“ถ้าฉันได้ยิงก่อน ฉันจะฆ่าแกไอ้ลูกชาย”

“ฆ่าฉันเลยถ้าแกมีโอกาสยิงก่อน ฉันมั่นใจว่าจะฆ่าแกเหมือนกัน ถ้าฉันได้ลั่นกระสุนก่อน” นี่คือคำเตือนของพ่อที่พูดกับลูกชายซึ่งเป็นทหารอยู่ในกองทัพเมียนมา 

โบ จา ไย (นามสมมุติ) เป็นหัวหน้ากลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยความหวังว่าจะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศอีกครั้ง

ภาพประกอบ

BBC
ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาทำให้หลายครอบครัวต้องแตกแยก 

การที่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2021 ได้นำไปสู่ความไม่สงบครั้งใหญ่ในประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สร้างความแตกแยกขึ้นในครอบครัวชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อย รวมถึงครอบครัวของโบ จา ไย ที่ตอนนี้เขากำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารที่ลูกชายของเขามีหน้าที่ปกป้อง

“แกอาจให้โอกาสฉันในฐานะที่เป็นพ่อ แต่ฉันจะไม่ไว้ชีวิตแกแน่” โบ จา ไย บอก “ยียี” (นามสมมุติ) ลูกชายที่เป็นทหารทางโทรศัพท์ “พวกเราเป็นห่วงแกนะ”

“ผมก็เป็นห่วงพ่อเหมือนกันครับ” ปลายสายตอบ “พ่อคือคนที่สนับสนุนให้ผมเป็นทหาร”

โบ จา ไย มีลูกชาย 2 คนเป็นทหารในกองทัพเมียนมา นับแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ลูกชายคนโตที่เป็นทหารก็ไม่รับโทรศัพท์จากเขาอีก

“กองทัพทำลายบ้านเรือน จุดไฟเผา เข่นฆ่าผู้คน ยิงสังหารผู้ประท้วงอย่างไม่เป็นธรรม ฆ่าเด็กโดยไร้เหตุผล ข่มขืนผู้หญิง แกอาจยังไม่รู้เรื่องนี้” โบ จา ไย พยายามพูดโน้มน้าวใจให้ลูกลาออกจากกองทัพ

“นั่นคือความเห็นของพ่อครับ พวกเราไม่ได้มองแบบนั้น…พลเรือนควรอยู่อย่างพลเรือน พวกเขาต้องทำตามกฎนะครับพ่อ” ยียี ตอบพ่อด้วยความเคารพ

แม้เขาจะปฏิเสธคำกล่าวหาของพ่อ แต่ที่ผ่านมามีการเก็บหลักฐานการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพที่ทำต่อประชาชนเมียนมาอยู่มากมาย

หลังคุยโทรศัพท์กับลูกชายเสร็จ โบ จา ไย เล่าให้บีบีซีฟังว่าเขาพยายามโน้มน้าวใจลูกชายทั้งสองให้ออกจากกองทัพมาเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา

“พวกเขาไม่รับฟัง ดังนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตา ถ้าพวกเราต้องประจันหน้ากันในการสู้รบ” เขากล่าว

BBC โบ จา ไย ถือว่าลูกชายที่เป็นทหารทั้งสองได้ตายจากเขาไปแล้ว

โบ จา ไย และยิน ยิน เมียะ (นามสมมุติ) ภรรยามีลูกด้วยกัน 8 คน ตอนที่ลูกชายทั้งสองได้เข้ารับราชการทหาร พวกเขาต่างภาคภูมิใจ และเก็บรูปถ่ายวันสำเร็จการศึกษาของลูกไว้เป็นที่ระลึก

ก่อนสงครามกลางเมืองครั้งนี้จะปะทุขึ้น ชาวบ้านในแถบภาคกลางของเมียนมามีทัศนคติที่ดีต่อทหาร ซึ่งถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และจะช่วยยกระดับทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวให้ดีขึ้น

แต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2021 ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

โบ จา ไย ได้เห็นทหารใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เขาพยายามขอร้องให้ลูกชายทั้งสองลาออกจากกองทัพ แต่ไม่เป็นผล

ก่อนหน้านี้ โบ จา ไย เคยมีอาชีพเป็นเกษตรกร และไม่เคยจับปืนมาก่อน แต่การได้เห็นภาพความโหดร้ายและอยุติธรรมที่ทหารทำกับประชาชนก็ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเครือข่ายพลเรือนติดอาวุธที่เรียกว่า “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” (People’s Defence Force หรือ PDF) เพื่อต่อสู้ด้วยความหวังที่จะนำประชาธิปไตยคืนสู่เมียนมา

