แผนขยายอายุเกษียณของฝรั่งเศส อาจล่มอีกครั้ง เมื่อประชาชนประท้วงทั่วประเทศ

ฝรั่งเศสประท้วงขยายอายุเกษียณ
REUTERS/ Benoit Tessier

แผนปฏิรูประบบเงินบำนาญของฝรั่งเศสที่จะขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี เพื่อปกป้องระบบเงินบำนาญไม่ให้ล้มละลายจะสำเร็จหรือไม่ เมื่อประชาชนกว่าล้านคนหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ 

การปฏิรูประบบบำนาญของประเทศฝรั่งเศสกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอแผนปฏิรูป แล้วประชาชนไม่ต่ำกว่าล้านคนนัดหยุดงานออกมาประท้วงทั่วประเทศ  

วันที่ 19 มกราคม 2566 ตามเวลายุโรป สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์ประชาชนในประเทศฝรั่งเศสหยุดงานประท้วงต่อต้านแผนการปฏิรูประบบบำนาญที่จะขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี โดยการประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ

คนขับรถไฟ พนักงานภาครัฐ และพนักงานโรงกลั่นน้ำมัน เป็นส่วนหนึ่งของมวลมหาชนที่หยุดงานออกไปเดินถนน ทำให้การขนส่งสาธารณะหยุดชะงักอย่างรุนแรง และโรงเรียนหลายแห่งถูกปิด เส้นทางรถไฟบางสายมีการให้บริการเพียง 1 ใน 10 ของสถานการณ์ปกติ ขณะที่สหภาพการศึกษาระดับมัธยมศึกษาระบุว่า มีครูหยุดงานประท้วง 65% ของทั้งหมด มากกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการบอกว่ามีครูหยุดงานประท้วง 35% 

ตามข้อมูลของทางการระบุว่า มีผู้ออกมาประท้วงในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมจำนวนกว่า 1 ล้านคน เฉพาะในกรุงปารีสมีผู้ประท้วงราว 80,000 คน แต่ฟิลิปเป้ มาร์ติเนซ (Philippe Martinez) หัวหน้าสหภาพแรงงาน CGT ระบุว่ามีมากถึง 2 ล้านคน โดยมีประชาชนมากถึง 400,000 คน เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงใหญ่ในกรุงปารีส 

ฝรั่งเศสประท้วงขยายอายุเกษียณ
REUTERS/ Bart Biesemans

สำหรับแผนปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ หรือระบบเกษียณอายุ ที่นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น (Elisabeth Borne) เสนอเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 นั้น มีหลักการสำคัญคือ เพื่อเพิ่มความสมดุลของงบประมาณ และเพิ่มความเท่าเทียมในการเกษียณอายุสำหรับทุกสายอาชีพ

สาระสำคัญของแผนปฏิรูประบบบำนาญฉบับใหม่คือ 

1.ขยายอายุเกษียณ จาก 62 ปี เป็น 64 ปี ให้มีผลกับทุกสายอาชีพ ยกเว้นสำหรับบางสถานะและบางอาชีพ เช่น ผู้พิการ เกษียณได้ที่อายุ 55 ปี 

2.ปรับเพิ่มเงินบำนาญเกษียณอายุขั้นต่ำสำหรับผู้ทำงานครบ 43 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2023 เป็นต้นไป ให้ได้รับเงินบำนาญ 1,200 ยูโรก่อนหักภาษี ซึ่งเท่ากับ 85% ของเงินเดือนขั้นต่ำในปัจจุบัน แต่การปรับเพิ่มเงินมาพร้อมกับการปรับเพิ่มระยะเวลาการทำงานที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน จากเดิม 42 ปี เพิ่มเป็น 43 ปี 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเสนอร่างนโยบายปฏิรูปต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 มกราคมที่จะถึงนี้ หากการปฏิรูประบบเกษียณผ่านลุล่วงไปตามแผน จะช่วยให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีงบประมาณเพิ่มขึ้น 17,700 ล้านยูโรในปี 2030 

สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานว่า รัฐบาลชื่นชมว่าแผนปฏิรูปนี้เป็นมาตรการสำคัญในการปกป้องระบบบำเหน็จบำนาญของฝรั่งเศส (ไม่ให้ล้มละลาย) แต่การปฏิรูปที่รัฐบาลว่าดีนั้นไม่ถูกใจประชาชน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศแผนปฏิรูปออกมาก็เกิดกระแสต่อต้านเป็นอย่างมาก มีตัวเลขจากการสำรวจความคิดเห็นโดย IFOP ในสัปดาห์นี้ว่า ประชาชนสัดส่วน 68% ตอบว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปดังกล่าว 

สหภาพแรงงานทั้งหมดในประเทศ รวมถึงสหภาพแรงงานกลุ่ม “นักปฏิรูป” (reformist) ที่รัฐบาลหวังว่าจะสนับสนุนรัฐบาล ได้ออกมาประณามมาตรการนี้ เช่นเดียวกับฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจัด

นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น ยกหลักการ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างคนต่างเจเนอเรชั่น” มาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจให้คนทำงานนานขึ้น 

ภายใต้ระบบปัจจุบันของฝรั่งเศส มีคนจำนวนน้อยมากที่มีแผนการเงินบำนาญส่วนบุคคล หรือมีการลงทุนเพื่อชีวิตหลังเกษียณ เพราะคนทำงานทุกคนรู้ว่าจะได้รับเงินจากกองทุนส่วนกลางเมื่อเกษียณอายุ 

แต่รัฐบาลฝรั่งเศสบอกว่า ระบบบำนาญของประเทศกำลังเข้าสู่หายนะ เนื่องจากอัตราส่วนระหว่างคนทำงานและคนวัยเกษียณลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีอัตราส่วนคนทำงาน 4 คนต่อผู้เกษียณอายุ 1 คน แต่อัตราส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง คนทำงาน 1.7 คนต่อผู้เกษียณ 1 คน และจะลดลงอีกในปีต่อ ๆ ไป 

ทั้งนี้ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเกือบทั้งหมดได้เพิ่มอายุเกษียณอย่างเป็นทางการไปก่อนแล้ว เช่น อิตาลีและเยอรมนี กำหนดอายุเกษียณ 67 ปี สเปน 65 ปี ส่วนในสหราชอาณาจักรปัจจุบันกำหนดที่ 66 ปี

ฝรั่งเศสประท้วงขยายอายุเกษียณ
REUTERS/ Benoit Tessier

ประธานาธิบดีมาครงเคยพยายามจะปฏิรูปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2019 แต่ต้องล้มเลิกไปเมื่อโควิด-19 ระบาด และแผนปฏิรูปครั้งที่สองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์การเลือกตั้งของเขาเมื่อปีที่แล้ว 

สำหรับครั้งนี้ เนื่องจากพรรคของเขาไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภา ประธานาธิบดีมาครงจึงถูกบีบให้ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อย่างน้อย 60 คนจากพรรคการเมืองขั้วอนุรักษนิยม แม้ว่าโดยหลักการแล้วพรรคอนุรักษนิยมจะสนับสนุนการปฏิรูประบบเงินบำนาญ แต่ ส.ส.บางคนก็เตือนว่าพวกเขาอาจจะออกเสียงคัดค้านได้ 

ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่ากระบวนการรัฐสภาจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ ประธานาธิบดีมาครงจึงต้องเผชิญกับการเดินขบวนประท้วงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับรัฐบาลคือ การหยุดงานประท้วงในภาคขนส่ง โรงพยาบาล และคลังเชื้อเพลิง ที่จะส่งผลให้ประเทศหยุดชะงัก 

หาก ส.ส.ฝ่ายค้านบีบให้ต้องถอย ก็อาจเป็นการสิ้นสุดการปฏิรูประบบนี้ในสมัยของเอมานูเอล มาครง ที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองแล้ว 

ด้านฝ่ายค้านโต้แย้งว่า ในขณะนี้ระบบบำนาญยังไม่ได้ขาดดุลในทางเทคนิค ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูป และยังมีทางเลือกอื่นที่จะทำให้ผู้คนทำงานนานขึ้นอย่างประหยัดต้นทุน (ไม่ต้องเพิ่มเงิน) เช่น การตัดลดเงินบำนาญลง 

ทั้งนี้ ผลกระทบที่รุนแรงของการปฏิรูปจะตกเป็นภาระของคนที่จนที่สุดในสังคม คนเหล่านั้นมักจะเริ่มงานตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้น โดยปกติแล้วพวกเขาจะมีสิทธิรับเงินบำนาญเต็มจำนวนภายในอายุ 62 ปี แต่ตอนนี้พวกเขาจะต้องทำงานเพิ่มอีก 2 ปี โดยไม่มีสวัสดิการเพิ่มเติม   

ความพยายามครั้งนี้เป็นความพยายามปฏิรูประบบเงินบำนาญครั้งที่ 7 ของฝรั่งเศส นับจากที่ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ (François Mitterrand) ปรับลดอายุเกษียณลงเหลือ 60 ปี เมื่อปี 1982 

หลังจากนั้น ความพยายามครั้งต่อ ๆ มา ที่พยายามจะเปลี่ยนอายุเกษียณให้มากขึ้นนั้น นำไปสู่การต่อต้านจากมวลชนบนท้องถนนทุกครั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่การปฏิรูปจะสำเร็จลุล่วงในที่สุด อย่างเช่น ในปี 2010 ประธานาธิบดี นิโคลาส์ ซาร์โคซี (Nicolas Sarkozy) เพิ่มอายุเกษียณเป็น 62 ปี ก็ผ่านมาได้ แม้ว่าจะมีการประท้วงอยู่หลายสัปดาห์ก็ตาม

 

อ้างอิง :

……………………….

อ่านข่าวอื่น ๆ เกี่ยวกับฝรั่งเศส