สัมพันธ์ “ซาอุฯ-กาตาร์” ระส่ำ เริ่ม “ซัลวาโปรเจ็กต์” แยกพรมแดน

REUTERS/Faisal Al Nasser - /File Photo

ความสัมพันธ์ของ “ซาอุดีอาระเบีย” กับ “กาตาร์” ทรุดหนักอีกครั้ง หลังจากซาอุฯยืนยันเดินหน้า “โครงการขุดคลองซัลวา” ที่จะทำให้เขตพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศแยกออกจากกัน ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าภูมิศาสตร์กาตาร์ ให้กลายเป็นประเทศเกาะโดยปริยาย

เหตุความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลางยังรุนแรง หลังจาก ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อียิปต์ และบาห์เรน 4 ชาติอาหรับประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ พร้อมปิดพรมแดนทั้งทางบกทางอากาศ และทางเรือ เมื่อ 5 มิถุนายน 2017 โดยกล่าวหาว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย IS และเป็นพันธมิตรกับ “อิหร่าน” ซึ่งเป็นคู่อริที่สำคัญของซาอุฯมานาน

ขณะที่ “คูเวตและสหรัฐอเมริกา” ที่ออกตัวจะช่วยเป็นกาวใจไกล่เกลี่ยปัญหาในโลกตะวันออกกลาง แต่ผ่านไปปีกว่า ๆ ยังไม่มีวี่แววว่าปัญหาจะคลี่คลาย สำนักข่าวชาติอาหรับรายงานตรงกันว่า รัฐบาลริยาดกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาที่จุดผ่านแดนซัลวา (Salwa) ซึ่งอยู่ติดกับกาตาร์ เพื่อเริ่มโครงการขุดคลองจะส่งผลทำให้ซาอุฯ ไม่มีพรมแดนทางบกติดกับกาตาร์อีกต่อไป และจะเปลี่ยนกาตาร์ให้เป็นประเทศเกาะกลางทะเลแทน

รายงานข่าวอ้างคำกล่าว นายซาอูดอัล-กอห์ทานี ที่ปรึกษาอาวุโสของ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุฯ ผ่านทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของซาอุฯ ผมรอคอยที่จะทราบรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการขุดคลองซัลวา เพราะถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่จะสามารถเปลี่ยนภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งกระบวนการได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว”

นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางมองว่า โครงการขุดคลองซัลวาถือเป็นหนึ่งวิธีการแซงก์ชั่นความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลโดฮาแบบ 100% หมายความว่า การสมานรอยร้าวจากความสัมพันธ์ที่แตกหักและยืดเยื้อมานาน 14 เดือน คงเป็นไปได้ยากมากที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ทั้งนี้ อาหรับนิวส์ เปิดเผยรายละเอียดในเบื้องต้นว่า ความยาวของโครงการขุดคลองซัลวาของรัฐบาลซาอุฯ จะอยู่ที่ 60 กิโลเมตร และกว้าง 200 เมตร กั้นตลอดแนวชายแดนที่ติดกับกาตาร์ และคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนราว 2,800 ล้านริยาล หรือ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมระบุว่า คำกล่าวของที่ปรึกษาอาวุโสของเจ้าชายซาอุฯ นับเป็นคำยืนยันจากฝั่งรัฐบาลที่ชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีรายงานว่า ซาอุฯกำลังพิจารณาแผนการแยกดินแดนกับกาตาร์เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า โครงการขุดคลองดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มบริษัทเอกชนของซาอุฯ กับ UAE ซึ่งรัฐบาลซาอุฯได้เชิญบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการขุดคลอง 5 บริษัท เข้าร่วมประมูลโครงการภายใน ก.ย.นี้ และคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลช่วงปลายเดือนเดียวกัน ทั้งนี้มีรายงานว่า กลุ่มบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลมาจากอียิปต์ เพราะมีประสบการณ์จากการขุดคลองสุเอซ หนึ่งในโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ที่สุดของอียิปต์

นอกจากนี้ สำนักข่าว Al Arabiya ของซาอุดีอาระเบีย รายงานว่า ตามแผนการของรัฐบาลซาอุฯ พื้นที่ส่วนหนึ่งของคลองซัลวาจะถูกสงวนไว้สร้างโรงกำจัดกากของเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และมีแผนจะจัดตั้งฐานทัพทหารเพื่อดูแลบริเวณพื้นที่พรมแดนของประเทศหลังจากที่ดินแดนถูกแยกออกไปแล้ว นอกจากนี้ พื้นที่บางส่วนจะถูกพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของซาอุฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่น้ำมันโลกซบเซาด้วย

หนึ่งในนักวิเคราะห์การเมืองโลกอาหรับจากไฟแนนซ์เชียล ไทมส์ ระบุว่า แผนการแบ่งพรมแดนระหว่างซาอุฯกับกาตาร์ อาจกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ของกาตาร์ให้เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดฮายืนยันว่า 1 ปีหลังจากที่ถูกคว่ำบาตรจากเพื่อนบ้านไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้คู่ค้าใหม่ ๆ ที่ไกลออกไป เช่น บราซิล ออสเตรเลีย ตุรกี อิหร่าน โอมาน และอินเดีย

อย่างไรก็ตาม หากดูจากสำนักสถิติของกาตาร์พบว่า ในปี 2017 การนำเข้าของกาตาร์ลดลงถึง 40% ผลพวงจากการถูกคว่ำบาตรจากประเทศรอบข้าง เพราะปกติการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการผ่านแดนจากซาอุฯเกือบ 50% ดังนั้นหากในอนาคตแผนการเปลี่ยนภูมิศาสตร์ของซาอุฯประสบความสำเร็จ มีความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าในกาตาร์จะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ในปี 2022 เนื่องจากจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้นตาม

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก โดย นายซาลี บิน ฮาเหม็ด อัล ชาร์กี ประธานหอการค้ากาตาร์ แสดงความกังวลว่าราคาตั๋วเครื่องบินสำหรับผู้ที่จะเดินทางมาชมฟุตบอลโลกอาจแพงขึ้น เนื่องจากเส้นทางบินถูกปรับเปลี่ยนให้ไกลขึ้น เพราะการคว่ำบาตรทางอากาศยังมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ สัปดาห์ก่อนรัฐบาลกาตาร์ประกาศเตรียมเจรจาการค้าการลงทุนกับ “อิหร่านและโอมาน” เพื่อเปิดเส้นทางการขนส่งร่วมกัน รวมถึงปรับปรุงท่าเรือบางแห่งที่ถูกระงับการใช้งานไปเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าสู่การเป็นเจ้าภาพครั้งใหญ่ในอีก 4 ปีข้างหน้า