เลือกตั้งบราซิล : 3 เหตุผลที่โลกต้องสนใจว่า โบลโซนาโร หรือ ลูลา จะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล

  • เฟอร์นานโด ดูอาร์เต
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
ชาวบราซิลจะไปลงคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 ต.ค. นี้ เพื่อเลือกประธานาธิบดีคนใหม่

ที่มาของภาพ, EPA

วันที่ 2 ต.ค. นี้ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในบราซิลในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผู้สังเกตการณ์บางส่วนมองว่า “เป็นการทดสอบที่สำคัญ” ต่อระบอบการเมืองของบราซิล

ประชาชนมากกว่า 150 ล้านคน จะเลือกผู้ว่าการรัฐและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่สิ่งที่ผู้คนจับตามองอย่างไม่ต้องสงสัยก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างนายชาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และนายลูอิซ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดี

การเลือกตั้งที่มีการแบ่งข้างกันอย่างมากนี้จะรู้ผลก็ต่อเมื่อ หลังจัดการเลือกตั้งรอบชี้ขาดระหว่างผู้สมัคร 2 คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด หากไม่มีผู้สมัครคนใดในจำนวน 11 คน ได้รับคะแนนเสียงเกิน 50% ในการเลือกตั้งรอบแรก ผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลนี้อาจจะสร้างแรงสั่นสะเทือนออกไปนอกประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของลาตินอเมริกาแห่งนี้

โลกกำลังจับตามองการเลือกตั้งนี้อยู่ โดยสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของนายโบลโซนาโร “เคารพกระบวนการประชาธิปไตย” หลังประธานาธิบดีคนปัจจุบันตั้งคำถามต่อระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ

ผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่า อดีตประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา น่าจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง

ที่มาของภาพ, Reuters

เมื่อ 22 ก.ย. สหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่ทางการ ผู้สมัครและบรรดาพรรคการเมืองในบราซิล “ให้ความมั่นใจว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะสงบเรียบร้อยและมีการป้องกันความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง”

ข้อมูลจากศาลสูงสุดแผนกเลือกตั้ง (Supreme Electoral Court–TSE) ของบราซิล คาดว่า จะมีจำนวนองค์กรระหว่างประเทศเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้มากเป็นประวัติการณ์

แต่บรรยากาศที่ร้อนแรงไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่ผู้คนทั่วโลกจะต้องจับตามองการเลือกตั้งในวันที่ 2 ต.ค. นี้

อนาคตแอมะซอน

อนาคตของป่าฝนผืนใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้อาจเป็นหนึ่งในเดิมพันของการเลือกตั้งนี้ หากพิจารณาจากประวัติด้านสิ่งแวดล้อมของผู้สมัครทั้ง 2 คน

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิล 2 สมัย (2003-2010) ลูลาได้ลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนลงด้วยการลดการตัดไม้ผิดกฎหมาย, การทำเหมืองและการทำฟาร์มวัวในภูมิภาค ซึ่งการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในความพยายามบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่อัตราการทำลายป่าได้เพิ่มสูงขึ้นก่อนหน้าที่นายโบลโซนาโรจะคว้าชัยการเลือกตั้งในปี 2018 และอัตรานี้ก็ยังคงอยู่ในระดับหนึ่งนับตั้งแต่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2019 รายงานของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแอมะซอน (Institute for Amazon Environmental Research) ของบราซิล ที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ในปีนี้อ้างว่า การตัดไม้ทำลายป่าได้เพิ่มขึ้นเกือบ 57% ในช่วงที่โบลโซนาโรเข้ามาดูแล

รายงานระบุว่า การตัดไม้ทำลายป่าได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงที่โบลโซนาโรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิล

ที่มาของภาพ, Reuters

ประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัดผู้นี้ ปกป้องการสำรวจแอมะซอนเพื่อการพาณิชย์อย่างเปิดเผย และได้ต่อต้านการคุ้มครองที่ดินของชนพื้นเมือง เขาเป็นผู้นำบราซิลคนแรกนับตั้งแต่ปี 1988 ที่ไม่ยอมลงนามในคำสั่งทางการบริหารในการกำหนดเขตของชนพื้นเมือง

บรรดารัฐบาลต่างชาติและกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์นี้

ทาอีส บานน์วาร์ต โฆษกของกรีนพีซ (Greenpeace) กล่าวกับบีบีซีว่า การเลือกตั้ง “จำเป็นต้องส่งสัญญาณว่า จะไม่อดทนต่อการเมินเฉยมรดกทางสิ่งแวดล้อม”

“บรรดานักวิทยาศาสตร์เตือนแล้วว่า แอมะซอนกำลังเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า ‘จุดพลิกผัน’ ซึ่งป่าจะสูญเสียความสามารถในการฟื้นตัวเองขึ้นมาใหม่ หลังเผชิญกับเหตุการณ์หลายอย่างเช่น ภัยแล้ง, ไฟป่า และการล้มของต้นไม้” บานน์วาร์ต กล่าว

“ในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของโบลโซนาโรแสดงให้เห็นแล้วผ่านทางคำพูด การกระทำและมาตรการต่าง ๆ เขาสบประมาทหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ชนพื้นเมือง, นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย”

โบลโซนาโร มีท่าทีที่เป็นมิตรมากกว่าในเวทีระหว่างประเทศ โดยที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในเดือนนี้ เขาได้อ้างว่า สื่อรายงานเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของเขาอย่างไม่เป็นธรรม

“ในแง่ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม บราซิลเป็นส่วนหนึ่งของทางออกและเป็นตัวอย่างให้แก่โลกนี้” เขากล่าว

บราซิลมีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

นอกจากจะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกาแล้ว บราซิลยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน 15 อันดับแรกของโลก และเป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญในการค้าระดับโลกในบางภาคส่วน

บราซิลเป็นแหล่งผลิตแร่ที่สำคัญของโลก และเป็นที่ตั้งของเหมืองเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลกทางตอนเหนือของบราซิล

ที่มาของภาพ, Getty Images

บราซิลเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าอย่าง ถั่วเหลือง, เนื้อวัว และแร่เหล็ก และเป็นคู่ค้าที่สำคัญกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ดังนั้น การเลือกตั้งที่วุ่นวาย หรือช่วงหลังการเลือกตั้ง จึงเป็นช่วงที่น่าจะสร้างความกังวลต่อนานาประเทศ

ลีโอนาร์โด ฟอนทิส นักสังคมวิทยาของบราซิลและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่า “ประชาธิปไตยอ่อนหัด” ของประเทศ จะเผชิญกับการทดสอบ เนื่องจากโบลโซนาโรตั้งคำถามต่อระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์หลายครั้ง ซึ่งนำไปสู่การคาดเดาว่า บรรดาผู้สนับสนุนของชายที่มีฉายาว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งเขตร้อน” ผู้นี้ อาจจะก่อจลาจลหลังการเลือกตั้งในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ 6 ม.ค. 2021

“ระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ในประเทศตะวันตกหลากแห่งเผชิญกับการคุกคาม และเราได้เห็นสัญญาณเหล่านั้นในบราซิลแล้ว” ฟอนทิส อธิบาย

“เราจำเป็นต้องดูว่า โบลโซนาโรจะทำอะไรในกรณีที่เขาแพ้ แต่ก็เป็นการสมเหตุสมผลที่จะบอกว่า ประชาธิปไตยกำลังถูกทดสอบในบราซิล”

การใช้ถ้อยคำที่ร้อนแรงของโบลโซนาโรตามมาด้วยการออกกฎหมายผ่อนคลายกฎการเป็นเจ้าของปืนในบราซิล จากข้อมูลของกองทัพและตำรวจบราซิลที่ผ่านการวิเคราะห์ของ Sou da Paz สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงของบราซิล ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2018 จำนวนปืนของเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ามาอยู่ที่เกือบ 2 ล้านกระบอกแล้ว

“ปัจจุบัน เรามีกองทัพพลเรือนติดอาวุธจริง ๆ และสถานการณ์นี้น่ากังวลใจอย่างมาก” คาโรลีนา รีคาร์ดู ผู้อำนวยการบริหารของ Sou da Paz กล่าว

นับตั้งแต่ปี 2018 จำนวนปืนของเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ามาอยู่ที่เกือบ 2 ล้านกระบอกแล้ว

ที่มาของภาพ, Getty Images

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในช่วงหลังการเลือกตั้งด้วย บราซิลเคยถูกปกครองด้วยทหารมาก่อนระหว่างปี 1964-1985 และประธานาธิบดีโบลโซนาโร เป็นอดีตร้อยเอกของกองทัพบก ส่วนนายฮามิลตัน โมเรา รองประธานาธิบดีของเขามียศพลเอก แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับบีบีซีเมื่อเดือนที่แล้วว่า พวกเขาไม่เห็นความกระหายในการก่อรัฐประหารจากคนของกองทัพ

อีกสมรภูมิหนึ่งคือการต่อสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียในการแพร่ข่าวลือ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะวอตส์แอปป์ (WhatsApp) บริการส่งข้อความที่มีคนใช้งานมากที่สุดในบราซิล

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Estado de S. Paulo ของบราซิล ดารีอู ดูรีกัน หัวหน้าด้านนโยบายสาธารณะของวอตส์แอปป์ในบราซิล กล่าวว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ต.ค. นี้เป้น “การเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดของโลก” สำหรับบริษัทที่เมตา(Meta) เป็นเจ้าของ

การกลับมาของฝ่ายขวาจัด ?

โบลโซนาโร (ซ้าย) และลูลา (ขวา) ในการหาเสียงเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, EPA/Reuters

การสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานนี้ส่วนใหญ่ในบราซิล พบว่า ลูลามีคะแนนเหนือโบลโซนาโร แม้ว่านี่ไม่ได้เป็นการยืนยันว่า อดีตประธานาธิบดีบราซิลผู้นี้จะได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งรอบชี้ขาด แต่การสำรวจความเห็นระบุด้วยว่า นักการเมืองฝ่ายซ้ายจะเอาชนะประธานาธิบดีคนปัจจุบันในการเลือกตั้งรอบที่สอง

สำหรับบรรดานักรัฐศาสตร์ที่จับตามองการผงาดขึ้นมาของผู้นำฝ่ายขวาจัดในหลายประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล่าสุดก็คือชัยชนะของจอร์จา เมโลนี ในการเลือกตั้งของอิตาลี การเลือกตั้งนี้จะส่งผลต่อแนวโน้มเหล่านี้

ดร.รีนีซูส เดอ การ์วาลยู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านบราซิลและลาตินอเมริกาศึกษาที่คิงส์คอลเลจลอนดอน (King’s College London) เชื่อว่า “บราซิลเป็นประเทศที่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนั้นการเลือกตั้งนี้จะเป็นตัวแทนของความล้มเหลวของฝ่ายขวาจัด”

“การเลือกตั้งบราซิลจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีชัยชนะจากทั้งสองฝ่ายของสเปกตรัมทางการเมืองทั่วโลก” ดร. การ์วาลยู กล่าวเพิ่มเติม โดยอ้างอิงถึง การเลือกตั้งเมื่อไม่นานนี้ของโคลอมเบียเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคว้าชัยเป็นครั้งแรก

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว