ซีอีโอ “ยูนิโคล่” เตือน “อย่าทำลายเศรษฐกิจด้วยโคโรน่าไวรัส”

LAURENT FIEVET / AFP

นายทาดาชิ ยาไน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่ง เจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกาย “ยูนิโคล่” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียน รีวิว เกี่ยวกับมุมมองทางด้านธุรกิจในช่วงการแพร่รระบาดของ โควิด-19 โดยระบุว่า การดำเนินการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลไม่ควรทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ไม่เช่นนั้นจะมีความเสียหายมากยิ่งขึ้นและจะใช้เวลานานในการฟื้นตัว “อย่าทำลายเศรษฐกิจด้วยโคโรน่าไวรัส”

ทั้งนี้ แบรนด์ยูนิโคล่ก่อตั้งในปี 1984 ก่อนที่จะขยายสาขาร้านค้าปลีกอย่างรวดเร็ว จนเป็นผู้จำหน่ายเครื่องแต่งกายรายใหญ่อันดับที่ 3 ของโลกในขณะนี้ โดยนายยาไนนับว่าเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์นำพาธุรกิจก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาแล้วหลายยุคสมัย ซึ่งในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ นายยาไนได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจเร่งแสวงหาวิธีการของตนเองเพื่อเดินหน้ากิจการต่อไปได้

ใช้ยาแรง แต่ต้องไม่ทำลายเศรษฐกิจ

นายยาไนระบุว่า มาตรการที่รุนแรงแต่ไม่ทำลายเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นควรดำเนินการ โดยรัฐบาลควรตรวจหาเชื้อทุก ๆ คนในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งต้องมีการสื่อสารสถานการณ์ให้ทุกคนได้รับรู้ ขณะที่ผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศญี่ปุ่นจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดเข้มงวดด้วย แต่บทบาทที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลคือการช่วยเหลือทุกคนที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยจะต้องเร่งกำหนดเกณฑ์และให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ขณะที่การบริหารจัดการเรื่องอื่น ๆ ควรปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น

“ปัจจุบันเรากำลังมุ่งเน้นไปที่ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ความพยายามเหล่านี้จำเป็นต้องมาพร้อมกับการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม โดยต้องเริ่มคิดหาวิธีการว่าเราควรจะลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโลกหลังโคโรน่าไวรัสอย่างไร และแม้ว่าเราควรจะช่วยเหลือบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ผู้คนก็ไม่ควรต้องคาดหวังรับการเยียวยาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว รัฐบาลควรชี้แนะให้ผู้คนสามารถทำสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้”

นายยาไนระบุด้วยว่า “ผมคิดว่าบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากดำเนินงานเหมือนกับว่าพวกเขาถูกบริหารโดยรัฐบาล หลายบริษัทก็มุ่งเน้นสิ่งใหม่ ๆ อย่างระบบคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์มากจนเกินไป เราจำเป็นต้องขบคิดหาวิธีการว่า เราจะมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือผ่านการดำเนินงานหลักของเราได้อย่างไร และควรต้องแสวงหาภูมิปัญญาจากทั่วโลก ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหานี้”

ไม่มีใครทำเงินได้ ก็ไม่มีใครอยู่รอด

ในส่วนมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศบังคับใช้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายยาไนมีความคิดเห็นว่า “ผู้คนไม่ควรจะสละชีวิตสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพียงเพื่อเอาชนะโคโรน่าไวรัส เพราะหากไม่มีใครทำเงินได้ เราก็จะอยู่รอดไม่ได้ อย่างในยุโรปที่มีเพียงสวีเดนที่ยังอนุญาตให้ร้านค้าสามารถเปิดทำการได้ บริษัทและบุคคลทั่วไปควรตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าพวกเขาจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ โดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล”

“ผมเข้าใจเหตุผลดีว่า ทำไมรัฐบาลต้องขอให้ธุรกิจระงับการดำเนินงานเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาด แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ควรสามารถหาวิธีที่ดีกว่าการให้ทุกคนปิดประตูอยู่แต่ในบ้าน พวกเขาต้องคิดหาหนทางที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้พร้อมกับการป้องกันการแพร่กระจายของโคโรน่าไวรัส หากเศรษฐกิจพังทลาย สังคมทั้งหมดก็จะล่มสลายไปด้วย นั่นคือความเป็นจริง”

นายยาไนยังชี้ว่าการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมาหลังจากที่ระงับการดำเนินการไปต้องใช้เวลา อย่างร้านของฟาสต์ รีเทลลิ่งในประเทศจีนประมาณ 360 ร้านหรือราวครึ่งหนึ่งของจำนวนร้านค้าทั้งหมดต้องระงับการให้บริการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในจีน แม้ขณะนี้ร้านส่วนใหญ่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่รายได้ของแต่ละร้านลดลงเหลือเพียง 60%-70% “ลูกค้ายังคงไม่กลับมาที่ร้านค้าที่ถูกปิดเป็นเวลานาน อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และการฟื้นตัวในญี่ปุ่นก็จะยิ่งใช้เวลานานขึ้น”

โลกต้องเชื่อมโยง หยุดยั้งโรคระบาด

สำหรับนายยาไนซึ่งผ่านการบริหารในช่วงวิกฤตการณ์มาหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 และภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิในปี 2011 ได้ระบุว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ โลกได้เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง ต่างจากวิกฤตเลห์แมนบราเธอร์สในปี 2008 ที่สมาร์ทโฟนยังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา ผู้คนจากทุกมุมของโลกสามารถเชื่อมต่อกัน จากการเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ต เอไอ และหุ่นยนต์”

“โคโรน่าไวรัสนับเป็นหนึ่งในวิกฤตของศตวรรษ เช่นเดียวกันกับไข้หวัดสเปน ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (เกรทดีเปรสชั่น) ในช่วงทศวรรษ 1930 แต่สิ่งต่าง ๆ อาจจะยิ่งแย่ไปกว่านั้น”

การแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนในปี 1918 ได้ตามมาด้วยหายนะอย่าง เกรทดีเปรสชั่นช่วงทศวรรษ 1930 และสงครามโลกครั้งที่ 2 “เราควรตระหนักว่าการระบาดของโควิด-19 ก็สามารถนำไปสู่วิกฤตแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน แต่โลกปัจจุบันได้เชื่อมต่อกัน เราทุกคนสามารถเดินทางไปได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ในขณะนี้โลกต้องมาร่วมกันหาวิธีการว่าเราจะสามารถยุติการระบาดได้อย่างไร” นายยาไนกล่าวทิ้งท้าย