ปรากฏการณ์ “เวลท์ เอฟเฟ็กต์” กับภาวะตลาดหุ้นสหรัฐ

ในวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มีเรื่องของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เวลท์ เอฟเฟ็กต์” (wealth effect) ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราคาทรัพย์สิน อาทิ ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนทั่วไป “รู้สึก” มีความมั่นคงมากขึ้นจะนำส่วนหนึ่งของทรัพย์สินออกมาใช้จ่าย หรือกู้ยืมมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว

และทางกลับกัน เมื่อราคาของทรัพย์สินเหล่านั้นหดตัวลงมากและเร็ว ความรู้สึกของผู้คนและครัวเรือนทั้งหลายก็จะเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม ความรู้สึกไม่มั่นคงทำให้การใช้จ่ายลดลง ธุรกิจก็จะผลิตสินค้าออกมาสต๊อกน้อยลง ชะลอแผนขยายกิจการหรือเพิ่มการจ้างงาน เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบในทางลบตามมา

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งใช้ปรากฏการณ์ “เวลท์ เอฟเฟ็กต์” ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐในช่วง1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐได้อย่างไร

โดยย้ำว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นพึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนสูงมาก การบริโภคเป็นเครื่องยนต์หลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวตลอดมา ดังนั้นหากการบริโภคหดตัว เศรษฐกิจก็หดลงตามไปด้วย

ตลาดหุ้นอเมริกันทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา จากนั้นก็ผันผวนอยู่ในแดนลบต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ก็ลดลงถึงระดับ 10% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดดังกล่าว

Advertisment

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นสหรัฐ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดหุ้น จะส่งผลถึงกับทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐเกิดปัญหาถึงกับเสียขบวนอีกครั้งหรือไม่

แต่อย่างน้อยขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเกิด “เวลท์ เอฟเฟ็กต์” ในทางลบขึ้นตามมาจากปัญหาตลาดหุ้นในครั้งนี้ยังมีให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นดาวโจนส์มากถึง 10% ถือได้ว่าเป็นการปรับตัวทางเทคนิคของตลาด ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เมื่อปิดตลาดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ดัชนีดาวโจนส์ยังคงอยู่ในระดับเหนือกว่า การปรับฐานครั้งหลังสุดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2016 อยู่ราว 50% อีกด้วย

การดิ่งลงของตลาดหุ้นจนกลายเป็นปัญหาใหญ่โตกับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น โดยทั่วไปแล้วเกิดจากปัญหาการขาดสมดุลทางการเงิน เช่นกรณีหนี้ซับไพรม์ เมื่อปี 2007 ที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยตามมาในเวลานี้ นอกจากนั้นระดับหนี้ของคนอเมริกันยังอยู่ห่างจากระดับเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ธนาคารพาณิชย์ยังมีเงินสดสำรองมากกว่า กฎระเบียบจากยุคนั้นก็ช่วยลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สุ่มเสี่ยงลงไปมาก ผลกำไรบริษัทธุรกิจทั้งหลายก็แข็งแกร่งดีอยู่ มีแนวโน้มโตขึ้นอีกต่างหาก

Advertisment

“เกรกอรี แดโค” หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก ยืนยันว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังดูดีอยู่มากพอที่จะรองรับภาวะช็อกของตลาดหุ้นในเวลานี้ได้ เว้นแต่ว่าภาวะดิ่งลงยังรุนแรงต่อเนื่อง เปลี่ยนภาวะตลาดกระทิงให้กลายเป็นภาวะตลาดหมี ซึ่งในทางเทคนิคแล้วหมายถึงการลดต่ำลงถึง 20% จากระดับพีกหลังสุด หรือไม่ก็เกิดภาวะซบเซา ไม่มีการปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องนานหลายเดือน

หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐก็เสี่ยงที่จะชะลอตัวตามสูงมาก เพราะภาวะนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดลง ดึงให้การขยายตัวช้าลงตามไปด้วย

“ไมเคิล เฟโรลี” นักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน เชส ตั้งข้อสังเกตในทางบวกไว้ว่า นับตั้งแต่เกิดเศรษฐกิจถดถอยเรื่อยมา ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มมัธยัสถ์กันมากขึ้น ไม่ยึดถือมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาฯหรือตลาดหุ้นว่าเป็นความมั่งคั่งที่ยาวนาน ผลก็คือการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือ 1 เซนต์ต่อทุก ๆ 1 ดอลลาร์ที่ราคาอสังหาฯหรือราคาหุ้นปรับขึ้น ลดลงจากระดับ 3.5 เซนต์ต่อ 1 ดอลลาร์ก่อนหน้าที่เกิดภาวะถดถอยผลก็คือ เมื่อการบริโภคลดลง ก็จะลดลงไม่มากมายเช่นเดียวกัน

กระนั้น เฟโรลีก็เตือนว่า แม้เวลท์เอฟเฟ็กต์ครั้งนี้จะไม่มาก แต่ก็ยังอาจก่อผลกระทบได้ เนื่องจากช่วง 1 ปีก่อนที่จะเกิดการปรับฐานของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นขยับขึ้นไปสูงมาก มูลค่าทรัพย์สินของครัวเรือนอเมริกันเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ หากทุก 1 เซนต์ใน 1 ดอลลาร์ถูกนำมาใช้จ่าย ก็เท่ากับเป็นเงินมากถึง 80,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าหากส่วนนี้หายไปทั้งหมดก็จะคิดเป็น 1 ใน 4 ของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในปี 2017 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะหากตลาดหุ้นยังคงตกต่อเนื่องต่อไป

อันตรายอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทธุรกิจเกิดกังวลว่า คนอเมริกันอาจบริโภคลดลงในอนาคต แล้วลดการจ้างงานหรือชะลอการขยายธุรกิจ และหากนักลงทุนเกิดกังวล ไม่ยอมลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆก็อาจส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนของธุรกิจเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นเพราะถูกบังคับให้ต้องกู้ยืมโดยตรงแทนการระดมทุนผ่านตลาด

แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ปรากฏการณ์เวลท์ เอฟเฟ็กต์จะเกิดขึ้นได้ ตลาดหุ้นต้องตกต่อเนื่องลงไปต่ำกว่านี้ไม่มากก็น้อย แต่แนวโน้มความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ทำให้จำเป็นต้องจับตามองภาวะตลาดหุ้นอเมริกันยามนี้กันมากเป็นพิเศษจริง ๆ