อู วิน มินต์ ชู 3 นโยบายหลัก ขับเคลื่อน ศก. “เมียนมา”

แม้ “อู วิน มินต์” จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่แห่งเมียนมา ตั้งแต่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่จะถือฤกษ์ดีวันที่ 9 พ.ค.นี้ ส่งสัญญาณในการบริหารจัดการประเทศ ด้วยการชู 3 นโยบายหลัก คือ มุ่งปฏิรูปการศึกษา การท่องเที่ยว และภาคการผลิต ผ่านเวที “การลงทุนในย่างกุ้ง”

สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจอีกครั้งของเมียนมา หลังจากที่ประธานาธิบดี วิน มินต์ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมสานต่อนโยบายให้มีความต่อเนื่อง โดย “อู เพียว มิน เต่ง” รัฐมนตรีประจำเมืองย่างกุ้ง และประธานคณะกรรมการการลงทุนในย่างกุ้ง (YRIC) กล่าวว่า การเมืองเมียนมาจะไม่กระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนใด ๆ โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจใหญ่อย่าง “ย่างกุ้ง” ที่ยังมีศักยภาพล้นเหลือ

ก่อนจะมีการเปิดเวที “Yangon Investment Forum” ในวันที่ 9 พ.ค. ที่โรงแรมโนโวเทล ย่างกุ้ง แม็กซ์ รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับใน 3 ประเด็น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว และการศึกษา จึงนับว่าเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลใหม่ที่มุ่งหวังจะยกระดับประเทศอย่างจริงจัง

“เมียว คาย อู” เลขานุการของ YRIC ระบุว่า ฟอรั่มนี้จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นอีก คาดว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติร่วมงานกว่า 300 ราย กับนักธุรกิจท้องถิ่นอีก 200 ราย ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการได้อนุมัติการดำเนินกิจการทั้งในภาคการผลิตและธุรกิจบริการอื่น ๆ แก่นักธุรกิจต่างชาติ 40 ราย เม็ดเงินลงทุนรวม 59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนักธุรกิจเมียนมาได้รับการอนุมัติ 9 ราย มูลค่าลงทุน 23,000 ล้านจ๊าต ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค.ปี 2017 ถึงวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยสร้างงานในย่างกุ้งได้ราว 22,000 ตำแหน่งงานเลขานุการ YRIC ระบุว่า ที่เด่นชัดที่สุดที่รัฐบาลใหม่เมียนมาจะยกเครื่อง คือ “ภาคการศึกษา” โดยคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (MIC) ได้อนุญาตให้ต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์การลงทุนได้เต็ม 100% และดำเนินการในโรงเรียนเอกชนในเมียนมาได้ มีเพียงเงื่อนไขให้ต้องออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหลักสูตรนานาชาติ

ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เมียนมา สตราทิจิก โฮลดิ้ง (Myanmar Strategic Holdings : MSH) ได้ลงทุนร่วมกับสถาบันการบริหารจัดการออสตันของสิงคโปร์ ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเอกชนแห่งใหม่ในนครย่างกุ้ง โดยเน้นหลักสูตรการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรม สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาการจัดการโครงการก่อสร้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ MSH ได้ประกาศแผนจะเปิดศูนย์สอนภาษาอังกฤษ “วอลล์สตรีต” แห่งที่ 3 ในนครย่างกุ้ง กำหนดเปิดตัวในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมตั้งเป้าว่าจะเปิดศูนย์สอนภาษาอีกราว 8-10 แห่งทั่วเมียนมา ภายในปี 2027 หลังจากที่รัฐบาลได้ขยายขอบเขตและข้อจำกัดในภาคการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการเมียนมา เปิดเผยว่า จำนวนโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินการในประเทศขณะนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีเพียงกว่า 50 แห่งในปี 2013 ขยับเพิ่มเป็น 585 แห่งในปี 2017 และคาดว่าในปี 2020 จำนวนโรงเรียนเอกชนจะเพิ่มขึ้นเป็น เกือบ 1,000 แห่ง

สอดคล้องกับรายงานของ”อ็อกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป” ที่ระบุว่า ระหว่างปี 2015-2016 ทางการเมียนมาใช้จ่ายในด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว อยู่ที่ 700,000 ล้านจ๊าต

ปี 2016-2017 ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 85.7% ที่ 1.7 ล้านล้านจ๊าต คาดการณ์ว่างบประมาณในปี 2017-2018 การใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปด้านการศึกษามีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกันกับช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ภาค “การท่องเที่ยว” รัฐบาลเมียนมายังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยจะเน้นที่การท่องเที่ยวเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลได้กำหนดจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระยะสั้น หรือ ระยะทดลอง 15 แห่ง สำหรับการท่องเที่ยวในชุมชนขนาดเล็กในรัฐต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชนมากขึ้น เช่น ทะเลสาบอินดอร์จี (Indawgyi) ในรัฐคะฉิ่น หนึ่งในทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, หมู่บ้าน Panpet และ Tanilalae ในรัฐกะยา และเจดีย์ภูเขา Lwenwe ในเมืองยองชเว (Nyaungshwe) ในรัฐฉาน เป็นต้น

ขณะเดียวกันอยู่ในกระบวนการขออนุมัติจากรัฐบาลภูมิภาคและอำนาจในแต่ละรัฐที่จะร่วมตัดสินใจ เพื่อให้กระทรวง โรงแรม และการท่องเที่ยว สามารถปฏิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรัฐต่าง ๆ ได้อย่างชอบธรรม

สำหรับ “อุตสาหกรรมการผลิต” รัฐบาลกลางเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของเมียนมา ได้แก่ ข้าว เมล็ดกาแฟ และยางพารา โดยกฎระเบียบจะเปิดกว้างในเรื่องการยกเว้นภาษีสำหรับบริษัทที่เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับคนท้องถิ่น และส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบของการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น

“ฟอรั่มครั้งนี้ นอกจากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท รวมถึงการลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคที่ผ่านมาแล้ว นักธุรกิจจะรับทราบเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับ การยกเว้นภาษีต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายตามความต้องการของรัฐบาล” เพียว มิน เต่ง ประธานคณะกรรมการการลงทุนในย่างกุ้งกล่าว