“เจแปนิฟิเคชั่น” ลาม วิกฤตที่แก้ยากที่สุด

REUTERS/Edgard Garrido/File Photo

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

แลร์รี ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกถล่มอย่างหนักทั้งจากโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งลงต่อเนื่องไว้ว่า “ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังตกอยู่ในที่นั่งเดียวกับญี่ปุ่น”

คำพูดสั้น ๆ ของอดีตขุนคลังที่ตอนนี้เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กินความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุมทั้งสิ่งที่อุบัติอยู่ในปัจจุบันนี้เรื่อยไปจนถึงที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

ซัมเมอร์สเตือนเอาไว้ในประโยคถัดมาชัดเจนว่า “สถานะของญี่ปุ่นที่ว่านี้ยากอย่างยิ่งที่จะหลุดพ้นออกมาได้”

ที่สำคัญก็คือ สภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ว่านี้ ไม่ได้จำกัดว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถรวมไปถึงอีกหลายต่อหลายประเทศที่กำลังเผชิญสภาวะวิกฤตแบบเดียวกันอยู่ในเวลานี้

คำนี้หมายถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจำเพาะอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ใด ๆ มากมายนัก แต่กลับเป็นวัตรปฏิบัติปกติทั่วไปในญี่ปุ่นมานานหลายทศวรรษแล้ว

ไม่ใช่ญี่ปุ่นอยากได้หรือชื่นชอบสถานการณ์ที่ว่านี้ แต่เป็นเพราะทำอย่างไรก็ยังดิ้นไม่หลุดสักทีนั่นเอง

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มีศัพท์บัญญัติใหม่อย่างคำว่า “เจแปนิฟิเคชั่น” ขึ้นมา เพื่อสะท้อนให้สภาวการณ์เข้าสู่สถานการณ์แบบที่ญี่ปุ่นเป็นอยู่และเป็นมาแล้วหลายสิบปีนี้

แต่ในเวลานี้ พอล เชียร์ด นักเศรษฐศาสตร์ อาวุโสประจำสำนักเคนเนดีของฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่า ถ้านิยามคำว่า “เจแปนิฟิเคชั่น” ไว้จำกัดเพียงแค่การที่ “ยีลด์เคิร์ฟ” หรือ “เส้นกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับอายุคงเหลือ” ของตราสารหนี้ทั้งยวงวูบลงใกล้ศูนย์แล้วละก็ “กวาดตามองไปก็ดูเหมือนประเทศที่เหลือทั้งโลกก็กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน”

เชียร์ดควรเข้าใจในเรื่องนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง เนื่องจากเขาเป็นนักวิชาการทางการเงินอยู่ในญี่ปุ่นทั้งในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 เมื่อกำลังเกิดการเปลี่ยนผันครั้งใหญ่นี้กับญี่ปุ่น

ในสถานการณ์แบบญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลดลงจนใกล้จะเป็นศูนย์หรือไม่ก็ต่ำกว่าศูนย์ แต่กระนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนหรือธุรกิจทั้งหลายก็ไม่ยอมกู้ยืม ไม่ยอมควักกระเป๋าออกมาใช้จ่ายนอกเหนือจากความจำเป็น

ผลจากการนี้สะเทือนถึงการจัดซื้อ การผลิตและราคาของสินค้าที่ทำให้บริษัทห้างร้านและโรงงานผลิตทั้งหลาย อย่างน้อยก็ต้องจำกัดคน จำกัดการลงทุน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน และในที่สุดก็กระทบสู่ปริมาณเงินในกระเป๋าของผู้บริโภค ยิ่งทำให้ความต้องการสินค้าลดน้อยลงไปอีก

วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เหมือนงูกินหาง เหมือนสังคมที่กลืนกินตัวเองทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อย ๆ

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายในช่วงหลังวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปี 2008 ก็ร่ำ ๆ จะเดินเข้าสู่เส้นทาง “เจแปนิฟิเคชั่น” อยู่รอมร่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นยุโรป

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เค้าลางของ “เจแปนิฟิเคชั่น” แผ่ขยายออกไปครอบคลุมหลายประเทศในโลก

ในทางหนึ่งภาวะช็อกจากการแพร่ระบาดทุบทำลายทั้งดีมานด์และซัพพลายลงไปแทบจะทั่วโลก หนักหนาสาหัสชนิดที่แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังยอมรับว่ามีชีวิตมา 89 ปีเพิ่งเจอะเจอ

ระบบห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก สับสน การผลิตสะดุดลงแทบจะสิ้นเชิง ผู้คนจำนวนมหาศาลทั่วโลกไม่ว่าจะโดยสมัครใจ หรือถูกบังคับก็ตามที กักตัวเองอยู่แต่ภายในบ้าน จำกัดการเดินทางจนเหลือน้อยที่สุด อุปสงค์ลดลงจนเหลือน้อยที่สุดเช่นเดียวกัน

ที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ การลอยแพพนักงาน ซึ่งส่อแววให้เห็นกันแล้วในอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ไม่นานธนาคารกลางและรัฐบาลของนานาประเทศก็จะระดมอัดฉีดกันขนานใหญ่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ แล้วไม่นานธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็จะพบว่า “กระสุน” ในคลังหมดลงอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์กันว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงโดยเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดจะลดลงสู่ระดับ 0% ภายใน 3 เดือนนี้

ปัญหาก็คือ แม้ในสภาพเช่นนั้นยังช่วยอะไรได้ไม่มากมายนัก

ตราบเท่าที่ “ความกลัว” และ “ความกังวล” ต่อความไม่แน่นอนในอนาคตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่หมดไป ยากนักที่ผู้บริโภครายใดจะควักกระเป๋าหรือยอมเป็นหนี้เป็นสิน

ในส่วนของบริษัทธุรกิจ มีตัวเลข “หนี้” ค้ำคออยู่เห็น ๆ

อินสติติวต์ ออฟ อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ ระบุเอาไว้ว่า หนี้สินในธุรกิจ “น็อนแบงก์” ทั้งหลาย ณ สิ้นปี 2019 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 75,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 48,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2009 มหาศาล

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล ชี้ว่า ภายใต้สภาพ “เจแปนิฟิเคชั่น” เช่นนี้มีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่หลงเหลือความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ “เป็นหนี้” ได้

ขาดดุลงบประมาณปีละ 2% ของจีดีพี เพื่อใช้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, พัฒนาเด็กและเยาวชนกับงานวิจัยแต่ต้องไม่ใช้หนี้คืน

ปล่อยหนี้ให้พุ่งขึ้นถึงระดับ 200% ของจีดีพี ถึงจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจใหม่อีกรอบ ลองดูกันไหม !?!