ชาวจีนลุกฮือต้านโควิดเป็นศูนย์ เรียกร้อง สี จิ้นผิง ลงจากอำนาจ

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

ชาวจีนหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมกันในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของรัฐบาล ถือเป็นการท้าทายอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ผู้ประท้วงต่างไม่พอใจกับยุทธศาสตร์รับมือโควิดของรัฐบาลจีน ที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเฉียบพลันในจุดที่พบผู้ติดเชื้อ รวมถึงการกักตัวที่ยาวนาน และการตรวจหาผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

ความไม่พอใจที่สั่งสมมานาน ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของภูมิภาคซินเจียง เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (24 พ.ย.) หลังเกิดเพลิงไหม้อะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน ซึ่งประชาชนจำนวนมากมองว่า การเสียชีวิตดังกล่าว มาจากมาตรการโควิดที่ทำให้หน่วยดับเพลิงเข้าถึงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ไม่ทันการ

สถานการณ์ประท้วงเริ่มขยายตัวไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ในจีน โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) ประชาชนอย่างน้อย 400 คน รวมตัวกันริมแม่น้ำในกรุงปักกิ่งนานหลายชั่วโมง พร้อมตะโกนว่า “เราทุกคนเป็นคนซินเจียง สู้ต่อไปชาวจีน”

ผู้หญิงชาวจีนวัย 20 ปี ระบุว่า “ฉันมาร่วมชุมนุม เพื่ออนาคตของฉัน เราต้องสู้เพื่ออนาคตของเราเอง”

“ฉันไม่กลัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราทุกคนสู้กันอย่างหนักเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

สื่อต่างประเทศ รวมถึงบีบีซีและเอเอฟพี ที่สังเกตการณ์การประท้วงรายงานว่า ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติ มีการปราศรัยต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยมีตำรวจและรถตำรวจจำนวนมาก วางกำลังไว้ใกล้จุดประท้วงอย่างแน่นหนา รวมถึงตั้งด่านตรวจรถยนต์ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่

บีบีซีและรอยเตอร์ รายงานตรงกันว่า จนถึงเวลาประมาณ 5.30 น. วันนี้ (28 พ.ย.) ผู้ชุมนุมในกรุงปักกิ่งยังคงดำเนินต่อไป ก่อนที่กำลังตำรวจจะเข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อพยายามสลายการชุมนุม

ส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เห็นตำรวจปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วง ขณะพยายามผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนนอุรุมชี ที่ถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุม

ผู้ประท้วงปักหลักประท้วงข้ามคืนวันเสาร์ (26 พ.ย.) บางคนตะโกนว่า “สี จิ้นผิง ออกไป พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกไป” และในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคน พร้อมกระดาษขาวและดอกไม้ ออกมารวมตัวชุมนุมกันอีก

ชาวจีนออกมาประท้วงในหลายเมืองใหญ่

ที่มาของภาพ, Reuters

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในช่วงเย็นวันอาทิตย์ พร้อมปิดล้อมถนน โดยมีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงหลายคน ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันให้ผู้ประท้วงสลายการชุมนุม

“ผมไม่เคยเห็นการประท้วงระดับนี้ในนครเซี่ยงไฮ้ ตลอด 15 ปีที่ผมอยู่ที่นี่มา” แฟรงค์ ไช่ ผู้สังเกตการณ์การประท้วง บอกกับบีบีซี พร้อมเสริมว่า ช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีการประท้วงขนาดเล็กหลายหมื่นครั้ง ในประเด็นสิทธิแรงงาน และการเวนคืนที่ดิน แต่แทบไม่มีการประท้วงใดต่อต้านรัฐบาลกลางจีนโดยตรง

ความท้าทายต่อสี จิ้นผิง

ศาสตราจารย์ โฮ-ฟุง โห สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ในสหรัฐฯ​ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจีนช่วงไม่กี่วันมานี้ ถือเป็น “สถานการณ์ที่ท้าทาย” สำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

และแม้การประท้วงเป็นวงกว้างจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกมากนักในจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น “ถือเป็นบททดสอบสำคัญแรกต่อการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” เพราะผู้ประท้วงหลายคนออกมาประกาศชัด เรียกร้องให้นายสี ลงจากอำนาจ

“ประธานาธิบดีสี ต้อนตัวเองจนมุม” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด้วยการเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่ไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่ชัดเจน จนทำให้คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นสูงบางคน เริ่มหมดความอดทน

ด้าน สตีเฟน แมคโดเนลล์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีน ระบุว่า การแสดงท่าทีต่อต้านไม่ใช่เรื่องผิดปกติในจีน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ ตั้งแต่ปัญหามลพิษไปจนถึงการยึดที่ดินอย่างผิดกฎหมาย หรือการที่ตำรวจปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม

“ประธานาธิบดีสี ต้อนตัวเองจนมุม” ศ.โฮ-ฟุง โห กล่าว

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่การประท้วงที่กำลังลุกลามขยายวงในหลายพื้นที่ของจีนนั้นมีความแตกต่างออกไป

การประท้วงในขณะนี้เกิดจากความคับข้องและเหนื่อยหน่ายใจที่ชาวจีนจำนวนมากรู้สึกตรงกัน หลายคนเก็บความอัดอั้นตันใจนี้ไม่ไหวอีกต่อไป และนำไปสู่การประท้วงเป็นวงกว้างต่อมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของทางการ

ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้สะท้อนออกมาในรูปของการทำลายแนวกั้นที่ถูกออกแบบมาเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการลุกฮือขึ้นประท้วงตามมหาวิทยาลัยและหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ กรุงปักกิ่ง และนครหนานจิง

จับกุมนักข่าวบีบีซี

บีบีซีรายงานว่า หนึ่งในทีมข่าวที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมในจีน ถูกตำรวจทำร้ายและจับกุม ระหว่างการทำข่าว โดยบีบีซีออกแถลงการณ์ว่า “บีบีซีวิตกกังวลอย่างมากต่อการปฏิบัติต่อนักข่าวของเรา เอ็ด ลอว์เรนซ์ ที่ถูกจับกุมและใส่กุญแจมือ ระหว่างติดตามทำข่าวการประท้วงในนครเซี่ยงไฮ้”

ลอว์เรนซ์ เป็นผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ประจำอยู่ในประเทศจีน โดยตำรวจได้ควบคุมตัวเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง บีบีซีระบุในแถลงการณ์ว่า ในช่วงเวลาที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ตำรวจได้ทำร้ายและเตะเขา ก่อนที่จะปล่อยตัวในเวลาต่อมา

“การที่นักข่าวของเราถูกทำร้าย ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก” บีบีซี กล่าวในแถลงการณ์

“ทางการจีนยังไม่ออกมาชี้แจงหรือขออภัยต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่ออกมาอ้างว่า จับกุมนักข่าวของเราเพื่อความปลอดภัยของเขาเอง เพราะอาจติดโควิดจากฝูงชนได้… ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นคำชี้แจงที่มากเพียงพอ”

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน

ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มปรับใช้นโยบายเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 แต่จีน ยังคงดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” อย่างเข้มงวด ด้วยเหตุผลว่า เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน เพราะหากควบคุมการระบาดไม่ได้ จะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นอันตราย

มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนค่อนข้างต่ำ นับแต่เกิดการระบาดใหญ่ โดยยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่กว่า 5,200 คน หรือเฉลี่ยแล้ว มีผู้เสียชีวิตราว 3 คน ต่อประชาชน 1 ล้านคนในจีน

จีนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์มายาวนาน

ที่มาของภาพ, Reuters

ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำจีน วิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนเองดูเหมือนจะประเมินกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่ำเกินไป ซึ่งนโยบายนี้เป็นสิ่งที่นายสีเพิ่งประกาศจะยึดถือต่อไปโดยไม่มีการผ่อนปรนใด ๆ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคคอมมิวนิสต์จะหลุดพ้นจากปัญหาที่ตนเองสร้างขึ้น

เป็นเวลา 3 ปีมาแล้วที่จีนเตรียมเปิดประเทศจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด แต่แทนที่จะสร้างหน่วยดูแลผู้ป่วยอาการวิกฤต หรือไอซียูเพิ่ม และเน้นการให้วัคซีนต้านโควิดแก่ประชาชน แต่จีนกลับทุ่มเททรัพยากรมหาศาลไปกับการตรวจคัดกรองโรคเป็นวงกว้าง การสั่งล็อกดาวน์ และการทำศูนย์กักโรค เพื่อทำสงครามกับเชื้อไวรัสที่ไม่มีวันจะหมดสิ้นไป

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว