โนเบล : ผลงานไขความลับวิวัฒนาการมนุษย์ด้วยพันธุกรรม คว้าสาขาสรีรวิทยา/การแพทย์ 2022

นักวิจัยชาวสวีเดนผู้บุกเบิกการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ด้วยข้อมูลพันธุกรรม คว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2022 ไปครอง

ศาสตราจารย์ สวานเต พาโบ (Svante Pääbo) นักพันธุศาสตร์ประจำสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษามานุษยวิทยาวิวัฒนาการ (MPI-EVA) ของเยอรมนี ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการรางวัลโนเบลที่สถาบันคาโรลินสกาของสวีเดนในปีนี้ว่า เป็นผู้มีผลงานดีเด่นในการค้นพบข้อมูลพันธุกรรมของบรรพบุรุษมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว รวมทั้งความลับของวิวัฒนาการมนุษย์ ซึ่งทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและก่อตั้งสาขาวิชาพันธุศาสตร์ดึกดำบรรพ์ (Paleogenomics)

โนเบลการแพทย์
ศาสตราจารย์ สวานเต พาโบ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาปี 2022 / MPI-EVA

คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์แถลงว่า ที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องความเป็นมาของมนุษยชาติ อาศัยหลักฐานจากฟอสซิลและชิ้นส่วนกระดูกเป็นส่วนใหญ่ แต่หลักฐานเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการอธิบายขั้นตอนของวิวัฒนาการมนุษย์ทั้งหมดได้

ด้วยเหตุนี้ ศ. พาโบ จึงริเริ่มการค้นคว้าหาข้อมูลจากดีเอ็นเอโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) ซึ่งยังหลงเหลืออยู่มากในซากดึกดำบรรพ์ ทั้งไม่ถูกทำลายด้วยสารเคมีหรือปนเปื้อนพันธุกรรมของจุลินทรีย์มากนัก

ศ. พาโบและคณะใช้วิธีการข้างต้นสกัดสารพันธุกรรม และยังสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนม (genome) ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) จากฟอสซิลกระดูกที่ขุดพบตั้งแต่ปี 1856 ได้สำเร็จ นำไปสู่การเปรียบเทียบความแตกต่างทางพันธุกรรม ระหว่างบรรพบุรุษมนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกับมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ ซึ่งทำให้ทราบได้ในที่สุดว่ามนุษยชาติมีความเป็นมาอย่างไร

ภาพจำลองมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลวิเคราะห์เปรียบเทียบจีโนมของนีแอนเดอร์ทัลกับมนุษย์ยุคใหม่ ทำให้ทราบว่ามีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์ทั้งสองเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ส่งผลให้ชาวเอเชียและยุโรปในปัจจุบันมียีนของนีแอนเดอร์ทัลในตัว 1-4%

นอกจากนี้ ผลงานของ ศ. พาโบ ที่วิเคราะห์พันธุกรรมกระดูกนิ้วซึ่งพบในถ้ำเดนิโซวาของรัสเซีย ยังนำไปสู่การค้นพบบรรพบุรุษมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่ง หรือที่รู้จักกันในชื่อว่ามนุษย์เดนิโซวาน (Denisovan) อีกด้วย โดยชาวเกาะแถบเมลานีเซียและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วน มียีนของมนุษย์เดนิโซวานอยู่ในตัว 1-6%

ศ. พาโบ จะได้รับเงินรางวัลทั้งหมด 10 ล้านโครนสวีเดน ส่วนพิธีมอบรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นที่กรุงสตอล์กโฮล์มในเดือนธันวาคมนี้

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว