ไทยเวียตเจ็ท-แอร์เอเชีย เทคออฟเส้นทางบิน “ระหว่างประเทศ”

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาหลายประเทศประกาศผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินเริ่มวางแผนเทกออฟเส้นทางบินระหว่างประเทศกันอีกครั้งหลังจาปิดให้บริการในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท บอกว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ของไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ทำให้หลายประเทศพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศกันแล้ว เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม อีกทั้งเชื่อว่าปัจจุบันยังมีความต้องการการเดินทางอยู่มาก โดยคาดว่าไตรมาสที่ 4 ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาดีขึ้น

ไทยเวียตเจ็ทรุกขยายธุรกิจ

สำหรับอุตสาหกรรมการบินในปีนี้นั้นคาดว่าผู้ประกอบการสายการบินส่วนหนึ่งเลือกที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบอนุรักษนิยม โดยอาจขยายธุรกิจอย่างช้า ๆ ในระยะ 2 ปีที่จะถึงนี้ และรอจนกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ แต่ผู้ประกอบการอีกส่วนอาจเลือกที่จะขยายธุรกิจในช่วงเวลานี้ ซึ่ง “ไทยเวียตเจ็ท” เป็นหนึ่งในสายการบินที่เลือกขยายงานในช่วงนี้

“ในช่วงการระบาดที่ผ่านมา สายการบินปรับกลยุทธ์จากมุ่งเส้นทางบินเช่าเหมาลำสู่ประเทศจีน สู่การเน้นทำตลาดการบินในประเทศ โดยปัจจุบันสายการบินมีจุดบินภายในประเทศกว่า 10 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเส้นทางบินข้ามภาค เช่น ภูเก็ต-เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ท่าอากาศยานภูเก็ตถือเป็นฮับบินที่ 2 ของสายการบิน”

นอกจากนี้ จากการที่ “ไทยเวียตเจ็ท” มีฝูงบินที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้สามารถใช้งานเครื่องบินได้ตลอด ไม่ต้องรับภาระจากการจอดเครื่องบินทิ้งไว้ ทำให้ไทยเวียตเจ็ทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากอันดับ 5-6 มาสู่อันดับที่ 2 ได้ และเชื่อว่าเป็นสายการบินเดียวที่ขยายฝูงบินในช่วงที่มีการระบาดของโควิด

Advertisment

“ไทยเวียตเจ็ทอยู่ในฐานะพร้อมที่จะเติบโต แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้สายการบินได้รับผลกระทบหนักมาก แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม เราถือว่าประสบปัญหาน้อยกว่า”

ขยายเส้นทางบินต่างประเทศ

ด้าน “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ให้ข้อมูลว่า นอกจากเส้นทางบินภายในประเทศแล้ว ขณะนี้ “ไทยเวียตเจ็ท” เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบินสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศด้วย

ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ (กัมพูชา) เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมเป็นต้นไป โดยในช่วงแรกจะเริ่มให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และจะปรับเพิ่มจากความถี่เป็นสูงสุดสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบินในเดือนพฤษภาคมนี้

เส้นทางกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ (เวียดนาม) เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมเป็นต้นไป โดยในช่วงแรกจะเริ่มให้บริการสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน และเตรียมวางแผนขยายความถี่สู่วันละ 5 เที่ยวบินภายในสิ้นปีนี้

Advertisment

เส้นทางกรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมเป็นต้นไป โดยในช่วงแรกจะให้บริการด้วยความถี่สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และอาจขยายเป็น 2-3 เที่ยวบินต่อวันภายในสิ้นปีนี้

เส้นทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 28 เมษายนนี้เป็นต้นไป โดยในช่วงแรกจะให้บริการด้วยความถี่สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และอาจขยายเป็น 3 เที่ยวบินต่อวันภายในสิ้นปีนี้ เส้นทางภูเก็ต-สิงคโปร์ เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนเป็นต้นไป โดยในช่วงแรกจะให้บริการด้วยความถี่สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน

