ค่ายรถแห่ปรับตัวอุตลุด จัดทัพสู่รถ EV – ขับขี่อัตโนมัติ

อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเดินหน้าสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า” (electric vehicle) และ “รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์หลายแห่งต้องปรับตัว ยกเครื่องเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์

อย่างล่าสุดที่เป็นกระแสครึกโครม “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” หรือ “GM” ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของแบรนด์รถยนต์มากมาย เช่น คาดิลแลค, เชฟโรเลต เป็นต้น ที่ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยแผนปิดโรงงาน 8 แห่ง ในอเมริกาเหนือ 5 แห่ง และนอกอเมริกาเหนือ 3 แห่ง ที่รวมถึงในแคนาดา และเกาหลีใต้ พร้อมแผนปรับลดพนักงานถึง 14,000 คน คิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด

“แมรี่ บาร์รา” ซีอีโอของ GM กล่าวว่า การปรับโครงสร้างบริษัทในตอนนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เรายังแข็งแรง และเศรษฐกิจสหรัฐก็แข็งแกร่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เราต้องการทำให้แน่ใจว่าจะยังอยู่ในตำแหน่งที่ดี ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด

โดยการปรับโครงสร้างของบริษัทก็เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และโครงข่ายบริการแชร์รถในอนาคต แมรี่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้ซื้อในอเมริกาเปลี่ยนไป จากความนิยมซื้อรถคันเล็กไปสู่การซื้อรถคันใหญ่กว่า เช่น รถอเนกประสงค์ (SUV) และรถปิกอัพ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของยอดขายรถในสหรัฐ ดังนั้นในปี 2019 GM จึงมีแผนเพิ่มสายการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

บลูมเบิร์กรายงานว่า ในขณะที่ GM มีแผนการปรับลดพนักงานจำนวนมากในปีหน้า ขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้มีการจ้างงานเพิ่มกลุ่มนักออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า และวิศวกรซอฟต์แวร์จำนวนมาก เพื่อเข้ามาทำงานกับ “GM Cruise” หน่วยธุรกิจที่รับผิดชอบเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ โดยปีที่ผ่านมามีการจ้างงานในกลุ่มนี้กว่า 1,000 ตำแหน่ง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “โตโยต้า” ได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างเช่นเดียวกัน โดยรายงานของ “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ระบุว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมจะยกเครื่องโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ในเดือน ม.ค.ปีหน้า โดยการปรับลดตำแหน่งบริหารระดับสูงของบริษัทลงมากกว่า 50% จากทั้งหมด 55 ตำแหน่ง ให้เหลือ 22 ตำแหน่ง

จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการให้เหลือพื้นที่ตำแหน่งงานสำหรับพนักงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะปรับทิศทางของบริษัทให้มุ่งสู่อุตสาหกรรมรถยนต์แห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

รายงานข่าวระบุว่า โตโยต้าจะรับตำแหน่งเพิ่มกว่า 2,000 อัตรา ส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนงานวิจัยและพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนรูปแบบใหม่

สำหรับ “โฟล์คสวาเกน” ที่ออกตัวแรงตั้งแต่ต้นปี ด้วยการอนุมัติงบประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ลงทุนพัฒนารถไฟฟ้า และรถยนต์ระบบขับขี่อัตโนมัติ โดย “เฮอร์เบิร์ต ไดซ์” ซีอีโอของโฟล์คสวาเกน กล่าวว่าเป้าหมายใหญ่ที่สุดของเราก็เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้เล่นเบอร์หนึ่งของวงการรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 โดยมีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่มีระสิทธิภาพมากขึ้นในปี 2019

จากปัจจุบันที่มีโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วที่เมืองสวิคเคา ประเทศเยอรมนี และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเชื่อว่าภายในปี 2020 รถยนต์ไฟฟ้าของโฟล์คสวาเกนจะสามารถแข่งขันกับรถของเทสลาได้ ที่สำคัญ จะมีราคาถูกกว่า 50%

ส่วน “เมอร์เซเดส-เบนซ์” รถหรูสัญชาติเยอรมันจากบริษัทเดมเลอร์ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ว่า เตรียมผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น “Mercedes-Benz EQC” ในสายการผลิตที่ประเทศจีน ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยนายฮัมเบอร์ทัส ทรอสคา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดจีน กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าชาวจีนนิยมซื้อรถระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งยอดขายของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ในจีนจะยังเติบโตต่อเนื่อง บวกกับความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งที่สนับสนุนรถยนต์ปลอดมลพิษอย่างเต็มที่ ทั้งมีแผนเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อป้อนตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!