“มาลัยเงิน” ของขวัญทรงคุณค่าผู้นำอาเซียน

“มาลัยเงิน” ของขวัญผู้นำอาเซียนฝีมือครูช่างศิลปหัตถกรรมของ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ” มากกว่าความงดงาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ปีนี้ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน มีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20 – 23 มิ.ย. 2562 ที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability)

โดยมีผู้นำและคณะจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนามและ ไทย ร่วมหารือเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคตร่วมกัน คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการเพื่อเตรียมจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ได้คัดเลือกของขวัญที่จะมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้นำอาเซียนและคู่สมรส หนึ่งในนั้นคือ “มาลัยเงิน” ผลงานของครูช่างศิลปหัตถกรรมของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า มาลัยเงิน ซึ่งคัดสรรเพื่อมอบแก่ผู้นำอาเซียน สร้างสรรค์โดย ครูนฤมล ทอนใจ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก และเชิดชูจาก SACICT ให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องประดับเงิน) สำหรับชิ้นงาน “มาลัยเงิน” ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก พวงมาลัยถวายพระ ซึ่งแสดงออกถึงจิตคารวะ โดยพวงมาลัยมักถูกใช้ในวาระแห่งความเป็นมงคลและการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิต ซึ่งเป็นการสื่อความหมายที่ลึกซึ้งนอกไปจากความงดงามของภูมิปัญญา เทคนิคการทำที่ละเอียดประณีตบรรจงแล้ว ยังสอดคล้องกับตราสัญลักษณ์ของการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ และการร้อยเรียงดอกไม้ยังสะท้อนความหมายบ่งบอกถึงความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียน ที่มีความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในการช่วยเหลือเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยั่งยืน ดุจมาลัยเงินที่ไม่มีวันโรยรา

ครูนฤมล ทอนใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT ปี 2557 ประเภทเครื่องโลหะ กล่าวว่า วิธีการทำ “มาลัยเงิน” ทำด้วยวัสดุเงินแท้ ผ่านขั้นตอนที่สลับซับซ้อน การหลอมละลายด้วยอุณหภูมิสูงกว่าพันองศา และนำมาขึ้นรูปด้วยมือทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการเลียนแบบธรรมชาติ ในการเข้ากลีบดอกมะลิ ดอกรัก และดอกกุหลาบ ทั้งตัวพวงมาลัย และการทำช่ออุบะ ตามแบบของจริงทุกประการ จึงได้ออกมาเป็น มาลัยเงินที่มีความเหมือนจริง อ่อนช้อย ที่สะท้อนถึงทักษะ ฝีมือ องค์ความรู้ การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาพื้นถิ่นของช่างเครื่องเงินพื้นบ้าน อ.ธาตุพนม จ. นครพนม