GPSC ปัดผูกขาดตลาดไม่เอี่ยวการเมือง เดินหน้ารักษาเสถียรภาพพลังงาน-EEC

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ชี้แจงกรณีการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) หรือ GLOW ว่าการเจรจาซื้อขายหุ้น (ดีล) ครั้งนี้เป็นการซื้อขายเชิงพาณิชย์ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่ง GPSC ในฐานะผู้ซื้อที่ต้องการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นไม่ใช่ในฐานะเป็นผู้บริหาร และเป็นราคาประเมินแล้วว่าเหมาะสม ไม่มีนอกมีใน แต่หากลูกค้าไม่เข้าใจก็ต้องเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องชี้แจง

“ทาง GPSC ยืนยันดีลนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ แต่เป็นเรื่องของการซื้อขายหุ้น ที่คนซื้อก็อยากซื้อ คนขายก็อยากขาย ส่วนตัวจึงยอมรับว่ามีความเป็นห่วงที่ขณะนี้มีความพยายามจะดึงประเด็นนี้ไปเชื่อมโยงกับการเมือง”

ดังนั้น การซื้อขายหุ้นครั้งนี้จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 75 (2) ที่ห้ามรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจแข่งกับเอกชน เนื่องจาก GPSC บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจในลักษณะเอกชน มีประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นนับหมื่นรายเป็นผู้มีส่วนได้เสียใน GPSC จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 8 และ 72 เนื่องจากส่วนแบ่งการตลาดของทั้งสองบริษัทเมื่อควบรวมกันแล้วจะมีกำลังการผลิตเพียง 6.9% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ จึงไม่เข้าข่ายการผูกขาดหลังการควบรวมธุรกิจ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่อันดับ 3 ของประเทศ ทั้งยังมีแหล่งผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น ลาว และเมียนมา

ประกอบกับผู้ถือหุ้น 99.98% เห็นชอบให้ธุรกรรมนี้ได้ และยืนยันว่าการดำเนินการไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการซื้อทรัพย์สินในส่วนธุรกิจไฟฟ้าบริษัท เอ็นจี้ โกลบอล เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะบริษัทแม่ที่ถือหุ้นอยู่ในโกลว์ จึงเท่ากับเป็นการซื้อหุ้นจากต่างชาติกลับมาประเทศ เงินปันผล 5,000 ล้านบาท ก็อยู่ในประเทศไทยไม่ไหลออกนอกประเทศ

ส่วนประเด็นที่มีความเป็นห่วงว่าเมื่อควบรวมแล้วกำลังการผลิตจะทำให้กลุ่มปตท.ผูกขาดกำลังการผลิตที่มาบตาพุดนั้น ขอยืนยันว่า GPSC เราไม่มีเจตนาที่จะผูกขาดธุรกิจการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่มาบตาพุด เพราะเราไม่ได้ความสามารถในการดำเนินงานมากขนาดนั้น เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจมีการเปิดเสรี ทำให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าหลายราย ลูกค้ามีทางเลือก อีกทั้งธุรกิจไฟฟ้าไม่ใช่ธุรกิจปกติ ถ้าคนไม่ใช่ก็สูญ เก็บไม่ได้ ถ้าไม่มีคนซื้อก็เจ๊ง

“ในพื้นที่มาบตาพุดมีทั้งบริษัท บีแอลซีพี พาวเวอร์ จำกัด หรือBLCP บริษัท บางกอกโคเจนเนอเรชั่น จำกัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือกฟภ. และบริษัทในกลุ่มเครือปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ซึ่ง GPSC ได้ทำหนังสือแจ้งกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย และเอกชนรายอื่นรวมถึงคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อยืนยันไม่ต้องการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในพื้นที่ เพราะไม่ใช่เป้าหมายของธุรกิจ จึงไม่มีความจำเป็นที่ GPSC ต้องดำเนินการเช่นนั้น แต่เราดำเนินการภายใต้หลักความยุติธรรม อีกทั้งจะเข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวแก่กลุ่มปูนซิเมนต์ และบริษัท ดาวเคมิคอล ประเทศไทย จำกัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน”

นายสุรงค์ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่เป็นห่วงคือ ผู้ซื้อจะไม่ซื้อ ถ้าลูกค้าหนึ่งรายไม่ซื้อเราเจ๊ง ดังนั้นเราต้องมีประสิทธิภาพให้ลูกค้าเลือกซื้อเรา เพราะมีผู้ผลิตไฟฟ้าอีกหลายราย ยืนยันการดำเนินธุรกิจต้องดำเนินไปตามสัญญา ถ้าไม่ดำเนินการตามสัญญา ลูกค้าสามารถร้องเรียนได้ ซึ่งสัญญานี้ได้ดำเนินการไว้ตั้งแต่ยังไม่มีการควบรวม เราไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งนี้ กรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า กกพ. ชุดใหม่จะพิจารณาดีลนี้ล่าช้าออกไปหรือไม่ ทางบริษัทมองว่าเรื่องนี้มีเงื่อนเวลาอยู่แล้วภายใน 90+15 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นเอกชนการซื้อหุ้นโกลว์ให้ กกพ. พิจารณาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2561 ตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 27 ก.ย.2561 ระหว่างนี้จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกพ. เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บทบาทของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ GPSC ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความชัดเจนอยู่แล้ว คือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โดยในส่วนของ GPSC มีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบพลังงานในภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุน

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นการเมืองไม่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการควบรวมสองบริษัทนั้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน การทำให้ระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยี Energy Storage ที่จะเข้ามาเสริม ยืนยันว่า ระบบที่เป็นธรรมจะเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มปตท. นอกกลุ่ม ปตท. การทำงานยังใช้การประสานงานใกล้ชิดลูกค้า เราอยากให้ลูกค้าเลือกเราเพราะเรามีประสิทธิภาพ จะเห็นว่าลูกค้านอกกลุ่มให้ความพึงพอใจสูงสุด และเหตุผลสำคัญในการเดินหน้าซื้อก็เพราะความมั่นคงและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลคือ EEC โดยการรวม2ระบบเข้าด้วยกัน ถ้าเราไม่มีไฟฟ้าก็ลำบาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูมติของ กกพ. ระหว่างนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าทุกรายให้เข้าใจ