จับตาเลือกตั้ง “เยอรมนี” สะเทือนสัมพันธ์ “อียู”

24 กันยายนนี้ จะเป็นวันหย่อนบัตรเลือกตั้งของ “เยอรมนี” ซึ่งผลเลือกตั้งอาจเป็นตัวกำหนดทิศทางของสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากเยอรมนีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของอียูและถูกมองว่ามีอิทธิพลสูงต่ออียู ซึ่งตามผลโพลล่าสุดเชื่อว่า “นางอังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะยังคงสามารถรักษาตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 ได้ แต่ทว่าพรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (ซีดียู) และพรรคในเครือคือคริสเตียน โซเชียลยูเนียน (ซีเอสยู) ของนางแมร์เคิล จะไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ และคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาอีกพรรคมาร่วมรัฐบาล

ตามผลโพลระบุว่า พรรคซีดียู+ซีเอสยู จะได้คะแนนรวมกัน 38% พรรคโซเชียล เดโมเครติก (เอสพีดี) ประมาณ 24% พรรคฟรีเดโมเครติก (เอฟดีพี) ประมาณ 8% พรรคกรีนส์ 8% พรรคซ้าย 9% และพรรคทางเลือกเยอรมนี (เอเอฟดี) 9% ด้วยเหตุนั้นความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะมีอยู่ 2 สูตร คือ 1.พรรคซีดียู/ซีเอสยู+เอฟดีพี+กรีน และ 2.พรรคซีดียู/ซีเอสยู+พรรคเอสพีดี

ปัจจุบันรัฐบาลของนางแมร์เคิล มีพรรคเอสพีดีเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาล แต่ด้วยเหตุที่เอสพีดีมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ นายมาร์ติน ชุลซ์ อดีตประธานรัฐสภายุโรป ซึ่งเอียงซ้ายและอุดมการณ์ของพรรคอยู่ตรงข้ามกับประเด็นปัญหาหลักของอียู จะทำให้จุดยืนต่อเนื่องเยอรมนีที่มีต่ออียูอาจดูขัดแย้งกัน

ดังนั้นหนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ พรรคของนางแมร์เคิลจับมือกับพรรคเอฟดีพีและกรีนส์ ซึ่งถูกขนานนามว่าสูตรรัฐบาล “หลากสี” ซึ่งตามสูตรนี้จะช่วยให้จุดยืนของพรรคกรีนส์ ซึ่งเอียงซ้ายผสมกันได้ดีกับจุดยืนของ พรรคเอฟดีพี ซึ่งมีนโยบายเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ ทั้งนี้ตามประวัติศาสตร์แล้วส่วนผสมรัฐบาลแบบนี้เกือบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อพิจารณาจากจุดยืนด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน แต่จากที่เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐสภาได้โหวตให้การแต่งงานกับคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมายก็ได้ขจัดอุปสรรคใหญ่ในประเด็นนี้ออกไป

อย่างไรก็ตามสูตรนี้อาจบังคับให้นางแมร์เคิลต้องอ่อนข้อลง เพราะในอดีตพรรคเอฟดีพีเคยร่วมรัฐบาลกับนางแมร์เคิลและมีอิทธิพลแค่เล็กน้อยต่อนโยบายของยุโรปและกลับถูกครอบงำโดยพรรคของนางแมร์เคิล ดังนั้นหากจะเข้าร่วมรัฐบาลในปีนี้เอฟดีพีอาจเรียกร้องตำแหน่งที่จะทำให้พรรคมีอิทธิพลมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้พรรคล้มเหลวในการผลักดันนโยบายผ่อนปรนภาษี

Advertisment

นอกจากนี้การนำพรรคเอฟดีพีมาร่วมรัฐบาลจะเสนอโอกาสให้ดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจและส่งเสริมการเติบโต รวมทั้งการผ่อนปรนภาษีครั้งใหญ่ แต่พร้อมกันนั้นรัฐบาลผสมสูตรนี้จะไม่เต็มใจในการเดินหน้าเพื่อผนึกยุโรปให้ใกล้ชิดไปมากกว่าที่เป็นอยู่

“เดวิด เลีย” นักวิเคราะห์ยุโรปตะวันตก ชี้ว่า หากเป็นกรณีที่พรรคของนางแมร์เคิล เป็นพันธมิตรกับพรรคเอสดีพีเช่นเดิม จะทำให้เกิดความต่อเนื่องของรัฐบาล แต่ทว่าก็จะมีจุดยืนที่แตกต่างกันมากเช่นกัน เพราะหัวหน้าพรรคคนใหม่คือนายชุลซ์ของเอสพีดีจะเรียกร้องให้พรรคตัวเองมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลสะท้อนกลับต่ออียูค่อนข้างมาก เพราะนอกจากนายชุลซ์จะสนับสนุนการเพิ่มสวัสดิการและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเยอรมนีแล้ว ยังผลักดันให้ยุโรปรวมตัวกันลึกกว่าเดิม ได้แก่การมีสหภาพการเงินและเศรษฐกิจร่วม รัฐมนตรีคลังยุโรปร่วม

“ถ้าเป็นแบบนี้ก็หมายความว่าเยอรมนีสละการเป็นหัวหน้าหรือผู้ปกครองของอียูโดยพฤตินัย ทั้งนี้ชุลซ์อาจต้องการลดบทบาทของเยอรมนีที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำของอียู ผลก็คือจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกอียูแน่นแฟ้นขึ้นเพราะประเทศสมาชิกมีฐานะเท่าเทียมกัน” เดวิด เลีย กล่าว

เดวิด เลีย เห็นว่า แนวทางของชุลซ์อาจทำให้เยอรมนีลดความเข้มงวดเคร่งครัดด้านนโยบายเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมาความเข้มงวดของเยอรมนีทำให้เกิดการหมางเมินและบาดหมางกับชาติยุโรปใต้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก

Advertisment