“ยูเอ็น” ชี้ “เมียนมา” กำลังปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “โรฮีนจา”

REUTERS/Danish Siddiqui

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จัดประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับเมียนมาในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดปฏิบัติการทหาร ชี้นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า จากเหตุการณ์การปฏิบัติการทหารในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมา ที่ทำให้ชาวโรฮีนจาต้องอพยพหนีตายกว่าหลายแสนคนไปยังบังคลาเทศ คณะมนตรีความมั่นคงฯได้จัดประชุมขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้นานาชาติมองเห็นถึงความขาดซึ่งมนุษยธรรม

REUTERS/Denis Balibouse

สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น พร้อมด้วยสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้เมียนมายุติปฏิบัติการทางการทหารกับชาวมุสลิมโรฮีนจาทันที และให้องค์กรนานาชาติสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน พวกเขากล่าวว่า ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินการบางอย่างกับเมียนมาหากเมียนมาไม่ตอบสนองต่อการเรียกร้องในครั้งนี้

“พวกเราต้องไม่กลัวที่จะเรียกร้องต่อรัฐบาลเมียนมา ต่อสิ่งที่เขากระทำอย่างเลือดเย็น การกระทำที่ต้องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์หนึ่งในประเทศของตนเอง” นิกกิ ฮาร์เลย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ กล่าว พร้อมเสริมว่า สหรัฐได้ยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ถึงเวลาที่นานาชาติจะต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกดดันบ้าง และต้องเลิกขายอาวุธให้แก่เมียนมา

REUTERS/Stephanie Keith

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากจีนและรัสเซีย ได้ปกป้องเมียนมาว่า เมียนมากำลังสร้างเสถียรภาพในประเทศของตนเอง และเรียกร้องให้นานาชาติมีความเป็นกลาง อย่ากดดันหรือคว่ำบาตรรัฐบาลเมียนมา

“วาซิลี เนเบนซยา” เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เกิดขึ้นจากที่กองกำลังติดอาวุธของชาวโรฮีนจาเข้าโจมตีสถานีตำรวจในวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้รับบาลต้องเข้ามาจัดการ

REUTERS/Danish Siddiqui

ด้านที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา “ตวง ตัน” ได้กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงว่า รัฐบาลของเขาได้เผชิญปัญหาที่ยืดเยื้อมาก่อนหน้านี้แล้วในรัฐยะไข่ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่ถูกกล่าวหาแน่นอน

REUTERS/Stephanie Keith

ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ในวันพฤหัสที่ผ่านมา แต่รายงานข่าวระบุว่า การดีเบตที่เกิดขึ้นในสภาน่าจะได้สร้างควากดดันต่อนานาชาติ ว่าควรเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้บริสุทธิ์ในรัฐยะไข่