ปัจจุบันเขาเป็นหัวหน้าหน่วยซึ่งมีสมาชิกราว 70 คน รวมถึงลูกชายอีก 4 คนที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่เขา พวกเขาเรียกตัวเองว่า “เสือป่า”

วันวิปโยค

ช่วงประมาณตี 3 ของวันหนึ่งในเดือน ก.พ. หน่วยเสือป่าของโบ จา ไย ได้รับแจ้งจากสมาชิกในอีกหมู่บ้านหนึ่งว่าพวกเขากำลังถูกทหารบุกเข้าจู่โจม

มิ่น อ่อง (นามสมมุติ) ลูกชายคนที่ 2 ของโบ จา ไย เตรียมพร้อมเป็นคนแรก โดยเขาและโบ จา ไย ขับมอเตอร์ไซค์นำขบวนกลุ่มเสือป่ามุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านดังกล่าว ทว่าระหว่างทางพวกเขากลับถูกซุ่มโจมตี

“พวกนั้น (ทหาร) ระดมยิงเราเสียงดังเหมือนคั่วข้าวโพด…ไม่มีต้นไม้ใหญ่หรืออะไรให้กำบังตัวทั้งนั้น พวกเราอยู่ในทุ่งสังหาร อาวุธพวกเราสู้พวกเขาไม่ได้” โบ จา ไย เล่า

เขาบอกว่า ดูเหมือนหนึ่งในฝ่ายตรงข้ามจะรู้จักเขาดี และมุ่งการโจมตีมาที่เขา

โบ จา ไย สั่งให้กลุ่มเสือป่าล่าถอย และหาที่หลบภัยตามคันนา ตอนนั้นเองเป็นจังหวะที่เขาพลัดหลงกับลูกชาย

ไม่กี่ชั่วโมงหลังการซุ่มโจมตี กองทัพเมียนมาได้โพสต์รูปถ่ายของผู้ถูกทหารสังหารในครั้งนี้จำนวน 15 คน หนึ่งในนั้นรวมถึง มิน อ่อง

Yin Yin Myint mourns her dead son who helped her around the house
BBC ยิน ยิน เมียะ หัวใจสลายกับการสูญเสียลูกชายผู้เป็นที่รัก

ยิน ยิน เมียะ ที่รอฟังข่าวด้วยความกังวล ต้องหัวใจสลายกับการสูญเสียลูกชายคนที่สนิทกับเธอมากที่สุด

“ลูกชายของฉันเป็นห่วงฉันมาก เขาช่วยทำความสะอาดห้องครัว ซักเสื้อผ้า และเก็บผ้าถุงจากราวตากผ้าให้ฉัน เขาดีกับฉันมาก” เธอกล่าว

เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทหารเมียนมาได้บุกเข้าเผาบ้านเรือนประชาชน 150 หลังคาเรือนในหมู่บ้านของพวกเขา เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคกลางของเมียนมา

เหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2021 ทำให้ประชาชนในเมียนมาต้องพลัดถิ่นฐานกว่า 1.1 ล้านคน และมีบ้านเรือนถูกเผาวอดวายอย่างน้อย 30,000 หลัง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners หรือ AAPP) เปิดเผยว่ามีพลเรือนเมียนมาที่ได้รับการยืนยันว่าถูกทหารสังหารกว่า 2,500 คน แต่ข้อมูลจาก Acled กลุ่มติดตามสถานการณ์ในเมียนมาบ่งชี้ว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้ 10 เท่า

The family home of Bo Kyar Yine has been reduced to ashes
BBC บ้านของ โบ จา ไย ที่เหลือเพียงเถ้าถ่าน

ครอบครัวของโบ จา ไย พยายามอยู่ 2 วันที่จะเข้าไปเก็บศพของลูกชาย แต่ไม่สามารถทำได้เพราะทหารเฝ้าพื้นที่ดังกล่าวอยู่โดยรอบ

“พวกนั้นเฝ้าอยู่ใกล้ศพ ฉันเข้าไปเก็บแม้แต่กระดูกของลูกไม่ได้ ฉันโกรธจริง ๆ ฉันอยากจะไปร่วมรบให้รู้แล้วรู้รอด แต่พวกเขาไม่รับฉัน เพราะฉันเป็นผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี” ยิน ยิน เมี๊ยะ เล่าให้บีบีซีฟังด้วยความอัดอั้นตันใจ

แม้ต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่แต่โบ จา ไย เชื่อว่าขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด และเขาจะสร้างบ้านของครอบครัวขึ้นมาอีกครั้ง

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว