ท่องเที่ยวหนุนโควิดโรคประจำถิ่น ปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศ

Photo by AFP

คนท่องเที่ยวลุ้นประกาศ “โควิด” เป็นโรคประจำถิ่น ชงยกเลิกมาตรการเดินทางเข้าประเทศมีนาคมนี้ หวังอำนวยความสะดวก-ปั๊มนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ภูเก็ต” พร้อมนำร่อง สมาคมโรงแรมไทยชี้ไม่รีบปลดล็อกธุรกิจล่มสลายแน่ ด้าน ททท.ยันเดินหน้าเสนอ ศบค. 23 ก.พ.นี้ พิจารณายกเลิกตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 เปิดด่าน 7 จังหวัดนำร่อง กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวชายแดน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ก.พ. 65) กลุ่มสมาคมท่องเที่ยว 20 องค์กร อาทิ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ และประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนมีนาคมนี้ ตามแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

พร้อมทั้งยกเลิกมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งการขอ Thailand Pass และการตรวจ RT-PCR เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้อย่างสะดวก และสามารถเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลพิจารณา 4 ประเด็นทันที คือ

1.เลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 2.ลดการกักตัวของผู้ติดเชื้อจาก 10 วันเหลือ 5 วัน 3.ยกเลิกมาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่หากตรวจหาเชื้อแล้วเป็นลบในวันแรก และ 4.ปรับลดวงเงินประกันการเดินทางจาก 50,000 เหรียญสหรัฐ เหลือ 25,000 เหรียญสหรัฐ

Advertisment

โดยให้เหตุผลว่า หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว อาทิ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ พร้อมยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการตรวจ RT-PCR หรือการกักตัว เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้ทยอยปรับมาตรการการเดินทางเข้าแล้วเช่นกัน

เช่น ฟิลิปปินส์ ยกเลิกการตรวจโควิดเมื่อเดินทางมาถึงตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เหลือเพียงแต่การแสดงเอกสารการฉีดวัคซีน และการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง กัมพูชา ปรับการตรวจที่สนามบินเป็นการตรวจด้วย ATK สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว และแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดสและการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง เป็นต้น

สอดรับกับ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่กล่าวว่า ภูเก็ต พร้อมเสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่องประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และขอลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อจาก 10 วัน แบ่งเป็น 5 : 5 ใน 5 วันแรกกักตัวที่บ้านหรือฮอสพิเทล หรือ รพ.การรักษาตามอาการ และอีก 5 วันหลังสามารถกลับไปทำงานได้ นอกจากนี้ยังต้องการเป็นจังหวัดนำร่องในการยกเลิกการรายงานประจำวันตัวเลขผู้ติดเชื้อ รายงานเฉพาะการติดเชื้อกรณีผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง สีดำ เท่านั้น

สมาโรงแรมไทยจี้เร่งปลดล็อก

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เหตุผลในการทำข้อเสนอถึงรัฐบาล ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

Advertisment

และ 3.ความอยู่รอดของกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่าหลังจากกลับมาเริ่มต้นมาตรการ Test & Go อีกครั้งเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาซึ่งมาพร้อมกับมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ทำให้โมเมนตัมการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติสะดุด ประกอบกับหลาย ๆ ประเทศรอบข้างเริ่มปลดล็อกมาตรการแล้ว หากประเทศไทยไม่เดินหน้าก็จะทำให้เสียโอกาส

“ถ้าเราไม่รีบปลดล็อก ธุรกิจจะล้มตายหายไปอีกจำนวนมาก เพราะตอนนี้ทุกคนอยู่ในภาวะลมหายใจเฮือกสุดท้ายแล้วจริง ๆ ถ้าจะต้องอยู่ในภาวะรอวันรอคืนแบบนี้ต่อไป ธุรกิจจะไม่มีกระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียน สุดท้ายพนักงานก็จะถูกเลิกจ้าง จุดนี้คือการล่มสลายของธุรกิจที่แท้จริง” นางมาริสาย้ำ

ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯเห็นด้วยในข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ปรับมาตรการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Test & Go ในประเด็นขอให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการเดินทางเข้าประเทศไทย และให้ใช้การตรวจแบบ ATK แทน ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป

เบื้องต้นแนวทางดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) และได้เสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ศปก.ศบค. ชุดเล็กไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ททท.ยังคงนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ให้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศอีกครั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ โดยประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการเดินทาง โดยใช้การตรวจแบบ ATK แทน และ 2.การปิดด่านชายแดน (บางพื้นที่)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายละเอียดของการเปิดด่านชายแดนนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (สปก.กก.) มีข้อสรุปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเตรียมเปิดด่านทางบกพร้อมกัน 7 จังหวัด ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 นี้ด้วยเช่นกัน ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล

โดยมาตรการการเปิดด่านทางบกนั้น หากเดินทางมากกว่า 1 วันจะใช้มาตรการเดียวกับ Test & Go ของการเดินทางทางอากาศ กล่าวคือ ยังต้องตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 1 ในวันที่เดินทางมาถึง เมื่อผลเป็นลบจึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อไปในทุกพื้นที่ได้ ส่วนการเดินทางในรูปแบบวันเดียวกลับ หรือ one day trip ในช่วงเริ่มต้นกำหนดให้เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว และใช้การตรวจ ATK แบบ digital vaccine บริเวณหน้าด่าน และไม่ต้องลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบของ Thailand Pass

อุดรฯ-หนองคายพร้อมเปิดด่าน

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าของการเปิดชายแดนในภาคอีสานต้องพูดคุยกับประเทศเขตชายแดนทั้ง สปป.ลาวและกัมพูชา ว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นอย่างไร ต้องหามาตรการร่วมกันให้ชัดเจน และตามที่ ศบค.ประกาศคร่าว ๆ ว่าจะเปิดด่านหนองคายและด่านทางภาคใต้นั้นมีแนวโน้มที่เป็นไปได้เร็ว ๆ นี้ โดยฝั่ง สปป.ลาวก็ต้องการนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการเปิดด่านชายแดนหนองคายกับฝั่ง สปป.ลาว มีการพูดคุยกันบ้างแล้วอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการสอบถามกันในระดับผู้ปกครองแขวง แต่ภาพรวมยังเฝ้าดูสถานการณ์ และ สปป.ลาวยังคงวิตกกับตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ในไทย ขณะที่ประเทศไทยค่อนข้างมีความมั่นใจในระบบสาธารณสุขพอสมควร

“เบื้องต้นการเปิดด่านชายแดนฝั่ง สปป.ลาวที่จังหวัดหนองคาย จะเน้นการวางมาตรการเพื่อควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยคาดว่าจะมีการใช้มาตรการ Test and Go เปิดรับเฉพาะผู้ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งทางจังหวัดมีความพร้อมที่จะเปิดมาก และคาดว่าในเดือนเมษายน 2565 นี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น”

นอกจากนี้ ทั้งจังหวัดอุดรธานีและหนองคายเองก็ถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับ ในกรณีที่จะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยจะต้องอยู่กับโควิดให้ได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กันไป อย่างน้อยตอนนี้ ประชากรในจังหวัดจำนวนมากก็ได้รับการฉีดวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง

ใต้ชงขอยกเลิกไทยแลนด์พาส

นายทรงชัย มุ่งประสิทธิชัย นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด นิวเอเชียทัวร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ประกอบการนำเที่ยวภายในประเทศ กล่าวในเรื่องนี้ว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศจะเปิดแนวชายแดนไทยวันที่ 1 มีนาคม 2565

ตอนนี้มีเอเย่นต์ในประเทศมาเลเซียสอบถามมายังผู้ประกอบการนำเที่ยวที่ อ.หาดใหญ่ ว่า การเดินทางมายังประเทศไทยจะมีเงื่อนไขกฎเกณฑ์อะไรบ้าง แต่สมาคมไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดหรือเงื่อนไขการเปิดด่านมายังกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว

“ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.สงขลา กำลังรอทางการเรียกประชุม ถ้าจังหวัดเรียกประชุมผู้ประกอบการจะเสนอขอยกเลิกเรื่องการเดินทางมาทางบกที่ต้องผ่านไทยแลนด์พาส โดยเสนอขอให้ผ่านทางบริษัททัวร์ของไทยและบริษัททัวร์ของมาเลเซียแทน เพื่อลดเงื่อนไขเรื่องเวลา ที่จะต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน ตอนนี้ทางมาเลเซียพร้อมที่จะเดินทางเข้ามาแล้ว”