โรฮิงญา : “ฆ่าเราเถอะ แต่อย่าส่งเรากลับไปเมียนมา”

  • ราชินี ไวเดียนาดาน
  • ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียใต้ บีบีซี

ช่วงเวลา 4 ปีหลังลืมตาดูโลก เป็นช่วงเวลาที่เปราะบางในชีวิตของยัสมิน เธอต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่รู้กระทั่งว่าตัวเองเป็นคนที่ไหนกันแน่

ยัสมินเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เธอไม่สามารถกลับไปยังหมู่บ้านของบรรพบุรุษในเมียนมาได้ และตอนนี้ห้องพักซอมซ่อในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย คือบ้านของเธอ

ไม่ต่างจากชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในเมียนมาหลายแสนคน พ่อและแม่ของยัสมินหนีตายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพเมียนมา ออกมาในปี 2017

หลายคนหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างบังกลาเทศและอินเดีย ในฐานะผู้ลี้ภัย

เด็กชาวโรฮิงญา

5 ปีผ่านไป ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งสหประชาชาติระบุว่าเป็นประชากรไร้รัฐ ไร้สัญชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก ยังคงมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

เรห์มัน พ่อของยัสมิน เคยเป็นนักธุรกิจในเมียนมา ในช่วงที่ทหารสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม เขาเป็นหนึ่งในชาวโรฮิงญา 700,000 คน ที่พากันอพยพออกไป

หลังจากเดินเท้าอยู่นานหลายวัน เรห์มันและมาห์มูดา ภรรยา ก็เดินทางไปถึงค่ายผู้ลี้ภัยในค็อกซ์ บาซาร์ พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศที่ใกล้กับพรมแดนที่ติดกับเมียนมา

ที่นี่ทั้งคู่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัด อด ๆ อยาก ๆ และยังชีพด้วยการรับปันส่วนอาหารที่องค์กรการกุศลต่าง ๆ บริจาค

ชายชาวโรฮิงญา

หนึ่งปีหลังจากที่ทั้งคู่เดินทางถึงบังกลาเทศ ยัสมินก็ลืมตาดูโลก

ที่ผ่านมารัฐบาลบังกลาเทศพยายามผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญากลับไปยังเมียนมา ผู้ลี้ภัยหลายพันคนถูกย้ายไปอยู่ที่เกาะบาซัน ชาร์ ซึ่งอยู่ไกลโพ้น ผู้ลี้ภัยเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะแห่งการจองจำ”

กราฟิก

เรห์มัน รู้สึกว่า การออกจากบังกลาเทศจะช่วยให้ลูกของเขามีอนาคตที่ดีขึ้น ดังนั้นในปี 2020 ขณะที่ยัสมินอายุได้เพียง 2-3 ขวบ ครอบครัวนี้ก็ข้ามพรมแดนเข้าไปในอินเดีย

องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหลายแห่งประเมินว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 10,000-40,000 คน อยู่ในอินเดีย หลายคนอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ปี 2012

หลายปีมาแล้ว ชาวโรฮิงญาอยู่กันอย่างเงียบ ๆ อยู่ที่นี่และแทบไม่ได้ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ขึ้น แต่หลังจากที่รัฐมนตรีของอินเดียคนหนึ่งทวีตข้อความในเดือนนี้ว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะได้รับการจัดหาที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองจากตำรวจ การอาศัยอยู่ในกรุงนิวเดลีของพวกเขาก็กลายเป็นข่าวพาดหัวใหญ่

บรรยากาศในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในกรุงนิวเดลีของอินเดีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา รัฐบาลพรรคภราติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party–BJP) ซึ่งปกครองอินเดีย ปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้เสนอสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่กลับเรียกพวกเขาว่า เป็น “ชาวต่างชาติที่ผิดกฎหมาย” ซึ่งควรจะถูกส่งตัวกลับ หรือส่งไปอยู่ตามศูนย์กักกันต่าง ๆ” แทน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้ครอบครัวชาวโรฮิงญาจำนวนมาก อย่างครอบครัวของเรห์มัน รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

“ดูเหมือนลูกของผมจะไร้อนาคตเสียแล้ว” เขาเอ่ยตอนนั่งลงบนเตียงไม้สภาพง่อนแง่นที่ไม่มีที่นอนวางอยู่

“รัฐบาลอินเดียไม่ต้องการเราเช่นกัน… แต่ผมอยากให้พวกเขาฆ่าเรามากกว่าส่งตัวเรากลับเมียนมา”

ไม่มีชาติไหนเต็มใจที่จะรับชาวโรฮิงญาหลายแสนคน สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ของบังกลาเทศ กล่าวกับมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า ผู้ลี้ภัยในประเทศของเธอต้องกลับไปยังเมียนมา

แต่สหประชาชาติ ระบุว่า การทำเช่นนั้นจะทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ปลอดภัย เพราะรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งถูกกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2021

ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนดิ้นรนด้วยการนั่งเรือออกทะเลที่เต็มไปด้วยอันตรายไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อหนีความโหดเหี้ยมอำมหิตของรัฐบาลทหารเมียนมา ขณะที่จำนวนผู้ลี้ภัยในค่ายต่าง ๆ ในบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นจนเกือบแตะ 1 ล้านคน ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก ๆ

เช่นเดียวกับเรห์มัน โคติซา เบกุม ที่หนีออกมาจากเมียนมาในเดือน ส.ค. 2017 ครอบครัวของเธอต้องเดินเท้านาน 3 วัน โดยไม่มีเสบียงอาหาร

เธอและลูก ๆ 3 คน อาศัยอยู่ในห้องเดี่ยวในค่ายแห่งหนึ่งในค็อกซ์ บาซาร์ หลังคาห้องคลุมด้วยพลาสติก ซึ่งไม่ได้ช่วยกันน้ำฝนในช่วงมรสุมได้สักเท่าไหร่

ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

ความน่าสยดสยองของสิ่งที่เธอหนีจากมาในประเทศบ้านเกิดยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของเธอ

“ทหารเข้ามาในบ้านของเราและทำร้ายเรา พวกเขากราดยิง เราวิ่งหนี เด็ก ๆ ถูกจับโยนลงในแม่น้ำ พวกเขาฆ่าทุกคนที่ขวางหน้า”

ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในค่ายผู้อพยพ โคติซา ต้องพึ่งพาการปันส่วนอาหารจากองค์กรเอกชนและองค์กรการกุศลต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นอาหารธรรมดาอย่างถั่วและข้าว

“ฉันไม่สามารถหาอาหารที่ลูก ๆ อยากกินได้ ฉันไม่สามารถหาเสื้อผ้าดี ๆ ให้ลูกได้ ฉันไม่สามารถพาลูกไปหาหมอได้” เธอกล่าว

โคติซา เล่าว่า บางครั้งเธอขายส่วนแบ่งอาหารที่ได้รับเพื่อนำเงินไปซื้อปากกาให้ลูก ๆ ใช้เขียนหนังสือ

จากการประเมินของสหประชาชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าการตัดลดเงินช่วยเหลือของนานาชาติ เป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือกลุ่มประชากร “ที่พึ่งพิงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อการอยู่รอด”

สหประชาชาติ ระบุว่า ผู้ลี้ภัยยังคงต้องดิ้นรนให้ได้รับอาหารที่มีโภชนาการ, มีที่พักพิงที่พอเพียง มีสุขอนามัย และโอกาสในการทำงาน

 

การศึกษาหนึ่งในเรื่องที่โคติซาให้ความสำคัญ เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีความกังวลว่า การขาดการศึกษาที่เหมาะสมจะทำให้เกิดคนรุ่นที่หายไป

“เด็ก ๆ ไปโรงเรียนทุกวัน แต่ไม่มีพัฒนาการใด ๆ เลย ฉันไม่คิดว่าลูก ๆ ได้รับการศึกษาที่ดี” โคติซา กล่าว

เด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในค็อกซ์ บาซาร์ ได้รับการศึกษาตามหลักสูตรของเมียนมา ประเทศบ้านเกิดของพวกเขา ซึ่งไม่ใช่หลักสูตรที่มีการสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ในบังกลาเทศ

แม้ว่าผู้สนับสนุนโครงการนี้บอกว่า เป็นการเตรียมพร้อมให้นักเรียนกลับไปสู่แผ่นดินเกิดในสักวันหนึ่ง แต่หลายคนเกรงว่า นี่คือวิธีป้องกันประชากรผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไม่ให้หลอมรวมเข้ากับชาวบังกลาเทศ

“ถ้าเขาได้รับการศึกษา พวกเขาก็จะมีชีวิตที่สวยงามได้ พวกเขาจะสามารถหารายได้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข” โคติซา เชื่อเช่นนั้น

เรห์มันซึ่งอยู่ในกรุงนิวเดลีก็รู้สึกเช่นเดียวกัน

“ผมฝันถึงการให้เธอได้รับการศึกษาที่เหมะสม และมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผมไม่สามารถทำได้” เรห์มันพูดขณะอุ้มลูกสาววัย 4 ขวบไว้ในอ้อมแขน

5 ปีมาแล้ว ที่ชาวโรฮิงญาต้องหนีภัยการประหัตประหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเขายังคงหวังว่า จะได้รับความยุติธรรมในคดีที่มีการฟ้องร้องกองทัพเมียนมา ซึ่งยังคงรอคอยการไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)

แต่ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาฝันว่า จะสามารถเดินทางกลับบ้านได้

แต่กว่าจะทำได้อย่างปลอดภัยนั้น ผู้ลี้ภัยอย่างเรห์มันกำลังวิงวอนชาวโลกให้ช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจพวกเขามากขึ้น

“ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อมาลักขโมย ผมมาที่นี่เพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว