IMF เตือนเศรษฐกิจยุโรป เสี่ยง “ฟองสบู่อสังหาฯแตก”

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจทวีปยุโรปประจำปี 2019 ส่งสัญญาณเตือนประเทศกลุ่มยูโรโซนให้เตรียมแผนฉุกเฉินตั้งรับเศรษฐกิจตกต่ำ

โดยเศรษฐกิจยุโรปเผชิญความไม่แน่นอนจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) โดยปราศจากข้อตกลงในปีหน้า รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าซึ่งส่งผลต่อการส่งออกและภาคการผลิตอุตสาหกรรม ที่อาจลุกลามไปยังภาคการบริการอันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจยุโรปได้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรปในคำเตือนของไอเอ็มเอฟ คือ ความเสี่ยงการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือ “ฟองสบู่อสังหาฯแตก” นั่นเอง ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

โดยมีสาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟยังคงแนะนำว่านโยบายผ่อนคลายทางการเงินยังคงมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลประเทศที่มีฐานะการคลังแข็งแกร่ง อย่างเช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ควรพิจารณาเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

ข้อมูลของสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่า ราคาที่อยู่อาศัยประเทศเขตยูโรโซนปรับตัวขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “ติดลบ” เป็นครั้งแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

บลูมเบิร์กรายงานข่าวว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประเทศยูโรโซนลดลงสู่ระดับ 1.65% เมื่อกลางปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2000 ส่งผลให้เกิดแรงเก็งกำไรตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นดีมานด์เทียม และราคาอสังหาฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของประชาชนซึ่งอาจเป็นปัญหาสังคมตามมา โดย “มาริโอ ดรากี” อดีตประธานอีซีบี เคยเตือนถึงการเกิดฟองสบู่ภาคอสังหาฯจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำติดต่อกัน อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ขณะที่ “ธนาคารยูบีเอส” เปิดเผยผลการศึกษาและดัชนีชี้วัดภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯของเมืองหลักทั่วโลกประจำปี 2019 พบว่าประเทศในกลุ่มยูโรโซนเผชิญกับราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 4 ไตรมาส (ต.ค. 2018-ก.ย. 2019) โดย 4 เมืองสำคัญซึ่งปัจจุบันเผชิญกับภาวะฟองสบู่อสังหาฯ ได้แก่ มิวนิก, อัมสเตอร์ดัม, แฟรงก์เฟิร์ต และปารีส นอกจากนี้ มิลานและมาดริดอาจเจอกับความเสี่ยงนี้เช่นกัน

รายงานระบุว่า “ราคาที่อยู่อาศัย” มีอัตราการเติบโตรวดเร็วกว่า “การเติบโตของรายได้ประชากร” ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไร ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความไม่มั่นใจก็อาจทำให้ราคาอสังหาฯปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วได้ ธนาคารยูบีเอสยกตัวอย่างราคาที่อยู่อาศัยเมืองมิวนิกซึ่งปรับตัวขึ้นถึง 100% ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยค่าเช่าเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ประชากรชาวเมืองมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 15% เท่านั้น

นอกจากนี้ บริษัท ไนท์แฟรงค์ฯ ทำการสำรวจตลาดอสังหาฯประจำปี 2019 พบว่านับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงเดือนกันยายนปี 2018 ราคาที่อยู่อาศัยกรุงอัมสเตอร์ดัมปรับตัวเพิ่มขึ้น 63.6% ขณะที่รายได้ชาวเมืองเติบโตเพียง 4.4% ถือเป็นเมืองที่ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ยากที่สุดในโลก ขณะที่เมืองสำคัญแห่งอื่น ๆ เช่น กรุงดับลินราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวขึ้น 61.9% รายได้ชาวเมืองเพิ่มขึ้น 13.2% และกรุงเบอร์ลิน ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 63.4% ส่วนรายได้ของชาวเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 7% ทั้งนี้ จากการสำรวจ32 เมืองทั่วโลกพบว่าราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 24% ขณะที่รายได้ประชากรปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 8%

การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดของอีซีบีจาก -0.4% สู่ระดับ -0.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมถึงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ ถูกคาดหวังว่าจะช่วยประคองยุโรปให้รอดพ้นจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการใช้ “ยาแรงที่ไม่ได้ผล” หนำซ้ำยังก่อภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาฯซึ่งทำให้ระบบการเงินไร้เสถียรภาพและอาจซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะที่นโยบายทางการคลังเผชิญข้อจำกัดจากสถานะทางการคลังที่อ่อนแอในหลายประเทศนับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ ปัจจัยเหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจยุโรป