แนวรบ “เทรดวอร์” ยังไม่เปลี่ยนแค่พัก 90 วัน

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“เวิร์กกิ้งดินเนอร์” ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ สี จิ้นผิง ผู้นำสหรัฐอเมริกาและจีนในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่มจี 20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ถูกจับตามองจากทั้งโลกก็ว่าได้ เนื่องจากหัวข้อสำคัญในการหารือระหว่างกันนั้น หนีไม่พ้นความพยายามที่จะคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าที่คุกคามต่อสภาวะเศรษฐกิจของโลกตลอดเกือบทั้งปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

แต่เท่าที่ผู้นำทั้งสอง “ตกลงกันได้” ในระหว่างการเจรจาทวิภาคีดังกล่าวนั้น เป็นเพียงการ “ระงับ” ไม่ให้สงครามการค้าที่ตอบโต้เข้าใส่กันอยู่ในเวลานี้นั้นลุกลามขยายวงต่อไป และเปิดช่วงเวลาให้เจรจากันนาน 90 วัน เหมือนกับการยุติกิจกรรมในแนวรบ แล้วเปิดฉากเจรจากันระหว่างคู่สงคราม 2 ฝ่ายเท่านั้นเอง

ความตกลงของผู้นำทั้งสองเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก เหตุผลหนึ่งก็คือ เพราะต่างฝ่ายต่างสามารถอ้างได้ว่า “ได้ชัยชนะ” กันคนละอย่างสองอย่าง แต่ปัญหาที่สำคัญ ๆ ทั้งหลายกลับไม่มีการแตะต้องแต่อย่างใด

ในแง่ของจีน การที่สามารถยับยั้งไม่ให้สหรัฐอเมริกาปรับภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าของจีนรวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยตั้งกำแพงภาษีไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ให้เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ในตอนต้นปีหน้าได้นั้น ถือเป็นชัยชนะสำคัญอย่างหนึ่งยามที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วในเวลานี้

นอกจากนั้น สี จิ้นผิง ยังได้ช่วงเวลา 90 วันมาสำหรับการหันกลับมาใส่ใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่นานขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศกลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้งได้

ไม่ใช่ต้องใช้เวลาตั้งแต่ต้นปีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจาก “ภาวะช็อกทางการค้า” ในทันทีที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ทรัมป์เองก็ไม่ได้อ่อนข้อ ประนีประนอมอะไรมากมายอย่างใด ในขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสได้ระบายสินค้าเกษตรกรรมบางส่วน โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่เหลืออยู่บานเบอะจากสงครามการค้าที่ผ่านมา และจากฤดูเก็บเกี่ยวใหม่, สินค้าอุตสาหกรรมและพลังงานให้กับจีนที่รับปากว่าจะนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้นเพื่อลดการได้เปรียบดุลการค้าในช่วงที่การเจรจาดำเนินไปได้อีกด้วย ตามข้อตกลงบนโต๊ะอาหารที่ไม่มีทั้งรายละเอียดและไม่มีทั้งการลงนามครั้งนี้

แบรด เซทเซอร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานี้ผันตัวมาเป็นนักวิชาการประจำ สภาวิเทศสัมพันธ์ (ซีเอฟอาร์) ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า ส่วนที่ยากที่สุดของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา อาทิ การบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี, การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และการฉกข้อมูลทางไซเบอร์ ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาซึ่งกันและกันในช่วง 90 วันเท่านั้น

พ้น 90 วันไปหากทุกอย่างยังเหมือนเดิม สหรัฐอเมริกาก็จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ทันที

นี่ต่างหากที่จะเป็นความตกลงจริง ๆ

ในความเห็นของเซทเซอร์ ไม่ใช่การตกลง “หยุดยิงชั่วคราว” ครั้งนี้ โจว เซี่ยวหมิง อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์และนักการทูตจีน มองความตกลงที่เกิดขึ้นไปในลักษณะคล้ายคลึงกัน การตกลงบนโต๊ะดินเนอร์ครั้งนี้น่ายินดีตรงที่สงครามการค้าไม่ลุกลามขยายวงต่อไป ในเวลาเดียวกันก็ไม่ใช่เหตุอันควรแก่การฉลอง เพราะยังไงกำแพงภาษีระลอกใหม่ก็ยังเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจจีนอยู่ดีเหมือนเดิม

ในแง่ของประเทศอื่น ๆ ทั้งโลกนั้น ก็แค่ได้ผ่อนคลายความกระวนกระวายลงเล็กน้อย “ชั่วคราว” ที่ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของโลก และต่อตลาดเงินตลาดทุนเท่านั้นเอง

เดวิด เลิฟวิงเกอร์ อดีตผู้เชี่ยวชาญจีนของกระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งตอนนี้เป็นนักวิเคราะห์อยู่ที่บริษัทจัดการกองทุนทีซีดับเบิลยู กรุ๊ปในลอสแองเจลิส บอกว่า สิ่งที่จีนและสหรัฐอเมริกาตกลงกันนั้นนอกเหนือจากความเป็นจริงที่ว่า ในเดือนมกราคมนี้จีนสามารถเลี่ยงภาษีนำเข้า 25 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนที่เหลือยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นั่นคือ ยังคงมองไม่เห็นวี่แววใด ๆ ว่า ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนท่าทีของตนในช่วง 90 วันข้างหน้าได้อย่างไร

แต่ถ้าจะให้คาดเดา เลิฟวิงเกอร์ เชื่อว่า คนที่จะโอนอ่อนผ่อนปรนอีกครั้งเมื่อถึงเดือนมีนาคมจะเป็นสหรัฐอเมริกาไม่ใช่จีน

 

อ่าน “เอเชีย” กับผลกระทบ จาก “สงครามการค้า”