ควีนเอลิซาเบธที่ 2 : ผู้นำโลกจดจำพระองค์ในฐานะ “พระราชินีที่เปี่ยมด้วยน้ำพระทัย”

บรรดาผู้นำและผู้ทรงเกียรติทั่วโลกร่วมสดุดีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสวรรคตขณะมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา

พวกเขาต่างยกย่องสำนึกความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความเข้มแข็งแกร่ง พระอารมณ์ขันและน้ำพระทัยที่งดงาม

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เริ่มการสดุดีด้วยการรำลึกถึง “พระราชินีที่เปี่ยมด้วยน้ำพระทัย” ซึ่ง”ทรงเป็นมิตรกับฝรั่งเศส”

นายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 “ทรงทำให้คนทั้งโลกหลงใหล” ด้วย “การครองราชย์อย่างสง่างาม และทรงงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย”

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในขณะนั้น และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่งานเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวังบักกิงแฮมในปี 2011

Advertisment

ที่มาของภาพ, Getty Images

“หลายครั้งที่เราประหลาดใจจากความอบอุ่นของพระองค์ ในแบบที่ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย และการที่พระองค์ทรงแสดงพระอารมณ์ขันและความมีเสน่ห์ในช่วงเวลาที่มีการจัดงานเอิกเกริกและโอกาสต่าง ๆ” นายโอบามา ซึ่งได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในหลายโอกาส ระบุในแถลงการณ์

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ยกย่องสมเด็จพระราชินีนาถฯ ว่า “ทรงเป็นมากกว่ากษัตริย์ พระองค์ทรงกำหนดยุคสมัย”

นายไบเดนได้พูดถึงการเยือนสหราชอาณาจักรในปี 2021 ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า พระองค์ทรงสร้างความประทับใจจากความรอบรู้ ความเมตตา และยังทรงแสดงออกถึงพระสติปัญญาอันเฉียบแหลมด้วย

Advertisment

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 14 คน ในช่วงที่ทรงครองราชย์อยู่

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับ โจและจิลล์ ไบเดน ที่การประชุมสุดยอดจี 7 เมื่อปีที่แล้ว ในเมืองคอร์นวอลล์ของอังกฤษ

ที่มาของภาพ, 10 Downing Street

นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะ “ไม่ลืมมิตรภาพ พระสติปัญญา และพระอารมณ์ขันอันยอดเยี่ยมของพระองค์”

“พระองค์ช่างเป็นสตรีที่งดงามและยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเหมือนพระองค์” เขาเขียนในทรูธ โซเชียล (Truth Social) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางออนไลน์ของเขา

ในรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีแคนาดา 12 คน เข้าเฝ้าฯ

หนึ่งในนั้น คือ นายจัสติน ทรูโด หลังทราบข่าวการสวรรคตของพระองค์ นายทรูโดที่อยู่ในอาการเศร้าโศกกล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงมีความรักลึกซึ้งและมั่นคงต่อชาวแคนาดา”

“ในโลกที่ซับซ้อน ความสง่างามและความแน่วแน่ของพระองค์ทำให้เราทุกคนรู้สึกอบอุ่นใจ” นายทรูโดกล่าว และเสริมว่า เขาจะคิดถึง “การพูดคุยกัน” กับพระองค์ ซึ่งพระองค์ “ทรงไตร่ตรอง, หลักแหลม, ช่างสงสัย, ช่วยเหลือ, ขบขัน และอีกมากมาย”

“พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในคนที่ผมชื่นชอบมากที่สุดในโลก และผมจะคิดถึงพระองค์มาก” เขากล่าวขณะกลั้นน้ำตาไว้

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้พบกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา หลายครั้ง รวมถึงในปีนี้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ด้วย

ที่มาของภาพ, Getty Images

“บุคคลที่พิเศษ”

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพระญาติลำดับที่ 5 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ตรัสว่า พระองค์และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมา ทรงจดจำสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 “ที่ทรงหลักแหลมและแน่วแน่” ด้วย “ความเคารพอย่างลึกซึ้งและความรักอย่างยิ่ง”

สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป และสมเด็จพระราชินีมาตีลด์ แห่งเบลเยียม ตรัสว่า พระองค์ทรงเป็น “บุคคลที่พิเศษ…ซึ่งตลอดช่วงการครองราชย์ได้ทรงแสดงออกถึงความสง่างาม ความกล้าหาญ และความเสียสละ”

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เล่าถึง “การพบกันที่น่าประทับใจ” กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักร 2 ครั้ง

“ผมจะไม่ลืมความอบอุ่นและความใจดีของพระองค์เลย” เขาทวีตข้อความ “ระหว่างที่ผมได้พบกับพระองค์ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงนำซับพระพักตร์ (ผ้าเช็ดหน้า) ที่มหาตมะ คานธี ถวายเป็นของขวัญในพิธีอภิเษกสมรสของพระองค์มาให้ผมดู ผมจะจดจำพระอิริยาบถนั้นของพระองค์ตลอดไป”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ที่พระราชวังบักกิงแฮมในปี 2015

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ได้ยกย่อง “พระอารมณ์ขันอันยอดเยี่ยม” ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และระบุในแถลงการณ์ว่า “คำมั่นสัญญาของพระองค์ที่ทรงมีต่อความปรองดองกันของเยอรมนีและอังกฤษ หลังความโหดร้ายในสงครามโลกครั้งที่สองจะได้รับการจดจำตลอดไป”

ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง

ตลอด 7 ทศวรรษของการเป็นกษัตริย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่หลายครั้ง และผู้นำหลายคนได้พูดถึงเรื่องนี้ในการสดุดีพระองค์เช่นกัน

อย่างที่นายบารัก โอบามา ได้ระบุว่า “พระองค์ทรงใช้ชีวิต “ผ่านช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองและความซบเซา ตั้งแต่การขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์จนถึงการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน”

ประธานาธิบดีไมเคิล ดี ฮิกกินส์ ของไอร์แลนด์ ได้ยกย่อง “ความรับผิดชอบอันยอดเยี่ยม” ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งจะได้รับการจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

“การครองราชย์ 70 ปี ของพระองค์เต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพระองค์ได้ทรงทำให้ประชาชนชาวอังกฤษมีความเชื่อมั่น” เขาระบุในแถลงการณ์ขนาดยาว

“นี่คือความเชื่อมั่นที่อยู่บนพื้นฐานของการมองเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ไม่ใช่ความเข้าใจที่คับแคบทางประวัติศาสตร์”

นายกรัฐมนตรีไมเคิล มาร์ติน ของไอร์แลนด์ พูดถึงการครองราชย์ของพระองค์ว่า เป็นหนึ่งใน “ช่วงเวลาประวัติศาสตร์” และกล่าวถึงการสวรรคตของพระองค์ว่า เป็น “จุดสิ้นสุดแห่งยุคสมัย”

“ความทุ่มเทต่อการทำหน้าที่และการรับใช้ประชาชนของพระองค์ ชัดแจ้งในตัวเอง และพระสติปัญญาและประสบการณ์ของพระองค์ช่างพิเศษอย่างแท้จริง” นายมาร์ติน ระบุในแถลงการณ์ เขายังได้เล่าถึง “พระอิริยาบถอันสง่างามของพระองค์และพระราชดำรัสอันแสนอบอุ่น” ระหว่างการเสด็จเยือนไอร์แลนด์ในปี 2011 ด้วย

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือ “ทรงผ่านช่วงเวลาหลายทศวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นใจ รวมถึงการปลดปล่อยอาณานิคมในแอฟริกาและเอเชีย และการขยายตัวของเครือจักรภพ”

ในแถลงการณ์ เขาได้ชื่นชม “การอุทิศตัวรับใช้ประชาชนตลอดชีวิตอย่างแน่วแน่ของพระองค์ โลกจะจดจำความทุ่มเทและความเป็นผู้นำของพระองค์อย่างยาวนาน”

ประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซอก ของอิสราเอล ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์เช่นกัน แต่ระบุว่า ตลอดช่วงเวลานี้ พระองค์ “ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำที่มั่นคงและรับผิดชอบ เป็นดวงประทีปแห่งความดีงาม มนุษยธรรมและความรักชาติ”

แม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่เคยเสด็จเยือนอิสราเอล แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3, เจ้าชายเอ็ดเวิร็ด, เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายฟิลิป ซึ่งสวรรคตไปแล้ว เคยเยือนอิสราเอล โดยพระศพของพระมารดาของเจ้าชายฟิลิปฝังอยู่ที่นครเยรูซาเลม

“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงใช้ชีวิตผ่านประวัติศาสตร์ ทรงสร้างประวัติศาสตร์ และพระองค์ได้ทรงทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่และเป็นแรงบันดาลใจไว้หลังการสวรรคต” ประธานาธิบดีเฮอร์ซอก เขียน

รัฐบาลไทยว่าอย่างไร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน คือ 9,12,13 ก.ย. 2565 เพื่อถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

“ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงอุทิศพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถและความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะยังประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวบริติช สหราชอาณาจักร เครือจักรภพ และสัมพันธไมตรีอันใกล้ชิดระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง” กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ไว้อาลัย

“กระทรวงการต่างประเทศ และประชาชนชาวไทย ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมิตรชาวบริติชและประชาคมระหว่างประเทศในการน้อมรำลึกถึงพระองค์ และร่วมแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียครั้งใหญ่นี้”

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเปิดให้ประชาชนร่วมลงนามในหนังสือถวายความอาลัย ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ อาคารเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ ถ.สาทร ในวันเสาร์ที่ 10 กันยายน ระหว่างเวลา 9.00 น. ถึง 12.00 น. และในเวลาเดียวกัน ระหว่างวันจันทร์ที่ 12 วันพุธที่ 14 และ วันศุกร์ที่ 16 กันยายนนี้

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว