Unmanned Store เทรนด์ร้านสะดวกซื้อยุคใหม่

เทรนด์ “ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงาน” (unmanned store) กำลังอยู่ในความสนใจของยักษ์อีคอมเมิร์ซทั่วโลก
นับตั้งแต่ 3 ปีก่อนที่ “อเมซอน” เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซจากสหรัฐเป็นผู้บุกเบิกด้วยโมเดล “amazon go” และตั้งเป้าเปิดร้านค้าอัจฉริยะไร้แคชเชียร์ 3,000 แห่งทั่วอเมริกา ภายในปี 2026 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Just Walk Out” ที่ลูกค้าเพียงหยิบของที่ต้องการแล้วสามารถเดินออกจากร้านได้เลย โดยจะมีการแจ้งให้ยืนยันชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นทันทีที่เดินออกจากร้าน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเปิด “amazon go” ไปแล้วประมาณ 470 แห่งทั่วสหรัฐขณะที่ปัจจุบัน “ร้านค้าไร้พนักงาน” ในประเทศจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความพร้อมของระบบการชำระเงินออนไลน์อย่าง “วีแชตและอาลีเพย์”

“อาลีบาบา” ยักษ์อีคอมเมิร์ซของจีนเป็นรายแรก ๆ ที่เข้าร่วมตลาด “ร้านค้าไร้แคชเชียร์” โดยร่วมกับ “Tao Cafe” ในเครือเดียวกัน ทดลองเปิดร้านกาแฟไร้แคชเชียร์ในปี 2017 ในเมืองหางโจวเป็นที่แรก โดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าผู้ซื้อ โดยลูกค้าต้องสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเข้าร้าน สั่งออร์เดอร์หรือซื้อสินค้า รวมถึงสแกนเพื่อออกจากร้าน พร้อมใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยในการคิดเงินอัตโนมัติ และส่งข้อมูลเพื่อให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น

นอกจากนี้ อาลีบาบายังได้ทดลองอีก 2 โมเดล คือ “Futuremart” ร้านค้าสะดวกซื้ออัจฉริยะ 24 ชั่วโมง ซึ่งลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลาเพียงสแกนคิวอาร์โค้ด และชำระเงินอัตโนมัติเมื่อเดินออกจากร้าน และ “Hema” ซูเปอร์มาร์เก็ตอัจฉริยะ ที่ปัจจุบันลดสัดส่วนการใช้พนักงานราว 80% ด้วยการใช้วิธีการชำระเงินผ่านตู้อัตโนมัติแทน

“นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ระบุว่า โมเดลอัจฉริยะต่าง ๆ ของอาลีบาบาสร้างความกดดันให้กับคู่แข่งรายอื่นในจีน โดยในปี 2018 “เลอโนโว” ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของจีน ส่งโมเดลร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะ “Lenovo Lecoo Un-manned Store” สาขาแรกที่กรุงปักกิ่ง โดยเป็นการร่วมมือพัฒนาโมเดลมาจากร้านสะดวกซื้อสไตล์ดัตช์ “Albert Heijn To Go” ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นโมเดลร้านค้าไร้แคชเชียร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุโรป รวมทั้ง “BingoBox” บริษัท Auchan จากฝรั่งเศส ที่ร่วมกับสตาร์ตอัพจีนเปิดร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานในจีนเมื่อปี 2017 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ราว 100 สาขาทั่วประเทศ

Advertisment

ขณะที่ “เจดีดอทคอม” เป็นรายล่าสุดที่โดดร่วมโมเดล “อันแมนด์สโตร์” เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2018 โดยให้เหตุผลว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องมีหลากหลายโมเดลจึงจะสามารถครองตลาดจีนได้ โดยเจดีดอทคอมเลือกใช้แพลตฟอร์มเดียวกับวอลมาร์ต ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของบริษัท

บริษัทวิจัยธุรกิจไอทีของจีน “itjuzi” ระบุว่า ในปี 2018 ร้านค้าอัจฉริยะในจีนมีทั้งหมดราว 200 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มเป็น 300 สาขา หรือสูงสุดถึง 400 สาขา ทั้งประเมินว่า “จีน” เป็นตลาดที่ร้านค้าไร้แคชเชียร์มีแนวโน้มการเติบโตมากที่สุดในโลก เพราะความพร้อมของระบบการชำระเงินออนไลน์ โดยชาวจีนเกือบ 95% ใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม “วีแชต และอาลีเพย์”

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับอัตราการว่างงานในจีนอาจสูงขึ้น หากโมเดลธุรกิจอันแมนด์สโตร์ได้รับความนิยมมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของเจดีดอทคอม กล่าวไว้ว่า “ด้วยระบบการศึกษาของจีนที่สามารถพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ ตำแหน่งงานทักษะต่ำต่าง ๆ จึงสามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี”

อย่างไรก็ตาม นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า โมเดลธุรกิจอันแมนด์สโตร์ในญี่ปุ่น น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากกว่าจีน เพราะประชาชนสูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ได้มีการทดลองเปิดให้บริการร้านค้าไร้คนขายเช่นกัน ส่วน “ลอว์สัน” ประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่าจะเริ่มโมเดลดังกล่าวในช่วงเวลา “กลางคืน” ก่อนจะปรับเป็น 24 ชั่วโมง “แคชเชียร์” จึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีการคาดหมายว่าจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในอนาคตน่าจะมีอีกหลายอาชีพที่กำลังตกที่นั่งลำบากให้กับนวัตกรรมเหล่านี้

Advertisment