โดยทั้ง 4 เส้นทางบินดังกล่าวตั้งเป้าอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ต่ำว่า 80% และเชื่อว่าจะถึงเป้าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งคาดหวังจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศด้วย

“ปัจจุบันสิงคโปร์เริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น และสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้ดี เราจึงมีความหวังที่ในอนาคตภาครัฐไทยจะผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเช่นกัน”

ครึ่งปีหลังเจาะอินเดีย-ญี่ปุ่น

“วรเนติ” บอกด้วยว่า “ไทยเวียตเจ็ท” อาจพิจารณาเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-อาเมดาบัด ประเทศอินเดีย ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะพิจารณาเปิดเส้นทางบินอื่น ๆ ต่อไป รวมถึงพิจารณาเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-พุทธคยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดทำการบินช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่ไปแสวงบุญ ทั้งนี้ เชื่อว่าตลาดอินเดียยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

นอกจากนี้ “ไทยเวียตเจ็ท” ยังได้รับใบอนุญาตให้ทำการบินเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่การผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของทางการญี่ปุ่น

รวมถึงพิจารณาเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-เสียมราฐ เชื่อมต่อศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาต่อไป

รุกเพิ่มฝูงบิน-ลูกเรือ

“วรเนติ” ย้อนความให้ฟังด้วยว่า ในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา สายการบินได้เพิ่มจำนวนฝูงบินจากเดิม 11 ลำ เป็น 16 ลำ และหลังจากนี้ได้เตรียมเพิ่มฝูงบินอีก 4-8 ลำ เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่ (นอกเหนือจาก 4 จุดบินที่กล่าวไปข้างต้น) รวมถึงความถี่เที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

โดยจำนวนเครื่องบินนั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเปิดประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอกจากนี้ สายการบินยังเตรียมเปิดรับลูกเรือ-พนักงานเพื่อรองรับการขยายฝูงบินในอนาคตอีกด้วย

ตั้งเป้าโตปีละ 20-30% ใน 5 ปีนี้

คาดการณ์ว่าปีนี้ไทยเวียตเจ็ทจะมีจำนวนผู้โดยสารราว 5 ล้านคน ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญในการขยายสู่เส้นทางบินต่างประเทศ และคาดว่าจะมีการเติบโตของรายได้ราว 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าผู้โดยสารจะเติบโตเฉลี่ย 20-30% ต่อปีและมีสัดส่วนของผู้โดยสารจากเที่ยวบินระหว่างประเทศอยู่ที่ 70% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดปัจจัยหลักคือ การเปิดประเทศของทางการจีน การควบคุมต้นทุน กลยุทธ์ด้านราคา

“ปัจจุบันสายการบินอยู่ในเฟสการขยายตัว และเราจะใช้ยุทธศาสตร์เติบโตอย่างระมัดระวัง”

ไทยแอร์เอเชียเปิด 18 เส้นทาง

ด้าน “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ระบุว่า สายการบินเตรียมเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ บินตรงจากท่าอากาศยานดอนเมือง ภูเก็ตและหาดใหญ่ สู่ 7 ประเทศ รวม 18 เส้นทางตั้งแต่เมษายน 2565 นี้เป็นต้นไป รวมประมาณ 38 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 81 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเดือนพฤษภาคมนี้

ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ฮานอย, โฮจิมินห์, บาหลี, กัวลาลัมเปอร์, บังคาลอร์, เชนไน, ปีนัง เส้นทางภูเก็ต-สิงคโปร์ เส้นทางหาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ โดยเริ่มทำการบินเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป

เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่โกลกาตา, โกชิ, ชัยปุระ, ดานัง, ยะโฮร์บาห์รู, เสียมราฐ โดยเริ่มทำการบินเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

โดยหลักการนั้น “ไทยแอร์เอเชีย” จะเลือกเปิดเส้นทางบินไปยังประเทศที่มีนโยบายเปิดประเทศทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสูงสุดและไม่ต้องกักตัวเป็นหลัก