LGBT : ประวัติศาสตร์อันมืดมนของกลุ่มเพศทางเลือกในสิงคโปร์กำลังจะเปลี่ยนไป

ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบของสวนสาธารณะเอสพลานาดในสิงคโปร์ รัสเซล เฮง (Russell Heng) นักเขียนบทละครและนักเคลื่อนไหวสิทธิกลุ่ม LGBTQ ได้ชี้ไปยังจุดที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกตำรวจจับ เพียงเพราะว่าเขาเป็นเกย์

สถานที่นั้นก็เป็นเพียงแนวต้นไม้ที่เรียงรายเป็นแถว เป็นที่คุ้นตากันดีในเมือง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 ก่อนยุคอินเทอร์เนตและแอปพลิเคชันหาคู่ไกรเดอร์ (Grindr) จุดนี้แหละเป็นที่นิยมนัดพบกันของชาวเกย์ ในประเทศที่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันยังผิดกฎหมาย

เฮงเล่าย้อนความหวังว่า จุดนัดพบแห่งนี้ถูกเรียกและรู้จักกันในชื่อเล่นว่า “the Feet of Five Trees” ที่จะมีต้นจามจุรีสูงใหญ่ช่วยกำบังและเป็นสถานที่เที่ยวปลีกวิเวก

“พวกเราออกมาเที่ยวเล่นกันในคืนนั้น จู่ ๆ ก็มีเสียงขึ้น นั่นคือเสียงตะโกนจากตำรวจนอกเครื่องแบบ”

นักท่องราตรีเหล่านั้นถูกบังคับให้ยืนเข้าแถว ขณะที่ตำรวจกล่าวตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรงว่า “พวกคุณควรรู้สึกละอายใจตัวเองบ้างนะ”

เฮงตอบไปว่า “พวกเราแค่เดินเข้ามาในสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ทำไมถึงทำให้รู้สึกว่าทำอะไรผิด ก็นั่นแหละนี่คือการถูกข่มแหงรังแก”

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงเก็บกฎหมายอาญามาตรา 377A ที่ห้ามผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมอังกฤษ ขณะที่ทางการอ้างว่าสังคมยังไม่ยอมรับ

ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว มีความคืบหน้าอีกขึ้นเมื่อรัฐสภาสิงคโปรได้เพิกถอนกฎหมายอาญามาตรา 377A หลังจากเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้แถลงการณ์สุดเซอร์ไพรส์ทางโทรทัศน์ว่าจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวไปแล้วโดยให้เหตุผลว่าสังคมได้เปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องนี้แล้ว

Reuters
นายลี เซียน ลุง นายกฯ สิงคโปร์บอกว่าการยกเลิกกฎหมายห้ามผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันเป็น “เรื่องถูกต้องที่ควรจะทำ”

การยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 377A นับเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์อันมืดมนของกลุ่มเพศทางเลือกในสิงคโปร์และเป็นสิ่งที่ยากที่จะพูดถึงในทุกวันนี้ เพราะชายที่รักเพศเดียวกันยังถูกสังคมมองว่าเป็น “ตราบาป” และตกเป็นเป้าหมายการปราบปรามโดยรัฐ

ในค่ำคืนนั้นที่สวนสาธารณะเอสพลานาด เฮงและผู้ชายคนอื่นถูกตักเตือนเท่านั้น แต่สำหรับบุคคลอื่นนอกจากนั้นก็ไม่ได้โชคดีเช่นนี้

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมักใช้ “ปฏิบัติการต่อต้านเกย์” ด้วยการบุกเข้าตรวจค้นสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่กลุ่มเกย์มักเที่ยวกัน หรือ จุดนัดพบกันตามหาดทรายและสวนสาธารณะ

ภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าว ตำรวจยังใช้การล่อซื้อ โดยเจ้าหน้าที่แสร้งว่าเป็นเกย์แล้วนัดเจอกลุ่มเป้าหมายตามจุดนัดพบต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าจับกุม ซึ่งวิธีการนี้ยังเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงกันอยู่

ขณะที่ผู้ที่ถูกจับกุมจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงเช่น การล่อลวง การลวนลาม หรือ พฤติกรรมอนาจาร ซึ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักจะรายงานข้อมูลผู้ที่ถูกจับกุมอย่างละเอียด เช่น รายชื่อ อายุ และอาชีพ

โดยปกติ ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่จะถูกปรับหรือจำคุกเพียงไม่กี่เดือน แต่สำหรับเหตุการณ์ในปี 1993 ที่รู้จักกันว่า “เหตุจู่โจมบนถนนฟอร์ต” ที่มีชายหลายคนถูกจับกุมไปแล้วถูกตัดสินโทษที่รุนแรงด้วยการเฆี่ยน ต่อมาถูกยกฟ้องไปหลังการอุทธรณ์ ซึ่งผู้พิพากษาเห็นว่าชายเหล่านั้นถูกจับกุมและตั้งข้อหาภายในภาวะจำยอม

สำหรับกลุ่มชาวเกย์จำนวนมาก การบุกจับกุมของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการส่งสัญญาญชัดเจนว่า การมีตัวตนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ได้ได้รับการยอมรับ ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อต้านกลุ่มเกย์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ปกติในสังคมที่เข้มงวดของสิงคโปร์ จึงทำให้หลายคนหวาดกลัวที่จะเผยตัวตนต่อเพื่อน ๆ ครอบครัว และสังคม

ภาพประกอบ

Getty Images

“คุณจะต้องแอบซ่อนตัวตนพร้อมกับความหวาดกลัวสายตาที่จ้องจับผิดตลอดเวลา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นี่จึงกลายเป็นสัญชาตญาณของการเป็นเกย์” เฮง ในวัย 71 ปีเผยความรู้สึกออกมา

