“ที่ปรึกษาฮุนเซน” เล็งปั้นซอฟท์พาวเวอร์ ชูการท่องเที่ยว “สายมู”

ดร.ซก ซกกรัดทะยา
ดร.ซก ซกกรัดทะยา (H.E. Dr. Sok Sokrethya) ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จอัครมหาเสนาบดี  นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา

รัฐมนตรีช่วยท่องเที่ยวกัมพูชา เดินหน้าผลักดันการระหว่างไทย-กัมพูชาผ่านซอฟต์พาวเวอร์ด้านความเชื่อ แย้มเตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชันเพื่อแรงงานเขมรต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ดร.ซก ซกกรัดทะยา (H.E. Dr. Sok Sokrethya) ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จอัครมหาเสนาบดี นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาในการประสานงานความร่วมมือด้านต่างๆ ได้ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ ถึงประเด็นความร่วมมือในระหว่างไทยกับกัมพูชา

โดยเฉพาะประเด็นด้านการท่องเที่ยว ดร.ซก เปิดเผยว่า ขณะนี้กัมพูชาได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว โดยไม่ต้องกักตัวภายใต้มาตรการต้องแสดงผลวัคซีนครบสองเข็ม และต้องมีผลการตรวจก่อนเดินทาง

ที่ปรึกษานายกฯฮุนเซน ซึ่งดูแลด้านการท่องเที่ยว กล่าวว่า ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศหยุดชะงักนั้น กัมพูชาได้ใช้โอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติชะงัก เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมใน 3 เมืองใหญ่อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ พนมเปญ เสียมราฐ และสีหนุวิลล์

ซึ่งขณะนี้การยกระดับปรับปรุงถนนสายสำคัญในสามเมืองดังกล่าวคืบหน้าเป็นอย่างมาก ที่เมืองสีหนุวิลล์ อันเป็นเมืองชายทะเลซึ่งเลื่องชื่อเรื่องกาสิโน่ถนนหนทางเสร็จสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวภายในปีหน้าแล้วเช่นกัน ส่วนที่เสียมราฐ ที่ตั้งของนครวัด คาดว่าจะเสร็จในช่วงไม่เกินสิ้นปีนี้

ดร.ซก เปิดเผยว่า ในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางถนนของ 3 เมืองท่องเที่ยวเสร็จอย่างสวยงาม พร้อมรับนักท่องเที่ยวในปีหน้า เหลือเพียงแค่สนามบินขนาดใหญ่ใหม่ 2 แห่ง สนามบินเสียมราฐซึ่งคาดว่าจะเสร็จกลางปีหน้า ส่วนสนามบินพนมเปญแห่งใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี “นอกจากสนามบิน เราจะมีมอเตอร์เวย์จากพนมเปญไปสีหนุวิลล์ จะเสร็จปี 2022 นี้เหมือนกัน”

ซอฟต์พาวเวอร์สายมู

“การไปเที่ยวกัมพูชาในปีหน้าเราไม่อยากได้ยินอีกแล้วว่า ไปกัมพูชาเพื่อไปบ่อนกาสิโน” ที่ปรึกษานายกฮุนเซนกล่าวว่า นอกจากกัมพูชาจะเป็นแหล่งการผลิตสำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้ว อีกหนึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทว่าที่ผ่านมารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติใหญ่อยู่ในบ่อนกาสิโน รัฐบาลกัมพูชาจึงมีแนวคิดผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผ่านการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีย์ ไปจนถึงความเชื่อในท้องถิ่น

“เราอยากให้ชาวไทยเที่ยวแบบวัฒนธรรมเก่าแก่ ศาสนา ความเชื่อ เช่นกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง ใกล้นครวัด หรือดูธรรมชาติอันสวยงามใกล้นครวัด ขณะเดียวกันเราอยากขุดนำเรื่องราวความเชื่อท้องถิ่นเก่า นำมาทำภาพยนตร์ ซีรีย์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

“ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบกัมพูชา” คือแนวคิดที่รัฐมนตรีช่วยการท่องเที่ยวของกัมพูชาเน้นย้ำเป็นพิเศษ โดยว่า ความเชื่อวัฒนธรรมท้องถิ่นสามารถนำมาขายเป็น “สินค้าท่องเที่ยวได้” อาทิ ผ้ายันต์ ของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นักท่องเที่ยวสามารถติดมือกลับมาบ้าน อีกสินค้าท่องเที่ยวอย่างหนึ่งคือเรื่อง “หมอดู” เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่า “หมอเขมร” ขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย

รวมถึงชาวเอเชีย รัฐบาลพนมเปญจึงมีแผนผุด “หมูบ้านหมอดู” ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อสร้างความแตกต่างและดึงดูนักเที่ยว”สายมู”จากชาติเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้พูดคุยกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจบันเทิงของไทย ซึ่งละครไทยเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชาอยู่แล้ว

ช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวจีนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางไปกัมพูชามากที่สุดถึงกว่า 40% ตามด้วยนักท่องเที่ยวยุโรป 30% ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยตามลำดับ โดยมีนักท่องเที่ยวไทยไปกัมพูชาในแต่ละปีกว่า 1 ล้านคน ดร.ซก วางแผนให้การใช้กลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบกัมพูชาดังกล่าว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไทยให้เป็น 1.5 ล้านคนในปี 2023 และ 3 ล้านคนในปี 2024 หรือตั้งเป้าผลักดันนักท่องเที่ยวไทยไปกัมพูชาให้ได้ 5 ล้านคน ภายใน 3 ปีข้างหน้า

แอพพลิเคชันเพื่อแรงงานกัมพูชา

ประเด็นแรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยนั้น ดร.ซก เปิดเผยว่าเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการมาเยือนไทยครั้งนี้ นอกเหนือด้านการท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้ รมช.ท่องเที่ยวกัมพูชาเผยว่า ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคาระพร้อมหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทย เกี่ยวกับการดูแลพี่น้องแรงงานกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทยช่วงการระบาดว่า

รัฐบาลพนมเปญได้ให้ความสำคัญใน 2 ส่วนคือ การฉีดวัคซีนแรงงานเขมรที่เดินทางกลับจากไทยไปยังบ้านเกิดอย่างครอบคลุมให้ได้มากที่ อีกทั้งลงนามใน MOU ร่วมกับรัฐบาลไทยในการเปิดโควต้านำแรงงานกัมพูชาให้เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น

อีกส่วนคือการดูแลแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งดร.ซก กล่าวว่า ในต้นปีหน้ารัฐบาลพนมเปญมีแผนเปิดตัวแอพพลิเคชันสำหรับแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการติดต่อประสานงานเรื่องต่างๆ ระหว่างเอกชนกัมพูชาด้วยกัน และกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องแรงงานของไทย โดยในส่วนนี้กัมพูชาได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานของไทยเป็นอย่างดี

เมื่อถามถึงแรงงานเถื่อนที่อยู่นอกระบบ ดร.ซก เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักของพี่น้องแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา ที่เดินทางเข้ามาไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย โดยหากพบแรงงานกัมพูชาที่ผิดกฎหมาย จะไม่มีการจับกุมเพื่อดำเนินคดีเหมือนสมัยก่อน เพียงแค่รายงานมายังกระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพร้อมที่จะสนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้ซึ่งอยู่อย่างผิดกฎหมายในไทยอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่ราว 1 ล้านคน ให้ได้รับการลงทะเบียนอย่างถูกต้องเพื่อสะดวกในการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ

เช่นเดียวกับแรงงานถูกกฎหมายที่มีอยู่ราว 1.1 ล้านคน ส่วนแรงงานที่มีแผนเดินทางเข้ามาทำงานในไทยในอนาคตจะต้องลงทะเบียนในแอพพลิเคชันนี้ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้หรือชุมชนดิจิทัลของแรงงานชาวเขมร ดร.ซก มั่นใจว่าแอพพลิเคชันนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนชาวกัมพูชาได้ 100%

“กัมพูชาขาดสินค้าไทยไม่ได้ ไทยขาดแรงงานกัมพูชาไม่ได้”

คือประโยคที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบระหว่างสองชาติอย่างเด่นชัดที่สุด ดร.ซก แสดงความเห็นว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีประเด็น “ดราม่า” ในหลายเรื่องระหว่างผู้ใช้งานสื่อโซเชียลชาวไทยและกัมพูชาโดยเฉพาะเรื่อง “วัฒนธรรมร่วม” ที่ปรึกษานายกฯฮุนเซน จึงประสงค์ให้ซอฟต์พาวเวอร์การท่องเที่ยวด้านความเชื่อ ตลอดจนการค้าชายแดนเสมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนสองชาติใหแน่นแฟ้นและเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น