“สหรัฐ” จับมือ “โออีซีดี” ชูโปรเจ็กต์ “Blue Dot Network” ข่มจีน

โครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน กลายเป็นเป้าโจมตีจากหลายชาติมหาอำนาจ ที่กังวลว่าจีนจะใช้ช่องทางดังกล่าวในการแผ่อิทธิพลครอบงำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” ที่กำลังสร้างความร่วมมือกับชาติพันธมิตรเสนอทางเลือกใหม่ เพื่อสกัดความพยายามของจีน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ในการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา “แอนโทนี่ บลิงเกน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ได้กล่าวถึงความร่วมมือใหม่ระหว่างสหรัฐกับโออีซีดี ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา

โดยความร่วมมือดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ “บลู ดอต เน็ตเวิร์ก” (Blue Dot Network) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ 3 ชาติพันธมิตร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ ที่เปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 โดยมีเป้าหมายในการดึงทุนภาคเอกชนไปสู่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยากจนทั่วโลก

ซึ่งโออีซีดีจะเข้ามาสนับสนุนโครงการบลู ดอต เน็ตเวิร์ก เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา ทั้งในแง่ของการจัดการการคอร์รัปชั่นและการส่งเสริมโครงการโครงสร้างพื้นฐาน “ที่มีคุณภาพสูง” เพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ได้มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ บลิงเกนกล่าวในที่ประชุมโออีซีดีระบุว่า “ในขณะที่บางประเทศกำลังผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้บริษัทต่างชาตินำเข้าแรงงาน ดึงดูดทรัพยากรในพื้นที่ ขาดการสร้างความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น และผลักให้ประเทศเหล่านั้นประสบภาวะหนี้ เราอยู่ที่นี่เพื่อสร้างทางเลือกที่ต่างออกไป”

แม้ว่าคำกล่าวของบลิงเกนจะไม่ได้ระบุถึง “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนโดยตรง แต่ก็เป็นการโจมตีโครงการของจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากข้อกล่าวหาดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัย “เอดดาต้า” (AidData) ก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอาจก่อหนี้แฝงให้กับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำถึง 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ โครงการบลู ดอต เน็ตเวิร์ก ยังถูกมองว่ามีเป้าหมายในการแข่งขันกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ให้เงินกู้เชิงพาณิชย์รายใหญ่มักมองว่า โครงการจัดหาเงินทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศรายได้ต่ำมีความเสี่ยงสูง

ส่งผลให้กลุ่มทุนเอกชนในสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วหลีกเลี่ยงการให้เงินกู้ในโครงการเหล่านั้น และกลายเป็นโอกาสของทุนจีนที่สามารถเข้าถึงโครงการได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา

“คริส อัลเดน” ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน ระบุว่า “การเน้นย้ำเรื่องคุณภาพและการจัดการคอร์รัปชั่นเป็นการโจมตีข้อเสนอของจีน หลังจากที่สามารถดึงดูดใจรัฐบาลแอฟริกาได้อย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จากเงื่อนไขที่น้อยและการดำเนินโครงการที่รวดเร็วกว่า หากเทียบกับแหล่งทุนอื่นอย่างโออีซีดีหรือธนาคารโลก”

การดึงโออีซีดีเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความโปร่งใสและส่งเสริมโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มี “คุณภาพสูง” จึงเป็นความพยายามในการสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มทุนเอกชน และแย่งชิงส่วนแบ่งของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาจากจีน

นอกจากนี้ โครงการบลู ดอต เน็ตเวิร์ก ยังเชื่อมโยงกับโครงการลงทุน “บิลด์ แบ็ก เบตเทอร์ เวิลด์” (Build Back Better World) หรือ “บีทรีดับเบิลยู” (B3W) ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่าง “จี 7” (G7) ที่สามารถเข้ามาลงทุนในบลู ดอต เน็ตเวิร์กได้ โดยทั้งหมดนี้จีนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ โครงการบีทรีดับเบิลยูเพิ่งเปิดตัวในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าในการลงทุนรวม 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกภายในปี 2035 โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งจีนครอบครองสัดส่วนการลงทุนที่สูงมากในเวลานี้