งานเข้า “ซิลิคอนวัลเลย์” มะกันกระชับ กม.คุ้มครองผู้บริโภค

ที่ผ่านมาบรรดาบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐไม่ถูกควบคุมจากรัฐบาล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กิจการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

แต่ขณะนี้บริษัทเทคโนโลยีกำลังถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ที่ต่างเห็นพ้องว่าควรให้ความสนใจประเด็นการขยายบริษัท แผ่อิทธิพล และขาดความรับผิดชอบต่อสังคมของยักษ์ไอทีต่าง ๆ หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นจำนวนมาก

ล่าสุดสภาคองเกรสได้จับตา “เฟซบุ๊ก” หลังตรวจพบว่าเฟซบุ๊กรับเงินค่าโฆษณา 1 แสนเหรียญสหรัฐจากแอ็กเคานต์ ซึ่งสืบพบว่ามีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลรัสเซีย ในช่วงการเลือกตั้งปี 2016 สภานิติบัญญัติจึงเตรียมที่จะเปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบว่าโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ถูกรัฐบาลต่างประเทศใช้เป็นเครื่องมือแทรกแซงในช่วงแคมเปญเลือกตั้งสหรัฐปี 2016 หรือไม่

นอกจากนี้ยังเริ่มมีสัญญาณว่าสหรัฐจะเข้มงวดขึ้นในการกำกับการผูกขาดทางธุรกิจมากขึ้น จากที่ทรัมป์เคยระบุในช่วงหาเสียงว่า “อเมซอน” ยักษ์อีคอมเมิร์ซผูกขาดตลาดมากเกินไป แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลก็ได้อนุมัติให้อเมซอนเข้าซื้อกิจการโฮลฟู้ดอย่างรวดเร็ว

ในยุคประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ความสัมพันธ์กับยักษ์ไอทีไม่ค่อยราบรื่นและนโยบายการสกัดกั้นผู้อพยพของทรัมป์ก็กระทบบริษัทไอทีโดยตรง ที่ต้องระดมมือดีทั่วโลกเข้ามาทำงาน

ผู้กำกับกฎหมายพยายามผลักดันการควบคุมหลายด้าน ทั้งเรื่องความเป็นกลางความเป็นส่วนตัว และความรับผิดชอบและยังมีท่าทีว่าจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการรับเงินโฆษณาจากต่างประเทศ ที่อาจกระทบกับความมั่นคงของอุตสาหกรรมไอทีได้

“Ted Ullyot” หุ้นส่วนด้านนโยบายและการกำกับดูแลของเวนเจอร์แคปิตอล “Andreessen Horowitz” และอดีตที่ปรึกษาทั่วไปของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า ถึงเวลาที่วงการไอทีควรจะถูกกำกับเสียที ก่อนที่ความอิสระจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง “การต่อต้านการผูกขาด ความเป็นส่วนตัวและความน่าเชื่อถือของบริษัท ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นภัยคุกคามต่อซิลิคอนวัลเลย์ บริษัทจำเป็นต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมกับนโยบาย เพื่อลดภัยคุกคามและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีของอุตสาหกรรม”

ขณะที่ “นิก ซีนาย” อดีตรองหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สมัยรัฐบาลโอบามา ให้ความเห็นว่า บริษัทเทคโนโลยีต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็น “เพื่อนบ้าน” ที่ดี เป็นนายจ้างที่ดี และเป็นผู้ให้คำมั่นสัญญาที่ดีต่อผู้บริโภค และต้องคิดให้ดีว่าพวกเขาได้ทำอะไรและจะส่งผลอะไร

ราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส.ส.รีพับลิกัน “มาร์ชา แบล็กเบิร์น” ได้เสนอกฎหมายใหม่เข้าพิจารณา ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาจริงก็จะส่งผลกระทบวงกว้าง ทั้งส่วนของบริษัทไอทีและบริษัทสื่อสาร เพราะจะจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคออนไลน์มากขึ้น โดยบริษัทเทคโนโลยีจะไม่สามารถเข้าถึงการสืบค้นของผู้ใช้งานหรือข้อมูลอื่นได้เหมือนเดิม โดยจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นจะสร้างปัญหาหนักให้ทั้ง “กูเกิล” และ “เฟซบุ๊ก” เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทใช้ข้อมูลผู้บริโภคในการวิเคราะห์ธุรกิจโฆษณาบนแพลตฟอร์มของตนเอง

ด้านวุฒิสภาจากทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตบางส่วน เห็นพ้องกันว่า ควรยกเลิกกฎหมายสำคัญในปี 1996 ที่คุ้มกันผู้ให้บริการต่อทุกโพสต์ที่เกิดขึ้นโดยผู้ใช้งาน โดยเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายให้ยกเลิกการคุ้มครองในบางเว็บไซต์ที่รับลงโฆษณา เนื่องจากบางโฆษณาส่อไปถึงการค้าประเวณี

ขณะที่มีรายงานว่า ยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ ได้จ้างล็อบบี้ยิสต์และผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาลเก่า เพื่อให้ช่วยออกแบบการรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของวงการ โดยยืนยันว่าการกำกับดูแลธุรกิจโลกออนไลน์ ต้องเปิดกว้างอย่างเสรี เพราะบริการทั้งหลายก็ไม่มีค่าใช้จ่ายและมีคุณค่าต่อผู้ใช้งาน