Tesla ขอให้ซัพพลายเออร์ผลิตนอกจีน-ไต้หวัน อาเซียนรับอานิสงส์

รถยนต์เทสลาออกจากโรงงานในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
รถยนต์เทสลาออกจากโรงงานในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน/แฟ้มภาพ (ภาพโดย Aly Song/REUTERS)

เทสลา (Tesla) ขอให้ซัพพลายเออร์เริ่มการผลิตนอกจีนและไต้หวัน เลี่ยงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทรถยนต์จากสหรัฐรายอื่นก็ขอเช่นกัน อาเซียน-เม็กซิโกรับอานิสงส์ แต่ซัพพลายเออร์บางส่วนบอกทำยากและต้นทุนสูง  

วันที่ 23 พฤษภาคม 2024 นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า เทสลา (Tesla) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐได้ขอให้บรรดาซัพพลายเออร์ทั้งที่เป็นบริษัทไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เริ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เทสลานอกจีนและไต้หวันอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยหวังว่าจะเป็นไปได้ในต้นปีหน้า เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น

นิกเคอิอ้างคำบอกเล่าของแหล่งข่าวซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของเทสลาจำนวน 6 คนว่า ซัพพลายเออร์ของเทสลาที่ผลิตส่วนประกอบ เช่น แผงวงจรพิมพ์ (PCB) จอแสดงผล และระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ใน “รถยนต์เทสลารุ่นที่จำหน่ายนอกประเทศจีน” ล้วนได้รับการร้องขอจากเทสลาให้ย้ายฐานการผลิต 

แหล่งข่าวของนิกเคอิกล่าวว่า ข้อเรียกร้องขอเทสลากล่าวอ้างถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ใน “ภูมิภาคจีนแผ่นดินใหญ่” (Greater China Region-จีน ไต้หวัน และฮ่องกง) ที่กำลังเพิ่มขึ้น ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเสริมว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแหล่งซัพพลายทางเลือกสำหรับตลาดนอกประเทศจีน เพื่อป้องกันปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน 

“เราได้รับคำขอเทสลาว่าพวกเขาหวังว่าจะมีชิ้นส่วนที่เป็นทั้ง OOC และ OOT ซึ่งหมายถึงผลิตนอกจีนและผลิตนอกไต้หวัน” แหล่งข่าวจากบริษัทซัพพลายเออร์ของเทสลาในไต้หวันกล่าว และแหล่งข่าวคนอื่น ๆ บอกว่าเทสลาหวังว่าคำร้องขอดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงเริ่มจากโครงการใหม่ ๆ ในปีหน้า

Advertisment

ผู้บริหารจากผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นรายหนึ่งบอกว่า บริษัทของเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มซัพพลายเออร์ที่เทสลาพูดคุยเรื่องนี้ด้วย 

ผู้บริหารจากบริษัทซัพพลายเออร์อีกรายซึ่งผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์หลายแบรนด์กล่าวว่า บริษัทของเขากำลังเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทย เนื่องจากการร้องขอของลูกค้าทั้งเทสลาและรายอื่น ๆ ให้ใช้กลยุทธ์ China+1 (ผลิตในจีนและประเทศอื่นอีก) รวมถึงให้หลีกเลี่ยงไต้หวันด้วย

นอกจากนั้น แหล่งข่าวของนิกเคอิกล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์จากอเมริการายอื่น ๆ เช่น เจเนอรัล มอเตอร์ส (GM) และฟอร์ด (Fords) ก็ได้ขอให้ซัพพลายเออร์ศึกษาการเคลื่อนย้ายการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกนอกจีนและไต้หวัน แต่ต่างจากเทสลาตรงที่ไม่ได้ร้องขออย่างเป็นทางการ

“เราให้บริการแก่ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาหลายราย และเทสลาเป็นกลุ่มที่ Aggressive ที่สุดในแง่ของการพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงรอบ ๆ จีนและไต้หวัน” ผู้บริหารซัพพลายเออร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กล่าว และบอกด้วยว่า การย้ายการผลิตออกนอกจีนและไต้หวันเป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากทั้งจีนและไต้หวันเป็นที่ที่ห่วงโซ่อุปทานเติบโตเต็มที่

Advertisment

จิ๋ว ชือฟาง (Chiu Shih-fang) นักวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งไต้หวัน (Taiwan Institute of Economic Research) กล่าวกับนิกเคอิเอเชียว่า เริ่มชัดเจนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นสมรภูมิใหม่ล่าสุดของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน 

เธอมองว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เทสลาซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแบรนด์ บีวายดี (BYD) ของจีนจะขอให้ซัพพลายเออร์ย้ายการผลิตออกจากจีน เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ 

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนจำนวนมากเร่งการลงทุนใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก” นักวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีกล่าว

อย่างไรก็ตาม นิกเคอิรายงานว่า คำขอของเทสลาเกิดขึ้นก่อนที่สหรัฐจะประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม และก่อนที่ ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งต้านหลักการจีนเดียวจะสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา