ส่งออก “แซลมอน” ยุโรประส่ำ จีนตื่นโควิดรอบ 2 จาก “เขียงปลา”

การแพร่ระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ประเทศจีน คาดการณ์กันว่าเริ่มต้นจากร้านชำแหละปลาแซลมอนในกรุงปักกิ่ง ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มกังวลหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาแซลมอน รวมถึงอาหารทะเลและเนื้อสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงผู้ส่งออกอาหารสดของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะยุโรปที่มีจีนเป็นตลาดใหญ่

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ตรวจพบเชื้อโคโรน่าไวรัสปนเปื้อนอยู่บนเขียงชำแหละปลาแซลมอน ในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารทะเล “ซินฟาตี้” ในเขตเฟิงไถตอนใต้ของปักกิ่ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในจีนขณะนี้

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญอย่าง “ฉี กั๋วชิง” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของจีนระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าปลาแซลมอนเป็นพาหะในการกระจายไวรัส

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้บริโภคชาวจีน เช่นเดียวกับผู้ค้าอาหารสดและซูเปอร์มาร์เก็ตที่หยุดจำหน่ายปลาแซลมอน รวมทั้งเนื้อสัตว์นำเข้าและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลอื่น ๆ เป็นการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงผู้ส่งออกอาหารสดยุโรปหลายราย ที่ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจากผู้จำหน่ายในจีน แม้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะระบุว่า ยังคงไม่มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดการนำเข้าจากจีนอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งจากต่างประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ศุลกากรของจีนระบุว่า มีการนำเข้าปลาแช่แข็งถึง 461 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ “นอร์เวย์” ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปลาแซลมอนรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ส่งออกปลาแซลมอนไปยังจีนถึง 9,600 ตันในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึึ่งจีนเป็นตลาดปลาแซลมอนที่มีการเติบโตมากที่สุดของนอร์เวย์

ทั้งนี้ในกระบวนการขนส่ง อาหารสดแช่แข็งจะถูกส่งทางเรือและเก็บรักษาไว้บนเรือได้ราว 6 สัปดาห์ โดยมีเพียงอาหารสดบางชนิดอย่างหอยนางรมสดที่ต้องขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบิน เนื่องจากไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ทำให้การนำเข้าอาหารสดแช่แข็งจากต่างประเทศของจีนยังไม่เห็นผลกระทบได้ในขณะนี้

แต่ “คาร์โกลักซ์” ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศของยุโรปเปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีคำสั่งห้ามขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่ายทุกชนิด เช่น เนื้อสัตว์สด ปลาสด ผัก อาหารทะเล และผลไม้ เข้าสู่สนามบินต่าง ๆ ของจีนเป็นการชั่วคราวแล้ว

“โรซา หวาง” นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของเจซีไอไชน่า ระบุว่า “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกำลังได้รับผลกระทบ และขณะนี้ไม่มีใครอยากจะซื้อปลาแซลมอน แม้ว่าสุดท้ายแล้วปลาแซลมอนจะได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยจากไวรัส แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าผู้คนจะกลับมาบริโภคอีกครั้ง ดังนั้นไม่ว่าจะมีการห้ามการนำเข้าหรือไม่ ปลาแซลมอนก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในจีน”