ความรู้ 7 ข้อ จากนิทรรศการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ศูนย์ภาพมติชน : ภาพ

ก่อนจะได้ชมความสวยงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เป็นการดีสำหรับคนที่สนใจอยากมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สามารถไปหาข้อมูลกันได้ในนิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม-11 พฤศจิกายน 2562 ณ ท้องสนามหลวง

นิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแบ่งพื้นที่จัดงานเป็น 4 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 “เถลิงถวัลยราชสมบัติ สยามรัฐสีมา” มีรูปแบบการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ได้แก่

ห้องที่ 1 “มหามงคลสมัยพระขวัญไผทเถลิงรัช” จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีเนื้อหาและภาพพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์และการแสดงมหรสพสมโภชทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านจอแอลอีดีและแท่นอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา รวมทั้งห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ e-Book สำหรับสืบค้นและศึกษาข้อมูลภาษาไทยและอังกฤษ

ห้องที่ 2 “นิรมิตเรืองนทีเถลิงหล้า” จัดแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสม นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความสุขของคนไทยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ โดยการฉายภาพ 3 มิติ บนจอแอลอีดี วิชวล พาโนรามา ความยาว 40 เมตร ประกอบการแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคด้วยเรือพระราชพิธีจำลอง 52 ลำ จัดรูปขบวนตามแบบแผนสืบมาแต่โบราณ ประกอบเสียงกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม ชุดนิรมิตเรืองนทีเถลิงหล้า รอบปกติวันละ 3 รอบ ในเวลา 16.00 น., 18.00 น. และ 20.00 น. รอบพิเศษสำหรับหมู่คณะ เวลา 10.00 น., 12.00 น. และ 14.00 น.

ห้องที่ 3 “ขบวนนาวาอารยศิลป์แผ่นดินสยาม” จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับขบวนพระยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน โดยนำเสนอภาพขบวนเรือผ่านจอแอลอีดี รวมทั้งกาพย์เห่เรือ จำลองภาพเรือ 52 ลำ ประกอบคำบรรยาย พร้อมทั้งจัดแสดงเครื่องดนตรีประกอบการเห่เรือ และหุ่นแสดงเครื่องแต่งกายของพนักงานประจำเรือ

 

ส่วนที่ 2 “ศรีศุภยาตรา ปวงประชารวมใจถวายพระพร” จัดแสดงเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ประกอบการแสดงเห่เรือจากกองทัพเรือ รวมทั้ง มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจาก 4 ภูมิภาค และการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ การแสดงละครนอก ละครใน โดยนักแสดงจากกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดแสดงวันละ 2 รอบ เวลา 18.30-20.00 น. และเวลา 20.30-22.00 น.

ส่วนที่ 3 “ม่านธาราลือขจรเฉลิมราชย์องค์ราชัน” จัดแสดงม่านน้ำประกอบแสง สี เสียง เฉลิมพระเกียรติฯ นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตคนไทยกับสายน้ำที่ผูกพันมาอย่างยาวนาน และความวิจิตรตระการตาของโขนเรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ผ่านเทคนิคม่านน้ำ

ส่วนที่ 4 “เอมอิ่มสุขสันต์ครบครันสำรับไทย” จำหน่ายสุดยอดอาหารไทยเลิศรสจากร้านที่มีชื่อเสียง โดยเปิดจำหน่ายเวลา 11.00-20.00 น.

และต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างองค์ความรู้ 7 ข้อเกี่ยวกับขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เรียบเรียงมาจากนิทรรศการนี้

1.การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งแรกในรอบ 93 ปี

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 93 ปี การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งก่อนหน้านี้จัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2469) ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 17 ครั้ง แต่เป็นการจัดขึ้นเพื่อเสด็จฯไปถวายผ้าพระกฐิน และโอกาสอื่น ๆ ตลอดรัชสมัยไม่ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

2.ความหมายและนัยของ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค”

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ ขบวนเรือพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยการยกกองทัพไปทางเรือ เป็นสัญลักษณ์แห่งแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร แสดงถึงบุญญาธิการ พระราชอำนาจ และบารมีอันสูงส่งของสมเด็จพระมหากษัตริย์ ส่วนในเวลาว่างศึกสงคราม พระมหากษัตริย์มักโปรดใช้ขบวนเรือ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เช่น ถวายผ้าพระกฐิน หรือเสด็จฯนมัสการพระพุทธบาท โดยถือว่าเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพลไปด้วย

ในปัจจุบันขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของไทย ทางด้านศิลปะและประเพณี วัฒนธรรมอันเก่าแก่ และสถาบันพระมหากษัตริย์

3.การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง

ตามหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลพบว่า ในสมัยอยุธยาตอนต้นมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรอยุธยา

4.กรุงรัตนโกสินทร์รับเรือพระราชพิธีมาจากกรุงธนบุรี 67 ลำ

ในหนังสือประวัติศาสตร์เรือรบไทยอธิบายไว้ว่า เรือพระที่นั่งทรงประเภทต่าง ๆ ที่ปรากฏชื่อในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นมีจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมรดกสืบทอดต่อมาจากรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ผู้ทรงกอบกู้เอกราชสยามจากพม่า และรับสั่งให้เร่งสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่ในรัชกาลของพระองค์ จำนวน 67 ลำ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งสวัสดิชิงชัย เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล เรือพระที่นั่งบัลลังก์จักรพรรดิ เรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ และเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เป็นต้น

5.ในครั้งนี้มีการแต่งบทเห่เรือขึ้นใหม่ 3 บท

บทเห่เรือในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ จำนวน 3 องก์ ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือ และบทชมเมือง โดยนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประพันธ์ นาวาเอกณัฏวัฒน์ อร่ามเกลื้อ เป็นผู้เห่เรือ

6.ขบวนเรือ 52 ลำ แบ่งเป็น 3 สาย 5 ริ้ว

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกอบด้วยเรือ 52 ลำ แบ่งออกเป็น 3 สาย 5 ริ้ว ได้แก่ 1.ริ้วสายกลาง เป็นริ้วสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ เรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือแตงโม (เรือกลองใน) เรือตำรวจ 3 ลำ และเรือแซง 1 ลำ 2.ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วย เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก 3.ริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ และเรือแซง 6 ลำ แบ่งเป็นริ้วละ 14 ลำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

7.หน้าที่ของเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลหน้าที่ของเรือพระที่นั่งในครั้งนี้ว่า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ทำหน้าที่อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรงสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพลับพลาเปลื้องเครื่องก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯไปประทับเรือพระที่นั่งทรง และเป็นเรือพระที่นั่งทรงสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งรอง มีหน้าที่เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนเรือพระที่นั่งทรง

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

 


อ่านข้อมูลเรือทั้งหมดได้ที่นี่