‘โควิด-19’ เขย่าเก้าอี้ ‘ทรัมป์’ ในศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2020

(File Photo) REUTERS/Joshua Roberts

“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน ได้รับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จะสามารถคว้าชัยเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ใน “การเลือกตั้งประธานาธิบดี” ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. 2020 แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันกำลังสร้างความไม่แน่นอน จากความไม่พอใจของชาวอเมริกันที่มีต่อการบริหารจัดการภาวะวิกฤตของทรัมป์ ขณะที่คู่แข่งก็กำลังโหมแคมเปญหาเสียงโจมตีจุดอ่อนอย่างหนักและนำเสนอมาตรการรับมือโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง

รอยเตอร์สรายงานว่า ความไม่พอใจของชาวอเมริกันต่อมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงความกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มสูงขึ้น แม้แต่ในกลุ่มผู้สนับสนุน “พรรครีพับลิกัน” ของทรัมป์เอง

แม้ว่าทรัมป์จะพยายามใช้มาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการระงับการเดินทางเข้าสหรัฐของชาวยุโรปทั้งหมดเป็นเวลา 30 วัน รวมถึงมาตรการเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า มาตรการเหล่านี้อ่อนเกินไปและสายเกินไป สำหรับการบริหารจัดการเพื่อลดการแพร่ระบาดในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐเพิ่มสูงกว่า 15,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 200 รายแล้ว

ก่อนหน้านี้ สถานภาพทางการเมืองของทรัมป์ดูจะมีความมั่นคง หลังรอดพ้นจากการที่ “พรรคเดโมแครต” ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ในเดือนที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมที่จะใช้ประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงการดำรงตำแหน่งในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งปลายปีนี้

ขณะที่พรรคเดโมแครตยังต้องพยายามอย่างหนักในการสรรหาตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเฉพาะ”เบอร์นี แซนเดอร์ส” อดีตวุฒิสมาชิก ที่ชูนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเข้าชนกับทรัมป์ แต่ดูเหมือนทรัมป์จะไม่สะทกสะท้านมากนัก จากความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา

แต่สถานการณ์ดูจะพลิกผันอย่างรวดเร็ว “ไมเคิล ดูเฮม” นักยุทธศาสตร์การเมืองของพรรครีพับลิกันระบุว่า “ไวรัสกำลังเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดี และสาธารณชนจะเริ่มตั้งคำถามต่อความพร้อมของฝ่ายบริหารนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง จุดแข็งที่สุดของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ เรื่องเศรษฐกิจ หากตลาดหุ้นยังคงไม่ฟื้นตัวและผู้คนเริ่มได้รับความเสียหายทางการเงินอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียทางการเมืองต่อตัวประธานาธิบดี”

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เข้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี หลายคนได้ประกาศถอนตัว และทุ่มการสนับสนุนไปยังตัวแทนพรรคที่เหลือ 2 คน ก็คือ เบอร์นี แซนเดอร์ส และ “โจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดี ในสมัยบารัก โอบามา ที่สามารถกวาดคะแนนนิยมได้สูงขึ้น ทั้งจากสมาชิกพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่และกลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนรีพับลิกันบางส่วนที่เริ่มไม่พึงพอใจต่อมาตรการของทรัมป์ด้วยเช่นกัน

สำหรับการหาเสียงเมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา นายไบเดนได้ใช้ประเด็นเรื่องการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 โจมตีการบริหารงานของทรัมป์ว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยระบุว่า เขาพร้อมจะตัดสินใจเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และยุทธศาสตร์ ในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า พร้อมจะใช้มาตรการเยียวยาผลกระทบไม่ว่าจะเป็น มาตรการอนุญาตให้แรงงานสามารถลาป่วยฉุกเฉินได้โดยได้รับค่าแรง รวมถึงการเพิ่มการทดสอบไวรัสฟรีในวงกว้าง โดย “จำนวนชุดทดสอบหาเชื้อไวรัสควรมีหลายล้านชิ้น ไม่ใช่เพียงหลายพันชิ้น” นับเป็นการโจมตีฝ่ายบริหารของทรัมป์ที่เคยออกมาเปิดเผยว่า กำลังการผลิตชุดทดสอบไวรัสมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกรณีขนานนามโรคระบาดว่า “ไวรัสจีน” ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายที่เกรงว่า อาจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยไบเดนระบุว่า ทรัมป์กำลังทำให้เกิด ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) อย่างไม่ถูกต้อง “ไวรัสโคโรน่าไม่สามารถระบุได้ตามประเทศต้นกำหนด เชื้อชาติ เพศ หรือแม้แต่รหัสไปรษณีย์ !”

ด้านเบอร์นี แซนเดอร์ส ก็ได้โจมตีทรัมป์โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเข้มแข็งในการหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัส และออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะมาตรการลาหยุดโดยได้รับเงินเดือนและการจ่ายเงินชดเชยผู้ว่างงาน

ขณะที่ฝ่ายจัดการแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ตอบโต้ว่า ฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้การระบาดของโควิด-19 เป็น “ผลประโยชน์ทางการเมืองและทำให้ประชาชนตื่นตระหนก”

“จิม วอร์ธิงตัน” ผู้บริหารสโมสรด้านสุขภาพในเทศมณฑลบักส์ของรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองไม่ต่างจากเรื่องอื่น “ผมคิดว่าเขาเป็นผู้นำที่ดีในเรื่องนี้ แต่สื่อนำเสนอเกินจริง”

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สร่วมกับอิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทสำรวจและวิจัยของฝรั่งเศส สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ชาวอเมริกัน 55% ไม่พึงพอใจการบริหารงานของทรัมป์ ขณะที่มีผู้ที่พึงพอใจเพียง 40% เท่านั้น

นักยุทธศาสตร์ทางการเมืองของรีพับลิกันระบุว่า มาตรการรับมือกับไวรัสกำลังสร้างความเสียหายให้กับทรัมป์ในเวลานี้ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะวัดผลกระทบทางการเมืองในระยะยาว ซึ่งหากรับมือครั้งนี้ไม่ดีพออาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้