ประท้วงเดือดใน “ปารีส” “ม็อบน้ำมัน” ฉุดความนิยม “มาครง”

REUTERS/Stephane Mahe

ยืดเยื้อมากว่า 3 สัปดาห์กับ “ม็อบเสื้อเหลือง” ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส กับชนวนเหตุสำคัญมาจากความไม่พอใจที่ประธานาธิบดี “มานูเอล มาครง” ประกาศปรับขึ้นภาษีน้ำมัน เพื่อรองรับนโยบายรักษ์โลก และก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่ใช้ “รถยนต์พลังงานสะอาด” 100% ในปี 2040

บลูมเบิร์ก รายงานว่า แรงโกรธแค้นจากชาวฝรั่งเศสเกิดขึ้นเพราะไม่พอใจรัฐบาลกรณีที่ราคา “น้ำมันดีเซล” ซึ่งใช้กับรถยนต์ส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นแล้ว 23% อยู่ที่ลิตรละ 1.51 ยูโร นับเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000 และในวันที่ 1 ม.ค. 2019 จะมีการปรับขึ้นภาษีน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นอีก 6.5 เซนต์ต่อลิตร และเบนซินขึ้นอีก 2.9 เซนต์ต่อลิตร

หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวว่า “ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับภาวะการว่างงานถึง 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประเทศยุโรปอื่น ๆ ขณะที่ค่าครองชีพอื่นของฝรั่งเศสก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ไม่ใช่มุ่งประเด็นที่การปรับเพิ่มราคาน้ำมัน”

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมาครงประกาศว่า รัฐบาลจะตัดงบประมาณที่สนับสนุนราคาน้ำมันในประเทศ พร้อมให้เหตุผลในการปรับเพิ่มภาษีน้ำมันเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถพลังงานสะอาดตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดห้ามขายยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินภายในปี 2040

นายนิโกลา อูโล รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยา เรียกแผนการนี้ว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” โดยฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาต่อข้อตกลงภูมิอากาศปารีส และรัฐบาลตั้งเป้าเป็นประเทศที่ปลอดคาร์บอน 100% ภายในปี 2050 แต่ปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 3.5% ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ายังต่ำมากอยู่ที่ 1.2% และอีกเกือบ 95% ยังคงเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน

นายจิม ชีดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยวอร์วิกในลอนดอน กล่าวว่า คะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีมาครง ร่วงหนักไปอยู่จุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เหลือเพียง 25% จาก 40% เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐนับหมื่นคนรวมตัวประท้วงคัดค้านนโยบายปฏิรูปแรงงานและสวัสดิการ

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงผันผวนหนัก โดยนักวิเคราะห์จากสถาบันป้องกันความเสี่ยงระหว่างประเทศในฝรั่งเศส ระบุว่า ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะมีการประชุมที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย ที่คาดกันว่าโอเปกอาจปรับลดกำลังการผลิตลง 1.0-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าสรุปได้เพราะซาอุดีอาระเบียยืนยันจะไม่ยอมลดการผลิตลงเพียงชาติเดียว อย่างน้อยต้องมี “อิรักและรัสเซีย” ร่วมลดด้วย ดังนั้น ความผันผวนของราคาน้ำมันจะยิ่งน่ากังวลขึ้นอีก

และปัญหาที่รัฐบาลฝรั่งเศสอาจนึกไม่ถึง คือ ความพยายามที่จะเป็น “ศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจ” แทนที่ “ลอนดอน” อาจสะดุดเพราะเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้งในรอบปีกว่าภายใต้การบริหารของนายมาครง สะท้อนถึงศักยภาพในการสร้างเอกภาพภายในได้