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 การปราบปรามกลุ่มเกย์ได้ลดน้อยลง ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกัน “การรักเพศเดียวกัน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้าม ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ในปี 2007 ระหว่างการอภิปรายครั้งประวัติศาสตร์ในรัฐสภาเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 377A รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่บังคับใช้กฎหมายนี้ แม้ว่ายังคงมีผลทางกฎหมาย

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว สังคมชาวสิงคโปร์ค่อย ๆ เริ่มเปิดรับกลุ่ม LGBT มากขึ้น ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคิดว่า การเป็นเกย์เป็นสิ่งที่ผิด แต่การสนับสนุนสิทธิเกย์กลับเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในด้านนโยบายทางการเมืองก็เริ่มตอบรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนก็ออกนโยบายที่ส่งเสริมผู้มีความหลากหลายมากขึ้น

แม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดการประท้วงขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ แต่กลุ่ม พิงก์ ดอต (Pink Dot) ที่พิทักษ์สิทธิกลุ่ม LGBT สามารถจัดกิจกรรมทุกปีโดยมีผู้ร่วมงานหลายพันคน

ส่วน เฮง เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม พีเพิล ไลก์ อัส (People Like Us) ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBT ที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ เคยถูกปฏิเสธการจดทะเบียนเป็นสมาคมถึงสองครั้งในช่วงทศวรรษ 1990 ในยุคนั้นพวกเขาถูกเฝ้าระวังจากทางการอย่างใกล้ชิด เฮงเล่าให้ฟังว่า ในกิจกรรมการปราศรัยในที่สาธารณะหรือการประชุมต่าง ๆ จะมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาร่วมสังเกตการณ์ และเผยตัวตนภายหลังจบงาน

“เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีกลุ่มพิงก์ ดอต เริ่มมีแนวความคิดยอมรับว่า การเป็นเกย์ก็โอเค แต่อาจจะไม่ทราบว่าก่อนหน้านี้ต้องเจอกับอะไรบ้าง”

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเล่าเรื่องราวชาวสีรุ้งในอดีตผ่านสถานที่สำคัญ ๆ ผ่านการท่องเที่ยว

ไอแซก จัดทัวร์เส้นทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในสิงคโปร์เพื่ออธิบายปูมหลังสังคม LGBT เขาและลูกทัวร์ยืนอยู่ริมแม่น้ำสิงคโปร์พร้อมกับอธิบายให้ผู้ร่วมทริปฟังว่า เขาว่ากันว่า ชาวจีนอพยพมาเป็นขายตัวที่นี่ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 19

จุดหมายถัดไปเป็นอาคารสำนักงานที่ดูอึมครึม ครั้งหนึ่งเคยเป็นซาวน่าเกย์แห่งแรกของสิงคโปร์ แล้วเขาพากลุ่มนักท่องเที่ยวไปต่อที่ร้านอาหารหรูบนเนินเขา ซึ่งเขาได้ยินมาอีกทีว่า ในอดีต เป็นสถานที่สุดโปรดของกลุ่มเกย์ที่มาหาคู่กัน

ตั้งบอกบีบีซีว่า สาเหตุที่เขาตัดสินใจเปิดบริการทัวร์ประวัติศาสตร์ LGBT เกิดขึ้นหลังจากที่เขารับรู้ว่า สังคมสิงคโปร์เริ่มลืมเลือนความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งทัวร์ของเขาดึงดูดทั้งกลุ่มผู้ที่เป็นเกย์และคนทั่วไป

เขาบอกว่า ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างหนึ่งจากการที่กฎหมายอาญามาตรา 377A ไม่มีผลบังคับใช้คือ คนจะไม่ใส่ใจเพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา และจากกระแสการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวทำให้คนทั่วไปเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBT มากขึ้น แม้ว่าทรัพยากรที่มีอยู่ ยังขาดแคลนที่จะบอกเล่าเรื่องราวได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความพยายามยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นกฎหมายที่ใช้มาอย่างยาวนาน ซึ่งก็ทำให้สังคม LGBT บางส่วนยังคงต้องระมัดระวัง ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลอง

นอกจากนี้ ส.ส. ในสิงคโปร์ยังได้โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลายเป็นการปิดกั้นไม่ให้การสมรสของเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

!function(s,e,n,c,r){if(r=s._ns_bbcws=s._ns_bbcws||r,s[r]||(s[r+”_d”]=s[r+”_d”]||[],s[r]=function(){s[r+”_d”].push(arguments)},s[r].sources=[]),c&&s[r].sources.indexOf(c)<0){var t=e.createElement(n);t.async=1,t.src=c;var a=e.getElementsByTagName(n)[0];a.parentNode.insertBefore(t,a),s[r].sources.push(c)}}(window,document,”script”,”https://news.files.bbci.co.uk/ws/partner-analytics/js/fullTracker.min.js”,”s_bbcws”);s_bbcws(‘syndSource’,’ISAPI’);s_bbcws(‘orgUnit’,’ws’);s_bbcws(‘platform’,’partner’);s_bbcws(‘partner’,’prachachat’);s_bbcws(‘producer’,’thai’);s_bbcws(‘language’,’th’);s_bbcws(‘setStory’, {‘origin’: ‘cps’,’guid’: ‘23122872-db24-4f70-9b10-084cd80b06f4′,’assetType’: ‘STY’,’pageCounter’: ‘thai.international.story.63850751.page’,’title’: ‘LGBT : ประวัติศาสตร์อันมืดมนของกลุ่มเพศทางเลือกในสิงคโปร์กำลังจะเปลี่ยนไป’,’published’: ‘2022-12-04T08:52:36Z’,’updated’: ‘2022-12-04T08:52:36Z’});s_bbcws(‘track’,’pageView’);