‘อเมซอน’ ลงทุน ‘ฟินเทค’ อินเดีย โดดชิงส่วนแบ่ง ‘ตลาดทุน’

“อินเดีย” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ธุรกิจสตาร์ตอัพกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเงิน ซึ่งสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศล้วนเห็นศักยภาพการเติบโตของ “ฟินเทค” และพยายามช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดอินเดีย

บลูมเบิร์กรายงานว่า “อเมซอน” ยักษ์อีคอมเมิร์ซของสหรัฐอเมริกา ประกาศลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพฟินเทค “สมอลล์เคส เทคโนโลยีส์” (Smallcase Technologies) แพลตฟอร์มให้บริการด้านการลงทุนซื้อขายหุ้นสัญชาติอินเดีย ด้วยเม็ดเงินลงทุน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยการลงทุนครั้งนี้อยู่ในรอบการลงทุนซีรีส์ซีร่วมกับผู้ลงทุนอีกหลายรายนำโดยบริษัทด้านการลงทุน “แฟริ่ง แคปิตอล” และ “เปรมจีอินเวสต์” บริษัทลงทุนส่วนบุคคลของ “อาซิม เปรมจี” มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทที่ลงทุนในสมอลล์เคสมาอย่างต่อเนื่อง เช่น “ซีคัวญา แคปิตอล อินเดีย” และ “บลูม เวนเจอร์ส” รวมแล้วเม็ดเงินลงทุนในรอบนี้กว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“สมอลล์เคส” นับเป็นฟินเทคอินเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เป็นแพลทฟอร์มที่สนใจของนักลงทุนรายย่อย จากการพัฒนาฟินเทคให้รองรับการเข้าลงทุนซื้อขายหุ้นของอินเดียผ่านระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ ของผู้ให้บริการจัดการการลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากโบรกเกอร์หลายสิบรายทั่วอินเดีย

“วาสานธ์ กามาธ” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสมอลล์เคสระบุว่า “คนรุ่นใหม่เป็นนักลงทุนที่กล้าจะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงสูง และกำลังเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราได้สร้างผลิตภัณฑ์สำหรับการลงทุนที่ง่ายดายและใช้ต้นทุนต่ำ”

ปัจจุบันสมอลล์เคสมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบังคาลอร์ ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของอินเดีย ซึ่งได้อานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้สมอลล์เคสมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า มาอยู่ที่กว่า 3 ล้านรายในปี 2020 เนื่องจากนักลงทุนแสวงหาช่องทางการลงทุนออนไลน์มากขึ้น

ศักยภาพของสมอลล์เคสเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้อเมซอนเข้ามาลงทุน เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการชิงส่วนแบ่งในภาคการเงินของอินเดีย หลังจากที่อเมซอนได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจบริการสินเชื่อผ่านการลงทุนใน “แคปิตอล โฟลต” และการประกันภัยใน “อาคโก เจเนอรัล อินชัวรันซ์” ของอินเดียก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ อเมซอนยังลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีของอินเดียอีกเป็นจำนวนมาก เช่น “ชัตล์” (Shuttl) ไรด์เฮลลิ่งชัตเติลบัส, “เอ็มวันเอ็กซ์เชนจ์” (M1xchange) แพลตฟอร์มสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (อีเอสเอ็มอี) ไปจนถึงแพลตฟอร์มเครื่องสำอางออนไลน์อย่าง “มายกลามม์” (MyGlamm) โดยเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจอินเดียของอเมซอนขณะนี้รวมกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา อเมซอนได้เปิดตัวกองทุนมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของอินเดียที่ต้องการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งการลงทุนในสมอลล์เคสก็เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนดังกล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่อเมซอนก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในภาคการจัดการความมั่งคั่งในอินเดีย ซึ่งน่าจับตาว่าอเมซอนจะมีทิศทางในการขยายธุรกิจอย่างไรต่อไปในอนุทวีปแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก