พาร์กินสัน : นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวิธีตรวจโรค ด้วยความช่วยเหลือของหญิงที่บอกอาการสามีจากการดมกลิ่นตัว

  • เอลิซาเบธ ควิกลีย์
  • บีบีซี สกอตแลนด์

หญิงในสกอตแลนด์ที่ตรวจจับกลิ่นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) จากสามีได้ก่อนหน้าที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรคนี้กว่าสิบปี ใช้ความสามารถพิเศษนี้ช่วยนักวิทยาศาสตร์พัฒนาอุปกรณ์ตรวจที่ใช้ได้รวดเร็วและให้ผลแม่นยำ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษได้คิดค้นวิธีตรวจแบบใหม่ซึ่งพวกเขาระบุว่าสามารถตรวจจับโรคพาร์กินสันได้ภายใน 3 นาที

Joy first detected the odour on her husband Les, who was diagnosed with Parkinson's at the age of 45

ที่มาของภาพ, PArkinson’s UK

ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนางจอย มิลน์ พยาบาลเกษียณจากเมืองเพิร์ธ ประเทศสกอตแลนด์

จอย วัย 72 ปี รับรู้ถึงกลิ่นผิดปกติที่บ่งชี้ถึงโรคพาร์กินสันของนายเลส มิลน์ ผู้เป็นสามีได้ล่วงหน้าก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรคนี้กว่า 12 ปี

“เขามีกลิ่นเหม็นอับแบบนี้ โดยเฉพาะบริเวณรอบหัวไหล่ และหลังคอ แล้วผิวของเขาก็มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป” เธอเล่า

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

แต่จอยสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกับกลิ่นตัวที่เปลี่ยนไปของสามีกับโรคพาร์กินสัน หลังจากเลสได้รับการวินิจฉัยและร่วมทำกิจกรรมกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ซึ่งเธอสัมผัสได้ว่ามีกลิ่นกายแบบเดียวกัน

เลสเสียชีวิตในเดือน มิ.ย.ปี 2015

ปัจจุบัน ทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้ทำงานร่วมกับจอย เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ตรวจชนิดป้ายผิวหนัง ซึ่งพวกเขาระบุว่าให้ผลแม่นยำ 95% ในการตรวจภายในห้องปฏิบัติการ

การพัฒนาวิธีตรวจโรคแบบนี้ทำโดยวิเคราะห์ไขผิวหนัง (sebum) ซึ่งเป็นสารไขมันบนผิวหนังคนเรา โดยใช้ไม้พันสำลีป้ายไปที่ลำคอคนไข้ ซึ่งเป็นบริเวณที่คนส่วนใหญ่ล้างทำความสะอาดน้อยที่สุด

จากนั้นก็ใช้การตรวจด้วยเทคนิคแมสสเปกโตรเมตรี (mass spectrometry) เพื่อเปรียบเทียบตัวอย่างที่เก็บได้จากผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 79 คน และคนสุขภาพดี 71 คน

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Chemical Society พบสารประกอบที่มีลักษณะเฉพาะกว่า 4,000 ชนิดจากตัวอย่างที่เก็บได้ และพบว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกับคนสุขภาพดีมีสารประกอบที่แตกต่างกันถึง 500 ชนิด

ศาสตราจารย์ เพอร์ดิตา บาร์รัน หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจสารเคมีเพื่อวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน นี่จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมากต้องรอคิวการตรวจทางระบบประสาทและสมองเป็นเวลานาน ดังนั้นการพัฒนาวิธีการตรวจยืนยันโรคที่ทีมของเธอกำลังทำอยู่จึงเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมวงการแพทย์

“เราอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในห้องวิจัย และกำลังทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยในห้องแล็บวิเคราะห์โรคของโรงพยาบาล เพื่อส่งต่อวิธีการตรวจนี้ให้พวกเขาใช้งานจริงตามสถานพยาบาลของสำนักบริการสุขภาพแห่งชาติในอังกฤษ” เธอกล่าว

“เราหวังว่าจะสามารถเริ่มใช้วิธีการตรวจนี้กับประชาชนในเขตแมนเชสเตอร์ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า”

Prof Perdita Barran said she was tremendously excited by the results

พาร์กินสันเป็นโรคในระบบประสาทที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา หรือการตรวจวินิจฉัยโรคที่ให้ผลแม่นยำ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการเฝ้าสังเกตอาการของคนไข้

ผู้ป่วยพาร์กินสันมักแสดงอาการต่าง ๆ เช่น เคลื่อนไหวร่างกายและพูดลำบาก รวมทั้งร่างกายสั่นเทา

คณะนักวิจัยระบุว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันผลที่ได้ ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยที่สามารถใช้ตรวจคนไข้ได้โดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และตามคลินิก

เจมส์ โจปลิน ผู้อำนวยการสาขาสกอตแลนด์ขององค์กรเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสันแห่งสหราชอาณาจักร (Parkinson’s UK) ระบุว่า การพัฒนาอุปกรณ์ตรวจโรคครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นอย่างยิ่ง เพราะการวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

จอย เห็นด้วยกับเรื่องนี้ “พวกเราคงจะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่านี้” เธอบอก

“พวกเราคงจะได้เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ถ้าเรารู้เร็วกว่านี้มันก็จะช่วยให้เราเข้าใจถึงอารมณ์ที่แปรปรวนและภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น [กับสามี]”

ในคืนก่อนที่เลสจะเสียชีวิต เขาให้จอยรับปากว่าจะค้นหาความจริงเกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้กลิ่นโรคพาร์กินสันของเธอ

เลส ซึ่งเคยทำงานเป็นหมอก่อนล้มป่วย บอกกับจอยว่า “คุณต้องทำเรื่องนี้เพราะมันจะเป็นประโยชน์มาก”

จอยหวังเช่นกันว่าการค้นพบโดยบังเอิญของเธอจะก่อให้เกิดประโยชน์กับวงการแพทย์และผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทั้งหลาย

……

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว