เมียนมา : อดีต จนท. ยูเอ็นชี้ เอกชนหลายชาติช่วยกองทัพผลิตอาวุธปราบประชาชน

อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสสหประชาชาติ ระบุ กองทัพเมียนมาปราบปรามประชาชนตัวเองด้วยอาวุธหลายประเภทโดยได้เครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตจากบริษัทใน 13 ประเทศเป็นอย่างน้อย

ในจำนวนนั้นมีสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, อินเดีย และญี่ปุ่นด้วย แม้ว่าชาติตะวันตกได้ร่วมกันใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อโดดเดี่ยวเมียนมา

เมียนมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในประเทศหลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ ก.พ. 2021 โดยฝ่ายต่อต้านรัฐประหารได้เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหาร

HANDOUT
รายงานระบุว่า กองทัพเมียนมามีความสามารถที่จะผลิตอาวุธด้วยตัวเองเพื่อโจมตีพลเรือนตัวเองอยู่แล้ว

รายงานโดยที่ปรึกษาพิเศษด้านเมียนมา ระบุว่า มีประเทศสมาชิกยูเอ็นหลายประเทศยังคงขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา แม้กองทัพเมียนมามีความสามารถผลิตอาวุธเองเพื่อโจมตีพลเรือนในประเทศอยู่แล้ว

รายงานระบุว่า บริษัทที่ถูกพูดถึงจัดส่งวัตถุดิบ และเครื่องจักรให้กองทัพเมียนมาและช่วยเรื่องการฝึกสอนด้วย โดยอาวุธเหล่านั้นไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันประเทศ

“เมียนมาไม่เคยถูกต่างขาติโจมตี” ยังฮี ลี อดีตผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในผู้เขียนรายงานนี้ ระบุ

“และเมียนมาก็ไม่ได้ส่งออกอาวุธ ตั้งแต่ปี 1950 มา พวกเขาทำอาวุธเองเพื่อใช้กับผู้คนของตัวเอง”

Myanmar's junta chief Senior General Min Aung Hlaing, who ousted the elected government in a coup on February 1, presides an army parade on Armed Forces Day in Naypyitaw, Myanmar, March 27, 2021.

Reuters
ตัวเลขทางการชี้ว่ามีประชาชนมากกว่า 2,600 รายที่ถูกกองทัพสังหารตั้งแต่การก่อรัฐประหาร อย่างไรก็ดี คาดกันว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านั้นเป็น 10 เท่า

ตัวเลขทางการชี้ว่ามีประชาชนมากกว่า 2,600 รายที่ถูกกองทัพสังหารตั้งแต่การก่อรัฐประหาร อย่างไรก็ดี คาดกันว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านั้นเป็น 10 เท่า

“ตอนเริ่มต้น ดูเหมือนว่ากองทัพสามารถเอาชนะขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านที่กำลังก่อตัว แต่ในช่วงไม่กี่เดือนและไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนสถานการณ์จะพลิกผันนิดหน่อย” โซ วิน ตัน บรรณาธิการแผนกภาษาเมียนมา ระบุ เขาอธิบายต่ออีกว่า สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านไม่มีในสิ่งที่กองทัพมีคือ ความสามารถในการโจมตีทางอากาศ

รายงานฉบับนี้ระบุอีกว่า มาตรการคว่ำบาตรโดยนานาชาติและการโดดเดี่ยวเมียนมาหลังจากการก่อรัฐประหาร ไม่ได้หยุดยั้งผู้นำรัฐประหารเมียนมาจากการผลิตอาวุธมากมาย ซึ่งประกอบไปด้วยปืนสไนเปอร์, ปืนต่อสู้อากาศยาน, เครื่องยิงจรวดขีปนาวุธ, ระเบิดมือ, ระเบิด และกับระเบิด

นอกจาก ยังฮี ลี แล้ว ผู้เขียนรายงานคนอื่น ๆ ได้แก่ คริส ซิโดติ และ มาร์ซูกิ ดารัสแมน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในเมียนมาของยูเอ็น

A protester holds a bullet fired during a protest against the military coup in March 2021

Getty Images
อดีตเจ้าหน้าที่สหประชาชาติอาวุโส ระบุ ตั้งแต่ปี 1950 มา พวกเขาทำอาวุธเองเพื่อใช้กับผู้คนของตัวเอง

ข้อมูลที่พวกเขาได้มาจากเอกสารทางการทหารที่หลุดออกมา, การสัมภาษณ์อดีตทหารเมียนมา และภาพถ่ายดาวเทียมของโรงงานผลิตอาวุธ รูปถ่ายก็มีประโยชน์มากเช่นกันเพราะรูปที่ถ่ายเมื่อปี 2017 พิสูจน์ว่ามีการใช้อาวุธที่ผลิตในประเทศก่อนการก่อรัฐประหารแล้ว

คริส ซิโดติ บอกว่า จากเหตุสังหารหมู่เมื่อไม่นานมานี้ที่ภูมิภาคสะแกง ซึ่งเป็นการระเบิดและถล่มยิงโรงเรียนที่ทำให้เด็กหลายคนเสียชีวิต มีการพบอาวุธที่เห็นได้ชัดเจนว่ามาจากโรงงานผลิตอาวุธเหล่านั้น

เชื่อกันว่าเครื่องมือบางอย่างที่ใช้ในการผลิตอาวุธมาจากออสเตรีย เครื่องจักรความแม่นยำสูงที่ผลิตโดยบริษัทจากออสเตรีย GFM Steyr ถูกพบที่โรงงานหลายแห่งโดยถูกนำไปใช้ในการผลิตกระบอกปืน

เมื่อต้องซ่อมบำรุงเครื่องจักรเหล่านี้ มันจะถูกส่งไปยังไต้หวัน และมีรายงานว่าช่างเทคนิคของบริษัท GFM Steyr จะซ่อมแซมมันที่นั่น ก่อนที่จะส่งกลับไปเมียนมา รายงานบอกว่ายังไม่แน่ชัดว่าช่างเทคนิคของบริษัทจากออสเตรียทราบหรือไม่ว่าพวกเขาซ่อมแซมเครื่องจักรที่จะถูกนำไปใช้ในเมียนมา

GFM Steyr ไม่ตอบบีบีซีที่ขอความคิดเห็นในเรื่องนี้ไป

  • ผู้เขียนรายงานยอมรับว่าอาวุธที่พบเป็นแค่ส่วนน้อยของเครือข่ายการผลิตทั้งหมด แต่คิดว่ามีหลายประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ :
  • การผลิตอาวุธในเมียนมาได้วัตถุดิบจากจีน โดยในจำนวนนี้มีทองแดงและเหล็กที่เชื่อว่ามาจากจีนและสิงคโปร์
  • จากข้อมูลการค้นส่งสินค้าและการสัมภาษณ์แหล่งข่าวทางทหาร ส่วนประกอบสำคัญอย่างฟิวส์และเชื้อปะทุไฟฟ้ามาจากบริษัทในอินเดียและรัสเซีย
  • ว่ากันว่าเครื่องจักรในโรงงานผลิตอาวุธเมียนมามาจากเยอรมนี, ญี่ปุ่น, ยูเครน และสหรัฐฯ ส่วนซอฟแวร์ในการตั้งโปรแกรมเครื่องจักร เชื่อว่ามาจากอิสราเอลและฝรั่งเศส
  • รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ดูเหมือนสิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้า โดยบริษัทสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างกองทัพเมียนมากับบริษัทผู้ขาย

หลายทศวรรษมาแล้วที่กองทัพเมียนมาโดนมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ แต่พวกเขาก็ไม่ได้หยุดผลิตอาวุธแต่อย่างใด คริส ซิโดติ บอกว่ามาตรการคว่ำบาตรโดยนานาชาติได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง และมันค่อนข้างง่ายที่บริษัทต่าง ๆ จะหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรด้วยการทำธุรกิจผ่านบริษัทในอีกประเทศที่ไม่ได้โดนมาตรการคว่ำบาตรด้วย หรือไม่ก็ติดต่อกับคนกลางในเมียนมา

ถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าเมียนมาไม่ได้ส่งออกอาวุธให้ประเทศอื่น อย่างไรก็ดี พวกเขาก็เอาอาวุธไปจัดแสดงที่งานจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไทยเมื่อปี 2019 โดยมีจัดการแสดงทั้งกระสุน, ระเบิด และที่ยิงระเบิดมือ

“ชีวิตในเมียนมาสำหรับคนธรรมดาทั่วไปยากลำบากมาก” โรแนน ลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลัฟบะระในลอนดอน เขาบอกว่าเมียนมาไม่ได้เป็นประเทศที่สามารถดำเนินต่อไปได้และเขาคิดว่าระบบภายในประเทศใกล้จะล้มครืนลง

“ตอนนี้เป็นโอกาสของชุมชนนานาชาติที่รู้สึกเป็นห่วงผู้คนในเมียนมาที่จะบอกกับกองทัพว่าพวกเขาไม่สามารถผลิตอาวุธเพื่อใช้กับพลเรือนตัวเองได้อีกต่อไป”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว