ผึ้งน้ำหวานรู้จัก “ปรุงยา” เลือกใช้น้ำผึ้งหลายชนิดรักษาโรคให้ตัวเอง

เชื่อหรือไม่ว่าน้ำผึ้งหอมหวานที่ได้รับการยกย่องเป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” หรือสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพในสมัยนี้ เพียงไม่กี่สิบปีก่อนถูกบรรดานักโภชนาการมองว่าไม่ต่างอะไรกับน้ำเชื่อมธรรมดา จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1990 เริ่มมีการค้นพบคุณประโยชน์หลากหลายของน้ำผึ้ง ซึ่งอุดมไปด้วยเอนไซม์ วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ

แม้แต่ผึ้งเองก็ยังรู้จักใช้น้ำผึ้งเป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผึ้งน้ำหวาน” (Honey bee) ซึ่งเป็นผึ้งในสกุล Apis และเป็นผึ้งชนิดเดียวที่สามารถผลิตน้ำผึ้งได้มากพอในเชิงพาณิชย์ พวกมันเลือกใช้ประโยชน์จากสารเคมีในพืชที่เรียกว่า Phytochemicals ที่ออกฤทธิ์ต่างกันไป แล้วแต่ว่าน้ำผึ้งนั้นจะเก็บมาจากดอกไม้ชนิดไหน

เมย์ เบเรนบอม นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตเออร์แบนา-แชมเปญ ของสหรัฐฯ บอกว่าผึ้งน้ำหวานได้รับประโยชน์ทางสุขภาพ จากการกินน้ำผึ้งหลากหลายชนิดที่มันหามาเก็บสะสมไว้ พวกมันมีอายุยืนขึ้น มีภูมิต้านทานการติดเชื้อและทนต่ออากาศหนาวเย็นสูงขึ้น เมื่อได้รับน้ำหวานและเกสรจากดอกไม้นานาพันธุ์

bee

ที่มาของภาพ, Getty Images

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งเน้นปลูกพืชทำเงินเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งในท้องถิ่น ทำให้ผึ้งน้ำหวานมีทางเลือกน้อยลงในการแสวงหาอาหารและปรุงยารักษาโรคของมันเอง

วิวัฒนาการกว่าร้อยล้านปีให้กำเนิดผึ้งน้ำหวาน

ผึ้งแยกสายวิวัฒนาการของมันออกจากตัวต่อ (Wasp) เมื่อราว 120 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคที่ไม้ดอกถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมากและแพร่ขยายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

นอกจากนี้ การที่ผึ้งเปลี่ยนพฤติกรรมจากการป้อนแมลงด้วยกันเป็นอาหารให้ตัวอ่อน มาเป็นการป้อนเกสรดอกไม้ให้แทน ทำให้ผึ้งมีวิวัฒนาการต่อไปโดยแยกเป็นกว่า 20,000 ชนิดพันธุ์ในทุกวันนี้

ผึ้งเริ่มมีพฤติกรรมผลิตและสะสมน้ำผึ้ง หลังจากรู้จักใช้น้ำหวานของดอกไม้ผสมลงในเกสรเพื่อปั้นเป็นก้อน ซึ่งจะง่ายต่อการขนกลับมาไว้ที่รัง หลังจากนั้นไม่นานผึ้งเริ่มมีวิวัฒนาการขั้นต่อไป โดยเกิดต่อมที่หลั่งขี้ผึ้งออกมา เพื่อนำมาช่วยสร้างรังที่สามารถเก็บน้ำหวานซึ่งเป็นของเหลว แยกออกจากเกสรดอกไม้ที่เป็นของแข็ง

Advertisment
bee keeper

ที่มาของภาพ, Getty Images

คริสตินา โกรซิงเกอร์ นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตของสหรัฐฯ บอกว่า “ขี้ผึ้งเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความยืดหยุ่นสูง รังผึ้งประกอบไปด้วยรูปทรงหกเหลี่ยมจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นการออกแบบวิศวกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการกักเก็บสิ่งต่าง ๆ เพราะมันเบียดชิดติดกันอย่างมาก”

ลักษณะของรังผึ้งยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง โดยเซลล์เล็ก ๆ รูปหกเหลี่ยมช่วยเพิ่มพื้นที่ผิว ทำให้ความชื้นระเหยไปได้เร็วและชะลอการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้เก็บรักษาน้ำผึ้งไว้ได้นาน

เมื่อผึ้งดูดน้ำหวานจากดอกไม้ น้ำหวานนั้นจะยังไม่ตกถึงท้องและกลายเป็นอาหารของผึ้งในทันที แต่จะถูกแยกไปเก็บไว้ในกระเพาะพิเศษ คลุกเคล้าผสมผสานกับเอนไซม์ที่เป็นประโยชน์หลายชนิด ตัวอย่างเช่นเอนไซม์อินเวอร์เทส (Invertase) ที่แบ่งครึ่งโมเลกุลน้ำตาลซูโครสให้สลายตัวกลายเป็นกลูโคสและฟรุกโตสในทันที โดยเอนไซม์นี้มาจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะเก็บน้ำหวานของผึ้ง

