“วอลล์สตรีต” เสียดาย-คิดถึง “เยลเลน”

การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามคาดหมาย คือเฟดยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมคือระหว่าง 1-1.25% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคม เพราะสภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นไปในทางบวก

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนประเด็นขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยกว่าประเด็นที่ว่า ใครจะได้รับเลือกจากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ให้มาดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อจาก “เจเน็ต เยลเลน” ซึ่งจะครบวาระในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ในบรรดาผู้ที่ถูกคาดว่าจะเป็นตัวเก็งในการชิงตำแหน่ง 5-6 คนนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พากันเชื่อว่า “เจเน็ต เยลเลน” มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะได้รับเลือกในอีกสมัย

ขณะที่ล่าสุดชื่อของ “เจอโรม พาวเวลล์” ผู้ว่าการเฟดมีแนวโน้มสูงว่าจะได้นั่งเก้าอี้ประธานเฟดต่อจากเยลเลน เมื่อค่อนข้างแน่ชัดว่าเยลเลนจะไม่อยู่ที่เฟดอีกต่อไป นักลงทุนในวอลล์สตรีต

หลายคนเริ่มเสียดายเธอ เพราะเยลเลนเป็นสัญลักษณ์ความแน่นอน เนื่องจากมีหลักการแน่ชัดในการทำงาน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับนโยบายการเงินจะพิจารณาจากข้อมูลและสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก

“มิตช์ โกลด์เบิร์ก” ประธานบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ไคลเอนต์ เฟิรสต์ เซอร์วิส ระบุว่า เขาคงจะคิดถึงเยลเลนมาก หากเธอจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป เพราะเธอทำงานอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา จริงใจต่อทุกคน มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะลดความไม่แน่นอนให้มากที่สุด จนทำให้ตลาดทุนมีความผันผวนน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา กล่าวได้ว่า

เมื่อเยลเลนจากไปเธอก็ “นำตลาดทุนที่ผันผวนต่ำเป็นประวัติการณ์ไปกับเธอด้วย” และไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะเลือกใครมาแทนที่ ก็ไม่มีทางทำให้นักลงทุนพึงพอใจได้เท่าเธอ

โกลด์เบิร์กบอกว่า สไตล์ของเยลเลนนั้นคล้ายกับ “เบน เบอร์แนงกี” ประธานเฟดคนก่อนหน้า แต่เยลเลนนั้นยกระดับความแน่นอนขึ้นไปมากกว่าเบอร์แนงกี โดยขจัด “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ออกไปจากจอเรดาร์ของนักลงทุน ซึ่งการทำงานแบบอิงข้อมูลเศรษฐกิจของเยลเลนนั้น ได้เอื้อให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ความเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของเฟดได้อย่างค่อนข้างแน่นอน

“นักลงทุนหลายคนอาจมองว่าเธอเป็นพวกสายพิราบ เพราะเอาแต่คอยดูข้อมูลเศรษฐกิจก่อนจะตัดสินใจ แต่ผมกลับมองว่าเธอมีความอดทนและดำเนินนโยบายแบบเปิดเผย นอกจากนั้นเธอยังมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในความเป็นอิสระของเฟด ไม่ยอมก้มหัวให้กับอิทธิพลของฝ่ายการเมือง”

โกลด์เบิร์กชี้ว่า การทำงานของเยลเลนต่างจากสไตล์ของ “อลัน กรีนสแปน” อดีตประธานเฟดอีกคนที่โด่งดัง ซึ่งกรีนสแปน มักสร้างความช็อกและเซอร์ไพรส์ให้กับนักลงทุนเสมอ เขาถูกขนานนามจากนักลงทุนว่ามี “กระเป๋าเอกสาร” เป็นตัวชี้วัด หากคราวใดที่เขามาประชุมพร้อมกับกระเป๋าเอกสารโป่งอัดแน่น หมายความว่าเขาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น แต่หากกระเป๋าบางก็หมายความว่าเขาจะเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินนโยบาย

“กรีนสแปนมีความสามารถทำให้นักลงทุนไปไหนไม่เป็น ไม่สามารถเดาได้ว่าเขาจะทำอะไรต่อ นักลงทุนต้องทำงานหนักมากกับการต้องคอยรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะเดาทิศทางของกรีนสแปน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ดังนั้นตลาดจึงเกิดความผันผวนมาก”

กล่าวสำหรับ “เจอโรม พาวเวลล์” ที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าจะเป็นคนใหม่ที่มาแทนเยลเลน ในสายตานักลงทุนเห็นว่าแนวทางหลัก ๆ ของเขาจะคล้ายกับเยลเลน จึงเชื่อว่าจะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากเยลเลนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับคนอื่น เพียงแต่ว่าพาวเวลล์อาจผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการเงินมากกว่าเยลเลน จึงถือว่าเป็นตัวเลือกดีที่สุดสำหรับตลาด