ธุรกิจอังกฤษสำลัก “โควิด” กับ “เบร็กซิต” ที่ยังไม่เสร็จ

File Photo REUTERS/Francois Lenoir

สหราชอาณาจักรหรือ “ยูเค” กำลังกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” หนักที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก และเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 300 ปี ตามคาดการณ์ของ “ธนาคารกลางอังกฤษ” ที่ระบุว่า อัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้อาจหดตัวถึง -14% ซึ่งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1706 ที่จีดีพีเคยหดตัวถึง -15%

สาเหตุมาจากเศรษฐกิจยูเคมีความผันผวนอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากความพยายามถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “เบร็กซิต” ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงอย่างมากจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง

เมื่อรัฐบาลอังกฤษนำโดยนายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” ประกาศเข้าสู่เบร็กซิตอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เดินหน้าเข้าสู่ “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” เริ่มกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่แทนที่ข้อตกลงเดิมที่อังกฤษใช้ร่วมกับอียู โดยเฉพาะการเจรจากับอียูเองในฐานะคู่ค้าอันดับหนึ่งของอังกฤษ

แต่การเจรจาต้องล่าช้าไปจากกำหนดเดิมที่คาดว่าจะเริ่มการเจรจาในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เป้าหมายที่จะบรรลุการเจรจาได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อมีผลบังคับในวันที่ 1 ม.ค. 2021 ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ และหากไม่สามารถบรรลุการเจรจาได้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงหรือ “โนดีลเบร็กซิต” ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจของยูเคจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้น รวมถึงอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ

ความไม่แน่นอนดังกล่าว ประกอบกับผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้ภาคธุรกิจอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเสียหายอย่างมาก “แคโรลิน แฟร์เบร์น” ผู้อำนวยการใหญ่สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษ (ซีบีไอ) กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “ธุรกิจของอังกฤษไม่มีความสามารถมากพอที่จะรับมือกับโนดีลเบร็กซิต หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโคโรน่าไวรัส”

ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจของอังกฤษจำนวนมากกำลังเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซีเอ็นเอ็นรายงานข้อมูลกระทรวงการคลังอังกฤษ ซึ่งเผยตัวเลขการยื่นขอสินเชื่อของบริษัทเอกชน ตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในขณะนี้สูงถึง 35,000 ล้านปอนด์แล้ว ขณะที่การเลิกจ้างเป็นอีกทางเลือกที่บริษัทเลือกใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายพยุงกิจการให้เดินต่อไปได้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า เดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.1 ล้านราย

ขณะเดียวกันรัฐบาลอังกฤษก็ได้ใช้งบประมาณราว 19,600 ล้านปอนด์ ในการอุดหนุนค่าจ้างพนักงานให้กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อรักษาอัตราการจ้างงาน โดยกระทรวงการคลังระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลได้อุดหนุนค่าจ้างให้กับแรงงานเกือบ 9 ล้านคน หรือคิดเป็น 27% ของแรงงานทั้งประเทศ

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้จีดีพีของอังกฤษหดตัวลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง -20.4% ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุดในประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดทั้งเดือน

ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีดีซี) ประมาณการว่า หากมองอย่างมีความหวังว่าการเจรจาข้อตกลงการค้าจะสามารถบรรลุได้ทันกำหนดปลายปีนี้ และรัฐบาลอังกฤษสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จีดีพีในปีนี้ก็อาจจะหดตัวลงราว -11.5% ซึ่งแม้จะเป็นสถานการณ์ดีที่สุดแต่ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่รุนแรงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

แต่ถ้าการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 รุนแรงกว่าเดิมจนรัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดอีกครั้ง อาจนำไปสู่ตัวเลขการหดตัวทางเศรษฐกิจที่น่ากลัว สอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารกลางอังกฤษคือ จีดีพีอังกฤษปี 2020 ลดลงถึง -14% และอัตราการว่างงานพุ่งแตะระดับ 15% ในไตรมาส 4/2020

แคโรลิน แฟร์เบร์นยังชี้ด้วยว่า ขณะนี้กระแสเงินสดและแผนสำรองของภาคธุรกิจได้ถูกใช้ไปในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 จนหมดแล้ว ทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากต้องออกจากสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียวของอียูแบบไร้ข้อตกลง

ดังนั้นธุรกิจอังกฤษจะรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการเจรจาบรรลุข้อตกลงการค้าเบร็กซิต ด้วย “ไมเคิล บาร์เนียร์” หัวหน้าคณะเจรจาเบร็กซิตของอียู เปิดเผยในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “การเจรจาที่ผ่านมายังคงไม่มีความคืบหน้ามากนัก” และแม้จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยูเคจำนวนมากเรียกร้องให้ขยายเวลาการเจรจาออกไป แต่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันยังคงยืนยันว่า ในขณะนี้จะยังไม่มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงกำหนดการใด ๆ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศชะลอการติดตั้งระบบตรวจสอบสินค้าชายแดนสำหรับสินค้านำเข้าจากอียู โดยเลื่อนจากเดิมที่กำหนดติดตั้งพร้อมใช้งานในวันที่ 1 ม.ค. 2021 ออกไปอีก6 เดือน เพื่อผ่อนปรนให้บริษัทต่าง ๆ มีเวลาในการปรับตัวกับอัตราภาษีศุลกากรและระบบควบคุมตรวจสอบแบบใหม่

“ไมเคิล โกฟ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 เราจะอยู่นอกสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียว จึงจำเป็นต้องมีระบบตรวจเช็กสินค้าที่เข้ามาในยูเค ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากโคโรน่าไวรัสต่อภาคธุรกิจด้วย จึงต้องการสร้างความมั่นใจว่า ธุรกิจของเรามีโอกาสในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่น”