เมื่อกลับถึงรังผึ้งจะช่วยกันนำน้ำหวานไปเก็บ โดยส่งต่อกันแบบ “ปากต่อปาก” ทำให้น้ำแยกตัวออกมาจากน้ำผึ้งมากขึ้น มีเอนไซม์และสารยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์จากผึ้งแต่ละตัวผสมลงไปมากขึ้น เอนไซม์บางตัวอย่างกลูโคสออกซิเดส (Glucose oxidase) จะทำให้น้ำผึ้งเป็นกรดอ่อนและผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ช่วยฆ่าเชื้อออกมา แต่ก็จะมีเอนไซม์อีกส่วนที่ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดสารฆ่าเชื้อมากเกินไปจนเป็นพิษ

หวานเป็นยา

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร “นิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมและชีววิทยาเชิงสังคม” (Behavioral Ecology and Sociobiology) เมื่อปี 2014 พบว่าผึ้งน้ำหวานรู้จัก “ปรุงยา” รักษาความเจ็บไข้ของตนเอง โดยเลือกกินน้ำผึ้งที่มาจากดอกไม้หลากหลายชนิดให้เหมาะกับอาการของโรค

มีการทดลองให้ผึ้งน้ำหวานที่ป่วยด้วยอาการติดเชื้อราและแบคทีเรีย เลือกกินอาหารได้อย่างอิสระจากน้ำผึ้ง 4 ชนิด ผลปรากฏว่าผึ้งเลือกน้ำหวานที่มาจากดอกทานตะวันมากที่สุด ซึ่งน้ำผึ้งชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง

bee

ที่มาของภาพ, Getty Images

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ในวารสารวิชาการ Insects พบว่าผึ้งในห้องทดลองที่ได้รับน้ำหวานผสมสารประกอบ Phytochemicals จากพืชสองชนิด ซึ่งได้แก่กรด p-Coumaric และสารต้านอนุมูลอิสระ Quercetin สามารถทนทานต่อยาฆ่าแมลงได้ดี และมีอายุยืนยาวกว่าผึ้งที่ไม่ได้รับสารประกอบดังกล่าวเป็นอาหาร

นอกจากนี้งานวิจัยอื่น ๆ ยังพบคุณประโยชน์ของสาร Phytochemicals หลายชนิดจากพืช ซึ่งปะปนอยู่ในน้ำผึ้งในปริมาณสูง เช่นกรด  Abscisic acid  ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ภูมิคุ้มกันของผึ้ง ทำให้แผลหายเร็ว และช่วยผึ้งให้ทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดี ส่วนสารประกอบ Thymol จากต้นไธม์ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ ก็ช่วยรักษาผึ้งที่ติดเชื้อราโดยลดปริมาณสปอร์ของราลงได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

สารเคมีในน้ำผึ้งที่มีประโยชน์เหล่านี้ บางตัวยังช่วยยับยั้งโรค Foulbrood ซึ่งทำให้ตัวอ่อนของผึ้งป่วยและล้มตายยกรังได้ ส่วนสารอัลคาลอยด์ Anabasine ช่วยกระตุ้นการทำงานของยีนที่ผลิตโปรตีนต้านจุลินทรีย์ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการล้างพิษและสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย สารเคมีจากพืชในน้ำผึ้งบางชนิดยังช่วยเพิ่มปริมาณ รวมทั้งความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหารของผึ้งด้วย ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อปรสิตลงได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ผึ้งน้ำหวานในธรรมชาติและผึ้งเลี้ยงในปัจจุบัน ต่างได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถค้นหาและเก็บสะสมน้ำผึ้งที่มาจากดอกไม้หลากหลายชนิดได้ เนื่องจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และความนิยมในการปลูกพืชทำเงินเพียงชนิดเดียวในท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับว่าความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันและผลิตยารักษาโรคเองของผึ้ง ได้ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย

เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในสหรัฐฯ ต้องสูญเสียผึ้งในรังของตนไปถึง 45% ระหว่างเดือนเม.ย. 2020 – เม.ย. 2021 เนื่องจากโรคภัยและการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นสภาวการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับสอง หลังเริ่มมีการเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 2006

มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งเลือกทิ้งน้ำผึ้งหลากหลายชนิดไว้ในรังบ้าง เพื่อให้ผึ้งมี “คลังยา” ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้ตลอดปี นอกจากนี้ควรมีแผนส่งเสริมเกษตรกรในท้องถิ่นให้ปลูกพืชหลากหลายชนิด หรือแบ่งพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนให้เป็นป่า เพื่อที่พืชมีดอกนานาพันธุ์ในธรรมชาติจะได้งอกงามขึ้นเอง และเป็นแหล่งทรัพยากรให้ผึ้งน้ำหวานได้อาศัยหาอาหารและยารักษาโรคต่อไป

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว