ม.รังสิต-สภาผู้บริโภค จับมือ 9 มหา’ลัย สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อคุ้มครองผู้บริโภค

มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา 9 แห่ง เปิดเวทีโชว์ผลงานนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ ‘คุณเสียหาย เพื่อนพร้อมชน’ กระตุ้นผู้บริโภคปกป้องสิทธิตัวเอง พร้อมผลักดันแนวทางเชิงนโยบายในอนาคต

วันที่ 28 เมษายน 2566 ณ ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดแสดงนิทรรศการ ‘คุณเสียหาย เพื่อนพร้อมชน’ ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วยฝีมือคนรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติติการ ‘ค่ายพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนรุ่นใหม่’ โดยนักศึกษาจาก 10 สถาบันชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เป็นโครงการจากการรวมพลังสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ได้ริเริ่มผลิตสื่อสะท้อนประเด็นปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ เพราะถึงแม้ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยจะได้รับการยอมรับโดยมีการสถาปนาให้วันที่ 30 เมษายนของทุกปีถือว่าเป็น ‘วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย’ แต่กลับมีปัญหาเอาเปรียบผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโฆษณาเกินจริง เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สารอันตราย ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง จนถึงเรื่องบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชนที่มีบริการไม่เอื้อต่อผู้บริโภคและราคาที่ไม่เป็นธรรม หรือเรื่องของค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นสูงจนกระทบกับรายจ่าย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค เป็นต้น

ดึงพลังเยาวชนสร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภค

“ตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงปัญหาผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม มาจากข้อมูลเรื่องร้องเรียนของสำนักงานสภาผู้บริโภค และเครือข่ายขององค์กรสมาชิกทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงเดือนมีนาคม 2566 มีเรื่องร้องเรียนถึง 22,834 เรื่อง ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาผู้บริโภคอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ ก็คือการสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคต” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าว

ช่วงปีที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้มีโอกาสทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการฯ กับน้องๆ นักศึกษาและคณาจารย์ 10 สถาบันการศึกษา พบว่าทุกคนล้วนเคยมีปัญหาในฐานะผู้บริโภคทั้งสิ้น ในบางพื้นที่ก็ยังไม่มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่จะเป็นจุดรับเรื่องร้องเรียน โครงการนี้จะทำให้นักศึกษาในพื้นที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยกันคุ้มครองผู้บริโภคโดยเริ่มจากตนเองไปสู่คนใกล้ตัวอย่างเพื่อนและครอบครัว ก่อนจะขยายไปยังสังคมรอบข้าง

ขณะเดียวกัน ทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิตก็เป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สื่อ แนะจุดประกายไอเดียใหม่ๆ จนกระทั่งได้ผลงานสื่อสร้างสรรค์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคจำนวน 100 ชิ้นงาน ส่วนหนึ่งได้คัดเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘คุณเสียหาย เพื่อนพร้อมชน’ นำเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การขนส่งและยานพาหนะ, อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพ โดยมีนักศึกษาตัวแทนของสถาบันทั้ง 10 แห่งมาบอกเล่าที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างน่าชื่นชม

“เราหวังว่าผลงานของน้องๆ นักศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ จะสะท้อนให้สังคมไทยมองเห็นและตระหนักว่า ปัญหาผู้บริโภคเป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่ได้รับชมสื่อเหล่านี้ ได้รู้สิทธิของตัวเองในฐานะผู้บริโภค ได้รับรู้ว่าเมื่อพบเจอปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภค จะต้องร้องเรียนที่หน่วยงานใด ซึ่งทุกเสียงของผู้บริโภคสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ ที่สำคัญคือโครงการนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคสู่คนรุ่นใหม่ หรือเกิดกระบวนการนักศึกษาที่เข้มแข็งที่จะเป็นผู้แทนผู้บริโภคในอนาคตได้” เลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าวย้ำ

เปิดพื้นที่อวดไอเดียนักศึกษา

ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายแนวคิดในการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า เป็นการบูรณาการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการค่ายพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนรุ่นใหม่ ร่วมกับรายวิชา RSU160 รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 550 คน จากหลากคณะหลายสาขาวิชา อาทิ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ คณะดิจิทัลอาร์ต วิทยาลัยศิลปศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี วิทยาลัยนิเทศศาสตร์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม เป็นต้น

“รายวิชา RSU160 รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล มีจุดเด่นจากแนวคิดหลักเพื่อการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ สมรรถนะ และการพัฒนาทักษะความรอบรู้เรื่องสื่อดิจิทัล ให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์สื่อเพื่อการขับเคลื่อนสังคมในมิติต่างๆ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพราะทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตได้เข้าใจถึงความเป็น ‘ผู้บริโภค’ และ ‘สิทธิผู้บริโภค’ และด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะส่งต่อความเข้าใจดังกล่าวผ่านโจทย์งานที่ตรงกับแนวคิดและเป้าหมายของรายวิชา โดยเฉพาะการนำไปใช้ได้จริง จากนำเสนอสู่สาธารณะ ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักศึกษาทุกคน”

“งานในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมดีๆ ที่น้องๆ ทั้ง 10 มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันสร้างสรรค์สุดยอดผลงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้บริโภคตามพันธกิจของสภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องดูแลผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอบคุณที่ให้ความไว้วางทีมงานมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเครือข่าย และถ่ายทอดผลงาน รวมถึงทุกมหาวิทยาลัยที่ช่วยกันทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จ มั่นใจอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสามารถจุดประกายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงประเด็นปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ และลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนได้อย่างแน่นอน”

ศลิษา ธรรมสุวรรณ กับ วาริ เผือกสม สองสาวตัวแทนจากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าถึงที่มาของผลงาน ‘วินไม่เอาเปรียบแน่นะวิ’ 1 ใน 6 ของผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในนิทรรศการ ‘คุณเสียหาย เพื่อนพร้อมชน’ ว่า เกิดจากทั้งคู่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกวัน เดินทางจากสถานีรถไฟฟ้ามาที่มหาวิทยาลัย หลายครั้งที่ถูกเอาเปรียบเรื่องเงินที่ต้องจ่าย รวมถึงความไม่ปลอดภัยเท่าที่ควรขณะเดินทาง เช่น ไม่มีหมวกกันน็อคสำหรับผู้โดยสาร หรือมารยาทในการขับขี่ ทั้งขับแทรก และขับบนฟุตบาท

“พฤติกรรมของมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหล่านี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค แล้วก็ไม่ได้มีเพียงเราที่พบ แต่ยังมีคนอื่น ทั้งนักเรียน เพื่อนๆ นักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชน ในกลุ่มจึงได้มีการปรึกษาและลงความเห็นกันว่าจะสร้างในรูปแบบแอนิเมชั่นเพื่อถ่ายทอดพฤติกรรมของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยหวังให้เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง รณรงค์เรื่องดังกล่าว เพราะการเดินทางไม่สามารถหลีกเลี่ยงบริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ ผู้บริโภคควรต้องได้รับความปลอดภัย และจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล”

ทั้งคู่ยังได้ถือโอกาสขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้น ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ทั้งในและต่างสถาบัน มีการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดความเป็นตัวเองบนพื้นฐานความถูกต้อง ตามแนวทางของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ว่า จะสร้างเยาวชนและคนรุ่นใหม่ให้ เป็นบัณฑิตที่เพียบพร้อมด้วยวิทยาการและเพียบพร้อมด้วยจริยธรรม