เคเอฟซี งดใช้สโลแกน “อร่อยจนต้องเลียนิ้ว” แจงไม่เข้าสถานการณ์

เคเอฟซีงดเลียนิ้ว
REUTERS/Carlo Allegri/File Photo

เคเอฟซี ประกาศงดใช้สโลแกน “อร่อยจนต้องเลียนิ้ว” ชั่วคราว แจงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

วันที่ 25 สิงหาคม 2563 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า เคนตักกี้ ฟราย ชิกเก้น หรือ เคเอฟซี แบรนด์ไก่ทอดชื่อดัง ได้ระงับการใช้สโลแกนโฆษณาที่ว่า “it’s finger lickin’good” (อร่อยจนต้องเลียนิ้ว) ที่ใช้มายาวนาน เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่าเป็นความไม่เหมาะสมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการรักษาสุขอนามัยจะต้องมาเป็นลำดับแรก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด

ในยุคที่การสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านสุขภาพแนะนำให้ผู้คนหยุดใช้มือสัมผัสใบหน้า เคเอฟซี ระบุว่า สโลแกนดังกล่าวไม่ค่อยเหมาะสมในเวลานี้

สำหรับสโลแกน “อร่อยจนต้องเลียนิ้ว” ทาง “ยัม แบรนด์ อิงค์” ซึ่งเป็นเจ้าของเชนเคเอฟซีมานาน 64 ปี ได้หยุดใช้ในโฆษณาทั่วโลก ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา โดยสโลแกนคุ้นหูนี้จะกลับมาอีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ เคเอฟซียังได้ปล่อยคลิปวิดีโอผ่านทางยูทูป ที่แสดงให้เห็นว่า บนถังไก่ทอดของเคเอฟซี มีการเบลอสโลแกน “อร่อยจนต้องเลียนิ้ว” ด้วย ก่อนที่คลิปโฆษณาจะจบลงด้วยประโยคที่ว่า That thing we always say? Ignore if. For now (สิ่งที่เราพูดเสมอๆ หลีกเลี่ยงไปก่อนในตอนนี้)

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเคเอฟซีได้ถอนโฆษณาตัวหนึ่งในอังกฤษออก เนื่องจากโฆษณาตัวนี้ใช้สโลแกนอร่อยจนต้องเลียนิ้ว โดยมีภาพคนเลียนิ้วตัวเอง รวมถึงนิ้วของเพื่อน หลังจากกินไก่เคเอฟซี

โฆษณา ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ว่ามีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด และ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษก็ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาชิ้นนี้อย่างน้อย 150 ครั้ง

ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ถูกกดดันให้ทบทวนเรื่องชื่อแบรนด์และสโลแกน หลังเกิดกระแสต้านในโซเชียลมีเดีย

ก่อนหน้านี้ ยูนิลิเวอร์ ยักษ์ใหญ่สินค้าคอนซูเมอร์ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสกินแคร์ผิวขาวขายดี Fair&Lovely เนื่องจากถูกโจมตีว่าเหยียดสีผิว ส่วนเป๊ปซี่โควางแผนเปลี่ยนชื่อแบรนด์ผงทำแพนเค้กและน้ำเชื่อม อานท์ เจมิมา ซึ่งมีภาพสตรีแอฟริกันอยู่บนฉลาก เนื่องจากโดนกดดันในโซเชียลเช่นกัน

“แคทเธอรีน ทัน จิลเลสพี” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดระดับโลกของเคเอฟซี กล่าวในแถลงการณ์ว่า เราค้นพบว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การมีสโลแกนที่โดดเด่นนั้น ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน