อิแทวอน : สังคมเกาหลีใต้ต่อว่าตำรวจ กับมือตะโกน “ดันเลย” ที่อาจเป็นตัวจุดชนวนเบียดกันตาย

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ให้คำมั่นจะดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียด และพร้อมจะ “แก้ไขเชิงระบบ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก” ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมอิแทวอน ยังอยู่ที่ 154 คน

ทางการกรุงโซลระบุว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนให้เป็นระเบียบมากกว่าปีที่แล้ว ในคืนวันที่ 29 ต.ค. แต่ตำรวจส่วนหนึ่งต้องแบ่งไปควบคุมฝูงชน ตามการประท้วงสำคัญอื่น ๆ ในกรุงโซล

อย่างไรก็ดี สื่อเกาหลีชี้ว่า เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ที่มีการจัดคอนเสิร์ตของวงเค-ป๊อปชื่อดัง อย่าง บีทีเอส ในเมืองปูซาน ทางตอนใต้ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 55,000 คน โดยมีตำรวจมากถึง 2,700 นาย เข้าดูแลความปลอดภัย

แต่สำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนในย่านอิแทวอนของกรุงโซล ทางการกลับส่งตำรวจเข้ามารักษาความปลอดภัยเพียง 137 คนเท่านั้น ทั้งที่จะเป็นการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่แรกแบบไม่ใส่หน้ากาก นับแต่โควิด-19 ระบาด

สมาชิกสหภาพแรงงานได้ออกมาไว้อาลัย พร้อมถือป้ายประท้วงต่อว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยของทางการ โดยบริเวณใกล้กับศาลาว่าการกรุงโซล สหภาพแรงงานได้ตั้งป้ายประท้วงระบุว่า “สิทธิในความปลอดภัย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่มีอะไรมีค่ามากกว่าการให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชน และความปลอดภัยของพวกเขา”

ที่สนามหญ้าใกล้กับศาลาว่าการกรุงโซล หญิงเกาหลีใต้คนหนึ่งได้ไว้อาลัย พร้อมถือป้ายข้อความว่า “คนหนุ่มสาวทุกคนควรได้มีชีวิตในสถานที่ที่ปลอดภัยและสงบสุข”

ผู้รอดชีวิตเผยว่า มีคนตะโกน "ดันเลย ๆ"

ที่มาของภาพ, Getty Images

บีบีซีได้พูดคุยกับเธอ เธอระบุว่า “มีลูก 2 คน อายุ 30 ปีกลาง ๆ และมีหลานสาวอายุ 7 ขวบอีกคน เธอควรได้เติบโตในประเทศที่ปลอดภัย” ลี อิน-ซุค วัย 63 ปี กล่าว

“นี่มันเป็นโศกนาฏกรรมจากมนุษย์ มันจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ารัฐบาลเตรียมการมาดี มันน่าหวาดกลัวมาก แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล รวมถึงผู้ใหญ่ที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองเหล่านี้”

ความคืบหน้าการสอบสวน

นับแต่ช่วงบ่ายวานนี้ (31 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานหลายสิบนาย ได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุในย่านอิแทวอน ซึ่งเวลานี้ เงียบสนิท หลังสั่งปิดร้านรวง คาเฟ่ และบาร์ทั้งหมด เป้นการชั่วคราว

ในคืนวันที่ 29 ต.ค. ประชาชนมากถึง 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวช่วงวัย 20 กว่าปี เดินทางมายังย่านอิแทวอน ซึ่งมีลักษณะเป็นซอกซอยแคบ ๆ แต่เต็มไปด้วยบาร์และคลับ สำหรับสังสรรค์ยามค่ำคืนมากมาย

อิแทวอน เป็นส่วนหนึ่งของเขตยงซาน หนึ่งใน 25 เขตของกรุงโซล โดยเขตยงซาน ประกาศเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ว่าจะจัดการเฉลิมฉลองฮาโลวีนในอิแทวอน แม้จะมีแผนการจัดงานอย่างชัดเจน แต่ไม่มีรายนามผู้จัดงานอย่างเป็นทางการ

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuteres

ทางการได้ดำเนินมาตรการป้องกันโควิด ตรวจสอบความปลอดภัยตามบาร์และร้านอาหาร การจัดการขยะ และมาตรการป้องกันการใช้ยาเสพติด แต่กลับไม่ได้ดำเนินมาตรการควบคุมฝูงชนที่รัดกุมภายในย่าน และแม้จะส่งตำรวจ 137 นายไปยังย่านอิแทวอน ซึ่งตำรวจระบุว่า ถือว่ามากกว่าปีที่แล้ว แต่คนในพื้นที่ระบุว่า ตำรวจเน้นการควบคุมการจราจรและพุ่งเป้าไปที่การใช้ยาเสพติด มากกว่าการควบคุมฝูงชน

“เราจัดทีมสอบสวนพิเศษ 475 นาย ตรวจสอบหลักฐานแวดล้อมทั้งหมด สอบปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ และตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดอย่างละเอียด” ผู้บัญชาการสำนักงานสอบสวนแห่งชาติของเกาหลีใต้ ระบุ

จนถึงตอนนี้ ตำรวจได้สอบปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ 44 คน เก็บภาพจากกล้องวงจรปิดจากกล้อง 52 ตัว ที่ตั้งอยู่ใน 42 จุดทั่วพื้นที่ ตำรวจยังตรวจสอบวิดีโอที่โพสต์ในสังคมออนไลน์ด้วย

อย่างไรก็ดี ตำรวจระบุว่ายังไม่พบตัวผู้ต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์เข้าข่าวการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ โคเรีย จุงอัง เดลี (Korea JoongAng Daily) ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถยับยั้งโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ คือ การขาดผู้จัดงานจากส่วนกลาง รวมถึง “ตำรวจและหน่วยดับเพลิงไม่ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ลักษณะนี้ล่วงหน้า”

ด้าน คง ฮา-ซอง ศาสตราจารย์ด้านการป้องกันสาธารณภัย มหาวิทยาลัยวูซุคในเกาหลีใต้ ระบุว่า ในคืนวันนั้น “แทบไม่มีใครดูแลความปลอดภัยคนเดินเท้ากันเลย” เขายังบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ควรมีตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในพื้นที่มากกว่านี้ เพื่อสังเกตการณ์ในกรณีที่ฝูงชนแออัดยัดเยียดในลักษณะเป็น “คอขวด”

มือตะโกน “ดันเลย ๆ”

เว็บไซต์ Daum ของเกาหลีใต้ ระบุว่า หนึ่งในภาพจากกล้องวงจรปิดที่ตำรวจกำลังให้ความสนใจ คือ “ชายสวมที่คาดรูปกระต่าย” ที่ตะโกนให้ฝูงชนเริ่มผลักดันตัวไปข้างหน้า

ภาพวิดีโอจากสังคมออนไลน์ในจุดดังกล่าว มีเสียงตะโกนเป็นภาษาเกาหลีว่า “ดันเลย ๆ” ในซอยลาดชัน บริเวณหลังโรงแรมฮามิลตัน ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงตะโกนนั้น ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า “กลุ่มคน 5-6 คน เริ่มผลัก” จากนั้นเป็นสถานการณ์โกลาหลที่มีการผลักไปด้านหน้า และผลักกลับมา

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูวอน ให้สัมภาษณ์กับ วายทีเอ็น สื่อเกาหลีใต้ว่า “หากมีการผลักด้วยจุดประสงค์เพื่อทำร้ายผู้อื่น อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายอาญา รวมถึงข้อหาอื่น ๆ”

อย่างไรก็ดี ตำรวจยังไม่ออกแถลงการณ์ว่า มีการตามหาตัว “ชายสวมที่คาดหูกระต่าย” หรือบุคคลอื่น ๆ ในตอนนี้

พาร่างคนไทยกลับบ้าน

โศกนาฏกรรมอิแทวอน มีคนไทยเสียชีวิต 1 คน ทราบชื่อแล้ว คือ นางสาว นัฐธิชา มาแก้ว หรือครูแบม อายุ 27 ปี มาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเธอเดินทางไปเรียนภาษาที่เกาหลีใต้เป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงที่เกิดเหตุ

นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้สั่งการให้นายอำเภอหล่มสักพร้อมด้วยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมแพทย์ด้านจิตวิทยา เข้าไปดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิต และทราบว่ามีการประสานกับสถานทูตในการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านเกิดแล้ว แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งในส่วนนี้จังหวัดกำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือ

เบื้องต้น ทราบว่าผู้เสียชีวิตมีวงเงินประกันชีวิตอยู่ประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งได้ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งรักดูแลในเรื่องนี้เป็นพิเศษ คาดว่าประมาณ 3 – 4 วัน ก็จะสามารถนำร่างกลับมาได้

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ที่มาของภาพ, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ด้าน น.ส.ณิชาภัทร วิบูลย์พานิช พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบูรณ์ได้เดินทางไปสอบถามข้อมูล ให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือ พร้อมประสานกับศูนย์สุขภาพจิตเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุย เยียวยาทางด้านจิตใจ

ขณะนี้พ่อกับแม่ยังอยู่ในอาการที่โศกเศร้าเสียใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดูแลในด้านสภาพของจิตใจ เพื่อให้ครอบครัวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว