและพนักงานได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 70% การเปิดรับนักท่องเที่ยว 4 อำเภอ จากภาคการท่องเที่ยวกำลังคึกคัก และจากการสอบถามกับผู้ประกอบการโรงแรมรายอื่นในจังหวัดก็พร้อมรับนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน

ชู “เชียงคาน” รับนักท่องเที่ยว

นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย เปิดเผยว่า จ.เลย จะนำร่องเปิดเมือง 1 พ.ย. 2564 เฉพาะ อ.เชียงคาน ที่ประชาชนฉีดวัคซีนมากกว่า 70% แล้ว จุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 2 แห่ง คือ ถนนคนเดิน และสกายวอล์กเชียงคาน พร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

ด้านมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้า อ.เชียงคาน ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือตรวจโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR หรือตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ไม่เกิน 72 ชั่วโมง สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย หากไม่มีผลตรวจจะไม่สามารถเข้าพักในพื้นที่ได้ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่สามารถบินมาลงที่สนามบินจังหวัดเลยได้ตั้งแต่ต้นทาง

“นอกจากมาตรการคัดกรองแล้ว จุดที่นักท่องเที่ยวหนาแน่นอย่างถนนคนเดินของเชียงคานที่ยาวกว่า 2 กิโลเมตร ยังมีมาตรการจำกัดคนเข้าไม่เกิน 5 พันคนในแต่ละช่วงเวลา และจะขยายเปิดพื้นที่ อ.ภูเรือ อ.หนองหิน เพิ่ม เพราะเดือน พ.ย.นี้ จะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนทั้งจังหวัด”