สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวังเป็นหลัก ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ มากมาย ในขั้นตอนพิธีแต่ละขั้นตอนจะประกอบพิธี ณ พระที่นั่งต่าง ๆ หลายพระที่นั่งตามที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่ครั้งก่อน ๆ นอกจากนั้นยังมีบางขั้นตอนของพิธีที่ประกอบขึ้นนอกพระบรมมหาราชวังด้วย

ในโอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2325 ในพระบรมมหาราชวัง โดยไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา

ภายในวัดประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญ ได้แก่ พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ปราสาทพระเทพบิดร ประดิษฐานพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ พระอัษฎามหาเจดีย์ พระระเบียงคดเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่สำคัญคือ พระอุโบสถเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และรัฐพิธีทางพระพุทธศาสนา อาทิ ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ปราสาทพระเทพบิดร

ตั้งอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ยอดปราสาททรงปรางค์ประดับกระเบื้องเคลือบสีทั้งหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2398 เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระราชทานนามว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงอัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองของรัชกาลที่ 4 มาประดิษฐานเป็นประธาน ถึงปลายรัชกาลเกิดเพลิงไหม้เครื่องบนหลังคาปราสาทและพระเจดีย์กาไหล่ทองจนหมดสิ้น เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จบริบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ 5 พระองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า “ปราสาทพระเทพบิดร” จากนั้นรัชกาลต่อ ๆ มาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ประดิษฐานเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน คือ พระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 8

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร

หมู่พระมหามณเฑียร

เป็นเรือนหลวงหลังคาทรงจั่ว มีช่อฟ้า หน้าบัน ปลูกเชื่อมต่อกัน สร้างเมื่อพุทธศักราช 2328 ประกอบด้วย พระที่นั่ง 3 องค์ พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และหอ 2 หอ คือ หอพระเจ้า และหอพระธาตุมณเฑียร

เดิมพระที่นั่งทั้ง 3 องค์ มีนามรวมกันว่า “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแยกเป็นองค์ ๆ ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหสูรยพิมาน ต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานนามพระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้ายว่า “พระที่นั่งเทพสถานพิลาส” และ “พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล” ส่วนหอพระเจ้าภายหลังเปลี่ยนนามเป็น “หอพระสุลาลัยพิมาน”

ในอดีตหมู่พระมหามณเฑียรนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่เสด็จออกขุนนางเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นมณฑลพิธีประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์และเป็นมณฑลพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง แบ่งออกเป็น 3 หลัง คือ องค์กลาง องค์ตะวันออก และองค์ตะวันตก มีเฉลียงรอบและมีเสานางเรียงรับชายคาโดยรอบทั้ง 4 ด้าน

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ผนังทิศตะวันออกมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ส่วนผนังด้านทิศตะวันตกมีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น)

พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสถานที่ทรงรับน้ำอภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสง ราชศัสตราวุธในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

หอพระธาตุมณเฑียร

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ต้นพระบรมราชจักรีวงศ์) พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 พระอัฐิสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1-2 และสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 3

หอพระธาตุมณเฑียรมีลักษณะก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยม กว้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร ยกพื้นสูง 3 เมตร มีมุขกระสันเชื่อมต่อระหว่างพระธาตุมณเฑียรกับด้านสะกัดของพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางทิศตะวันตก

หอพระสุลาลัยพิมาน

บางแห่งเขียนเป็น หอพระสุราลัยพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เดิมเรียก หอพระเจ้า มีมุขกระสันเชื่อมระหว่างหอพระสุลาลัยพิมานกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุเพื่อทรงสักการบูชา ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปต่าง ๆ

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญของบ้านเมือง เช่น เสด็จออกขุนนาง เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และด้านหน้าพระที่นั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

หอศาสตราคม

เป็นหอขนาดเล็กหลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสี อยู่ริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก เดิมเป็นพระที่นั่งโถงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งแล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้นสำหรับให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายมาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อถวายพระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ และสรงเป็นประจำวัน ตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กรุงเทพมหานครได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคม นำไปรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่าง ๆ สำหรับถวายในพระราชพิธีครั้งนี้

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นระหว่างหมู่พระมหามณเฑียรกับหมู่พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เดิมประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 11 องค์ ปัจจุบันเหลือเพียง 4 องค์ พระที่นั่งที่สำคัญที่สุด คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างเมื่อพุทธศักราช 2419 เพื่อเป็นท้องพระโรง ลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น และมีพระที่นั่ง 3 องค์ เชื่อมต่อกัน ชั้นบนพระที่นั่งองค์กลางเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 ท้องพระโรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระแท่นพุดตานถม ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เป็นที่เสด็จออกรับทูตานุทูตที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พระที่นั่งองค์เดิมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคาร 2 ชั้นแบบตะวันตก มีเฉลียงต่อกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ต่อมาในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อและสร้างใหม่ เพื่อขยับขยายพื้นที่จัดเลี้ยงและรับรองพระราชอาคันตุกะและแขกสำคัญของบ้านเมือง

ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีผสมตะวันตก หน้าบันประดับพระบรมราชสัญลักษณ์จักรีล้อมด้วยสังวาลนพรัตน์ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 โดยมีบันไดเลื่อนเชื่อมไปยังท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2549 และได้ใช้ในงานพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ พร้อมทั้งบุคคลสำคัญ เนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 เป็นครั้งแรก

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นที่พระราชทานเลี้ยงคณะทูตานุทูต

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางทางฝั่งตะวันตก ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ ต่อมาเป็นที่ตั้งพระบรมศพพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระอัครมเหสี และพระศพพระบรมวงศ์บางพระองค์

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงรูปจัตุรมุข หลังคาทรงปราสาท มุขเด็จด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นมุขโถง มีพระที่นั่งบุษบกมาลาตั้งอยู่กลางมุขเป็นที่สำหรับเสด็จออกมหาสมาคม หรือเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนราบใหญ่จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อถวายบังคมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนกำแพงแก้วระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งลักษณะพลับพลาโถงทรงปราสาทจัตุรมุข มีบันไดขึ้นลงทั้ง 4 ด้าน เคยใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ และใช้เป็นพลับพลาสำหรับประทับพระราชยานรับส่งเสด็จ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคด้านทิศตะวันออกและตะวันตกจึงมีเกยสำหรับประทับพระราชยาน

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นที่ประทับพระราชยานในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถงทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท พุทธศักราช 2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ ท้องพระโรง เพื่อให้ผู้นำศาสนา และผู้แทนคณะพาณิชย์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และเสด็จออก ณ สีหบัญชร เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 5

เป็นพระบรมรูปที่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า คหบดีและประชาชนร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย “สมเด็จพระปิยมหาราช” ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ในมหามงคลสมัยที่ทรงครองสิริราชสมบัติ 40 ปี เมื่อพุทธศักราช 2451

พระบรมรูปทรงม้านี้ ช่างหล่อชาวฝรั่งเศสแห่งบริษัท ซูซ แฟรส์ ฟองเดอร์ (Susse Freres Fondeur) หล่อด้วยโลหะชนิดบรอนซ์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูปคราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พระบรมรูปสำเร็จเรียบร้อยและส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ทางเรือเมื่อพุทธศักราช 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานพระราชวังดุสิต

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต

 

ปฐมบรมราชานุสรณ์

ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร เมื่อพุทธศักราช 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภกับรัฐบาลในการสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ในโอกาสกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ 150 ปี ในพุทธศักราช 2475 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปฐมบรมกษัตริย์ พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เรียกว่า “ปฐมบรมราชานุสรณ์”

เป็นราชประเพณีสืบมาที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพานพุ่ม เพื่อถวายราชสักการะพระบรมรูป ในวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์


วัดบวรนิเวศวิหาร

เดิมเป็นที่ตั้งของวัด 2 วัด ประกอบด้วย วัดรังษีสุทธาวาส และวัดใหม่ หรือวัดวังหน้า ครั้นเมื่อพุทธศักราช 2397 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้รวมวัดทั้งสองเข้าด้วยกัน และพระราชทานนามวัดเป็น วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะทรงพระผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัดได้ตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรก

วัดบวรนิเวศวิหารนี้ รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ประทับจำพรรษาขณะทรงพระผนวช รัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวชและประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ประทับจำพรรษาขณะทรงพระผนวช เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์ 4 พระองค์

ภายในวัดมีแผนผังศาสนสถานตามอย่างสมัยรัตนโกสินทร์ คือ มีพระเจดีย์เป็นประธาน มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นอาคารประกอบหลัก มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยผสมจีนตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ ภายใต้พุทธบัลลังก์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินสีห์ และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9

 

 

 

 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 โดยมีพระมหาเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัด ส่วนพระอุโบสถ พระวิหารตั้งอยู่รอบข้างเชื่อมถึงกันด้วยระเบียงคดรอบพระเจดีย์ ภายในพระอุโบสถและพระวิหารประดับตกแต่งตามแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมตะวันตก มีพระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ภายใต้พุทธบัลลังก์ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 และพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ชานกำแพงด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งสุสานหลวงบรรจุพระสรีรางคารพระบรมวงศานุวงศ์

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชมาแล้ว 2 พระองค์ และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธอังคีรส และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 และพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าในสมัยอยุธยา ชื่อวัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม พระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ขยายอาณาเขตพระอารามด้านทิศใต้และทิศตะวันตก รวมถึงจารึกความรู้สรรพวิชาการไว้ตามเสาศาลารายโดยรอบ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้บูรณะ แล้วทรงเปลี่ยนสร้อยนามพระอารามเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระอารามแห่งนี้มีสิ่งสำคัญประกอบด้วย พระอุโบสถเก่า พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล และประติมากรรมรูปฤๅษีดัดตน ใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 1


วัดสุทัศนเทพวราราม

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ตรงพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมชุมชนและศูนย์รวมศาสนสถานทั้งพุทธและพราหมณ์กลางพระนคร แผนผังเขตพุทธาวาสจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ พระวิหารหลวงประดิษฐานพระศรีศากยมุนี หรือหลวงพ่อโต ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย ชุกชี (ฐานพระพุทธรูป) ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 8

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ และเรื่องในวรรณคดี ด้านหน้าพระอุโบสถมีสัตตมหาสถาน หรือสัญลักษณ์แสดงสถานที่พระพุทธองค์ประทับภายหลังการตรัสรู้ 7 แห่ง ด้วยความสำคัญของสถานที่ตั้งและคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนเทพวรารามจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เป็นสถานที่เสกน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก

 

วัดอรุณราชวราราม

เดิมชื่อวัดมะกอก สร้างในสมัยอยุธยา ปฏิสังขรณ์สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้ง และเปลี่ยนเป็นวัดอรุณราชวราราม หลังการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 วัดนี้มีศาสนสถานสำคัญ คือ พระปรางค์ที่สร้างมาแต่รัชกาลที่ 2 และสร้างเพิ่มเติมแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ได้มีการฉลองในรัชกาลที่ 4

พระปรางค์ประธานขนาดใหญ่สูง 81 เมตร มีพระปรางค์องค์เล็กและมณฑปประจำทิศทั้ง 4 ทั้งหมดมีสีขาวประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องสีงดงามยิ่ง พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามว่า พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก ที่หน้าพระประธานประดิษฐานพระอรุณ หรือพระแจ้ง ศิลปะล้านช้าง อัญเชิญมาไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ในปัจจุบันพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศไทย และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

 

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก