ส.ว. ทรงเอ : รังสิมันต์ แฉขบวนการฟอกเงินยาเสพติด ส.ว. “อ. อ่าง” เจ้าของที่ดินตึกพรรค รทสช.

 

tnp

THAI NEWS PIX
หลักฐานแชทข้อความระหว่าง ส.ว. “อ.” กับเลขานุการส่วนตัว ที่นายรังสิมันต์ อ้างว่าเป็นหลักฐานที่เลขาฯ ส.ว. ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

แกนนำพรรคพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยืนยัน “ไม่มีทางไปเกี่ยวข้องกับคนค้ายาเสพติด” หลัง ส.ส. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยข้อมูลขบวนการฟอกเงินจากการค้ายาเสพติดชายแดนของนายทุนเมียนมา ตุน มิน ลัต และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือ “ส.ว. ทรงเอ” ซึ่งรอดจากการถูกดำเนินคดีแต่เพียงผู้เดียว โดยกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งอาคารที่ทำการพรรค รทสช. ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสมาชิกพรรค

ในวันที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ฝ่ายค้านได้พุ่งเป้าอภิปรายโจมตีรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด อบายมุข และการทุจริตคอร์รัปชัน

นี่ถือเป็น “ศึกซักฟอกย่อย” ครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25

ค่ำวานนี้ (15 ก.พ.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงกลุ่มธุรกิจนายทุนเมียนมาที่ร่วมมือกับคนไทยฟอกเงินค้ายาเสพติดที่ชายแดนเมียนมา โดยมี ส.ว. รายหนึ่งอยู่เบื้องหลัง และตั้งคำถามต่อ พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และในฐานะกำกับดูแลสำนักงานแห่งชาติ (ตร.) ว่า “รู้อยู่แก่ใจหรือไม่ว่า ส.ว.คนดีที่ตั้งมากับมือ ทำอะไรอยู่หลังฉาก” อีกทั้งยังกล่าวหาว่า ส.ว. อ. ให้ที่ดินในซอยอารีย์ กทม. ก่อสร้างที่ทำการพรรค รทสช. ใช้ในปัจจุบัน

ต่อมาในช่วงเที่ยงของ 16 ก.พ. นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกพรรค รทสช. ลุกขึ้นชี้แจงกลางสภา โดยยืนยันว่า “รทสช. ไม่ได้เกี่ยวข้อง และจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายเด็ดขาด”

บีบีซีไทยขอสรุปเนื้อหาคำอภิปรายของนายรังสิมันต์ และคำชี้แจงของผู้ถูกพาดพิง ดังนี้

เปิดขบวนการฟอกเงินยาเสพติดทุนเมียนมาและ ส.ว. “ทรงเอ”

นายรังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อปี 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนนครบาล จับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด 3-4 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ไปรับซื้อยาบ้าจากเมียนมาเอามาขายต่อ โดยวิธีการจ่ายค่ากับผู้ผลิตนั้น ไม่ได้โอนให้กันตรง ๆ แต่จะใช้บัญชีม้าซึ่งถูกจ้างให้เปิดขึ้นมาโดยมีผู้ควบคุมบัญชีที่แท้จริงเป็นบุคคลอื่นอยู่นอกประเทศทั้งหมด เงินที่เข้าบัญชีม้านั้นก็พบว่าถูกโอนต่อเข้าบัญชีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อซื้อแล้วแล้วก็ส่งต่อสายข้ามแดนท่าขี้เหล็ก เปลี่ยนกลับเป็นเงินค่ายาบ้า จ่ายให้ผู้ผลิตในที่สุด

เขาอธิบายว่า กระบวนการนี้ทำกันมาตั้งแต่ปี 2550 ในนาม 3 บริษัท และชี้ว่า ทั้งหมดนี้คือ ความพยายามการอำพรางเงินผิดกฎหมาย ตกแต่งกิจกรรมให้ซับซ้อน และดูเหมือนว่าได้ใช้ไปกับเรื่องที่สุจริต

“ถ้ารัฐบาลจริงจังกับที่แถลงเอาไว้ก็ต้องจัดการกับกลุ่มผู้ที่คอยฟอกเงินกับผู้ค้ายาเหล่านี้ทั้งหมด”

ส.ส. ก้าวไกลรายนี้ อภิปรายต่อด้วยว่า ในวันที่ 17 ก.ย. 2565 ตำรวจกองบังคับการสืบสวนนครบาล จับกุมผู้ต้องหาในเครือข่ายนี้ได้ 4 ราย คือ นายตุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา, นายดี (นามสมมติ) สัญชาติไทย และหญิงไทยอีก 4 คน ถูกฟ้องต่อศาลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ราย ที่ถูกออกหมายจับและอยู่ระหว่างหลบหนี ได้แก่ เจ้าพ่อเว็บพนัน 1 ใน 3 รายใหญ่ของไทย และหญิงอีกรายหนึ่ง

กองโฆษก กก

กองโฆษก พรรคก้าวไกล
เครือข่ายผู้ต้องหาขบวนการฟอกเงินและค้ายาเสพติดข้ามชายแดนไทยเมียนมา

เขาระบุว่า จากข้อมูลพบว่า “นายตุน มิน ลัต ชายชาวเมียนมาที่ถูกจับนั้น มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยาวนานกับชายชาวไทยคนหนึ่ง ชื่อนาย อ. อ่าง เราอาจจะเรียกชื่ออีกชื่อหนึ่ง คือ อ.อ่าง ทรงเอ”

“นาย อ.อ่าง เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นบริษัท อัลลัวร์กรุ๊ป (Allure Group) และเคยร่วมทุนกับนายตุน มิน ลัต ก่อตั้งบริษัท เมียนมา อัลลัวร์ ซึ่งเป็นสองบริษัทที่พัวพันกับการฟอกเงินที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ นาย อ.อ่าง ยังมีศักดิ์เป็นพ่อตาของนายดี ที่ถูกจับไปรอบเดียวกันกับนายตุน มิน ลัต ซึ่งเคยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการอยู่ในอัลลัวร์ กรุ๊ป และเมียนมา อัลลัวร์”

นายรังสิมันต์ระบุว่า นาย อ.อ่าง คนนี้เป็นผลงานการคัดสรรรของคณะรัฐประหาร คสช. ให้เข้ามาเป็น ส.ว. เป็น ส.ว. ชุดแรกที่ขานชื่อโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ ก่อนตั้งคำถามว่าคนใน คสช. เป็นทหารมาทั้งชีวิต เคยเป็นผู้นำกองทัพ มีกำลังพลดูแลชายแดนมากมาย “มีหรือจะไม่รู้ว่าขบวนการค้ายาเสพติด มีใครเกี่ยวข้องบ้าง มีหรือจะไม่รู้ว่านายทรงเอคนนี้ พื้นเพเป็นคนอย่างไร”

ส.ส. ก้าวไกล อภิปรายด้วยว่า เมื่อมีข่าวว่า นายตุน มิน ลัต ถูกจับ ส.ว. “อ.อ่าง” ก็ออกมาปฏิเสธ ความเกี่ยวข้องเป็นการใหญ่ อ้างว่า ก็รู้จักกันอยู่แต่ไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบาง และหลายปีมานี้ก็หันมาสนใจพระพุทธศาสนา และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป หรือเมียนมา อัลลัวร์ ก่อนเข้ามาเป็น ส.ว.

ทั้งนี้ นายตุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายหน้าค้าอาวุธและใกล้ชิดกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

เผยหลักฐานแชท ชี้ ส.ว. อ. ใช้นอมินีตั้งบริษัทที่ฟอกเงินผ่านการซื้อขายไฟฟ้า

นายรังสิมันต์ได้นำแชทข้อความที่อ้างว่าเป็นข้อความระหว่าง ส.ว. รายนี้ กับเลขานุการส่วนตัว ชื่อ ป.ปลา ที่ถูกจับกุมไปแล้ว มาเปิดกลางสภา โดยชี้ว่า ส.ว. รายนี้ อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ พร้อมระบุด้วยว่า เลขาฯ ป.ปลา ยอมรับกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า การจดแจ้งบริษัทเป็นเพียงการนำชื่อตนเองเป็นนอมินีไปจดจัดตั้งเท่านั้น

นายรังสิมันต์ให้ข้อมูลว่า บริษัท อัลลัว พีแอนด์อี คือ บริษัทที่ฟอกเงินผ่านการซื้อขายไฟฟ้า มีนาย ตุน มิน ลัต ถือหุ้นใหญ่ นาง ป. เลขาฯ ถือหุ้นเป็น นอมินี ให้ ส.ว. อ. ส่วนกรรมการอีกคน นายตุน มิน ลัต ฝากมาว่า ขอให้เป็น นาง น. ภรรยาของบุคคลหนึ่งซึ่ง นาง น. ได้ถูกตำรวจจับไปด้วยเช่นกัน

“(ส.ว. อ.) คอยคุม แม้กระทั่งการใช้โลโก้… มีการขอให้จัดสถานที่” นายรังสิมันต์เปิดเผยหลักฐานแชทที่อ้างว่าเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ ส.ว. ชุดนี้ ทำหน้าที่ในสภาแล้ว

นายรังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อตั้งอัลลัวร์ พีแอนด์อี นาง ป.ปลา เลขาฯ ทำหน้าที่ส่งรายงานให้กับ ส.ว. อ. โดยเรียกขานว่าเป็น “เจ้านาย” รายละเอียดของรายงานที่ส่งผ่านแอปพลิเคชันสนทนา มีทั้งค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายเงินเดือน รายได้ของ ส.ว. ที่ นายตุน มิน คำนวณมา และให้ ส.ว. อ. โอนเงินไปให้ทุกเดือน ขณะเดียวกันในหลักฐานบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เหล่านี้ เอกสารอภิปรายของนายรังสิมันต์ ปรากฏข้อความยอมรับว่าเป็นภาพจากโทรศัพท์มือถือของ นาง ป. ลงวันที่ 18 ก.ย. 2565

“นาง ป. ถูกจับแล้ว ต้องเผชิญคดีร้ายแรงที่โทษสูงสุด คือประหารชีวิต เพราะยอมทำตามคำสั่งของเจ้านายที่ลอยตัวไม่ยอมมาซวยด้วย ถ้า นาย อ. ลาออกจากเครืออัลลัวร์ไปแล้วจริง ๆ ไม่ยุ่งแล้วจริง ๆ ก็คงไม่ให้ นาง ป. ลูกน้องคนสนิทมาคอยรีพอร์ตเรื่องภายในบริษัทอยู่เรื่อย ๆ”

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังบรรยายถึงหลักฐานสลิปโอนเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ใบเสร็จค่าไฟฟ้า ค่าเช่าที่ดินของอัลลัวร์ รีสอร์ทที่เมืองท่าขี้เหล็กในเมียนมา และการปรึกษาพูดคุยระหว่าง นายตุน มิน ลัต และ ส.ว. อ. อีกด้วย

“ตุน มิน ลัต คุย กับ ส.ว. ชัด ๆ ให้แชร์ค่าเช่าที่ดินของอัลลัวร์ รีสอร์ท ที่ท่าขี้เหล็กไปด้วย” นายรังสิมันต์ ระบุ พร้อมตั้งคำถามว่า รีสอร์ทแห่งนี้ ส.ว. อ. อ้างว่าขายไปแล้ว เหตุใดจึงมีข้อความตอบตกลงร่วมจ่ายค่าเช่าที่ดิน “แปลว่า ส.ว. อ. ยังร่วมดูแลกิจการหรือไม่”

“ภาพหลักฐานและพฤติการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ มันส่อให้เห็นว่า ส.ว. ทรงเอ อย่างนาย อ. ไม่ได้วางมือจากธุรกิจไปไหน แต่ยังคงอยู่เบื้องหลังทุกคน ทั้งตุน มิน ลัต ทั้งลูกเขย ทั้งลูกน้อง ตัวเอง ในธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเงินค้ายาเสพติด และคนอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ คสช. ที่ตั้งคนเหล่านี้มา ไม่เชื่อหรอกว่า ท่านไม่รู้อยู่แก่ใจว่า ส.ว. คนนี้ทำอะไร อยู่หลังฉาก”

ถอนหมายจับ ส.ว. อ. ตำรวจทำคดี ถูกเด้ง

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ในคดีขบวนการฟอกเงินยาเสพติดนักธุรกิจเมียนมา เมื่อมีหลักฐานชัดเจนทางตำรวจสืบนครบาล จึงออกหมายจับ ส.ว. อ. เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ในความผิดร้ายแรงและฟอกเงิน ต่อมาศาลอนุมัติหมายจับด้วย

เขาระบุว่า ปกติคนสถานะระดับนี้ ศาลไม่มีทางออกหมายจับได้ง่าย ๆ แต่ในภายหลังปรากฏว่า หลังจากศาลอนุมัติหมายจับช่วงเช้า ในช่วงบ่ายมีการเรียกให้ถอนหมายจับ โดยนายรังสิมันต์ได้นำเอกสารลายมือ ส่วนเพิ่มเติมท้ายเอกสารแจ้งสาเหตุให้ถอนหมายจับ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การถอนหมายจับไม่ได้เป็นเพราะหลักฐานอ่อน แต่เพราะเป็นบุคคลสำคัญจะไปออกหมายจับทันทีไม่ได้ และตำรวจไม่ได้บอกศาลว่า บุคคลนี้เป็นบุคคลสำคัญ จึงทำให้ศาลออกหมายจับไปก่อน

“เมื่อพิจารณาคำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ทางผู้ร้องแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่า ผู้ถูกออกหมายจับเป็นบุคคลสำคัญ แต่ไม่ได้แจ้งให้ศาลทราบ จึงให้เพิกถอนหมายจับกับหมายค้นเสีย เพื่อให้หมายเรียกก่อนภายใน 15 วัน หากบุคคลสำคัญดังกล่าว มิได้มาตามหมายเรียก ให้ผู้ร้องดำเนินการขอออกหมายจับต่อไป… เหตุที่ให้ออกหมายเรียก เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเชื่อว่าไม่มีพฤติการณ์หลบนี้” นายรังสิมันต์ อ่านข้อความบางส่วนของเอกสารถอนหมายจับ ส.ว. อ. ของศาลอาญา ที่ถอนหมายจับไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565

บีบีซีไทยไม่สามารถยืนยันข้อมูลของเอกสารที่ใช้อภิปรายกลางสภาได้ แต่ก่อนหน้านี้มีข้อมูลปรากฏในสื่อบางสำนักว่าตำรวจได้ขออนุมัติออกหมายจับนักการเมืองรายหนึ่ง แต่ทั้งศาลอาญา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยออกมายืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

นายรังสิมันต์ยังกล่าวด้วยว่า พ.ต.อ. กฤศณัฏฐ์ธน ศุภณัฏฐ์ ผู้กำกับสองสืบนครบาล ซึ่งรับผิดชอบคดีนี้ ได ถูกย้ายไปปฏิบัติงานที่พื้นที่อื่นแล้ว

“รางวัลของเขาคือการถูกเด้งไกลไปหลายร้อย กม. ไปอยู่ สภ.บ้านเดื่อ จ.ชัยภูมิ ทั้งที่ ผบ.ตร. เคยสั่งการไว้ว่า การจะสั่งย้ายใครต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องในการทำคดียาเสพติดด้วย” นายรังสิมันต์กล่าว

ส.ว. ทรงเอ เจ้าของที่ดินซอยอารีย์ สร้างตึกให้พรรค รทสช.

นายรังสิมันต์อภิปรายต่อมาว่า ที่ดินในย่านอารีย์ กรุงเทพฯ ที่ ส.ว. เป็นเจ้าของ เกี่ยวพันกับ พล.อ. ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

นายรังสิมันต์กล่าวว่า เนื้อที่ 2 งาน 17 ตารางวา ในซอยอารีย์ ซอย 5 ใจกลางเมือง เดิมเป็นของบริษัทหนึ่ง ปี 2563 และมี ส.ว. อ. เป็นเจ้าของที่ดินและมีการก่อสร้างอาคารยูพีเอ ในลักษณะที่ ส.ว. อ. วานให้ยูพีเอก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันอาคารแห่งนี้คือ อาคารที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) บ้านหลังใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์

“หลังจากที่ทนอยู่ใต้ชายคาบ้านป่ารอยต่อไม่ไหวอีกแล้ว ชัดเจนแล้วว่า การตั้ง นาย อ. ให้เป็น ส.ว. เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยโหวตให้เป็นนายกฯ ยังช่วยรับเหมาสร้างพรรคใหม่ให้ด้วย… อยากให้ พล.อ. ประยุทธ์ ช่วยชี้แจงว่า ได้มีการทำสัญญาให้พรรค รทสช. ว่าได้ทำสัญญาให้พรรค รทสช. เช่าที่ดินหรือตึกตรงนี้ราคาเท่าไหร่ หรือให้ยืมฟรี ๆ หรือไม่ หมดยุคยืมนาฬิกาเพื่อนกันแล้ว มายืมที่ดินกันเองเลยหรือเปล่า”

ธนกร vs รังสิมันต์

ต่อมาในช่วงเที่ยงของ 16 ก.พ. พล.อ. ประยุทธ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทว่ายังไม่ได้ตอบข้อสงสัยของนายรังสิมันต์เกี่ยวกับที่ตั้งอาคารพรรค รทสช. ของ ส.ว. อ. ทำให้นายรังสิมันต์ลุกขึ้นมาถามย้ำในเรื่องนี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้สิทธิชี้แจงในฐานะสมาชิก รทสช. โดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่ ส.ส. ก้าวไกลอภิปรายเป็นการกล่าวหา ทำให้ประชาชนสับสน เขา และพรรคของเขาได้รับความเสียหาย และไม่เป็นธรรม ก่อนเกิดวิวาทะไปมาของ 2 ฝ่าย

ธนกร: กรณีกรณีเช่าตึก เราได้มีการเช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ ส.ว. ที่ท่านกล่าวหาไม่ได้มีหุ้นอยู่ ท่านดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ทุกวันนี้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเกี่ยวข้องอะไร แต่ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าผมกล่าวหาว่า พรรค กก. ของท่านเช่าตึกไทยซัมมิทที่มีเจ้าของไปเกี่ยวข้องคดีรุกป่า หรือมีบางท่านไปเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนใต้โต๊ะอะไรต่าง ๆ ผมก็เชื่อว่าท่านไม่ได้เกี่ยวข้องหรอกครับ ฉะนั้นเป็นตรรกเดียวกัน ท่านอย่ามาพูดอย่างนี้ ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมเลย ท่านเอาข้อเท็จจริงมาเลย

ผมได้คุยกับหัวหน้าพีระพันธุ์เมื่อคืน ก็บอกพร้อมชี้แจง มีเอกสารหลักฐานยืนยันทุกอย่าง… หัวหน้าพรรคของผมขึ้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ท่านเป็นอดีตผู้พิพากษามาก่อน จะกล่าวหาไรก็ต้องมีหลักฐาน ผมก็เชื่อว่าพรรค ก.ก. ของท่าน ใครทำผิด พรรค ก.ก. ก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกัน พรรคผมก็ไม่ได้เกี่ยว

รังสิมันต์: ข้อแรก พรรค ก.ก. ไม่ได้อยู่ที่ซัมมิทครับ พรรค ก.ก. อยู่ที่อาคารอนาคตใหม่ รามคำแหง 12 คนละที่กับไทยซัมมิท ข้อสอง หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. อ.อ่าง มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ในความเป็นจริงมีการออกหมายจับ ส.ว. คนนี้แล้ว แต่ตอนแรกศาลไม่รู้ว่าเป็นบุคคลสำคัญ เพราะเป็น ส.ว. ที่ไม่มีชื่อเสียง ส.ว. โนเนมเท่านั้นเอง และสุดท้ายมีการถอนหมายจับ เกี่ยวกับตุน มิน ลัต

ที่ท่านเช่าที่อาจจะมีสัญญาก็ได้ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเบื้องลึกเบื้องหลังท่านคืออะไร แต่มันบังเอิญจริง ๆ ที่ ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและค้ายาเสพติด มาเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองของท่าน และมันก็บังเอิญจริง ๆ ที่ ส.ว. คนนี้ก็ถูกเพิกถอนหมายจับ พร้อม ๆ กับที่พรรคของท่านมีอำนาจอยู่ในทุกวันนี้

ธนกร: ขออนุญาตชี้แจงเพิ่ม ผมก็มีเอกสารยืนยัน แล้วที่บอกว่าเกี่ยวข้องกับพรรค รทสช. ผมถึงบอกว่าเราเช่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และ รทสช. ไม่มีทางไปเกี่ยวข้องกับคนค้ายาเสพติดเหมือนที่ท่านกล่าวหา ซึ่งตรงนี้ท่านก็ไปดำเนินการของท่านไปเอง เราไม่เกี่ยวอยู่แล้ว ในวันนี้ผมก็ยืนยันว่าเรามีหลักฐาน เพราะการดำเนินการของพรรค เราอย่าไปบอกเลยว่าพรรคท่านดีกว่าพรรคผม ไม่ใช่นะฮะ… เราไม่มีโอกาสรู้หรอกว่า พรรคไหน เจ้าของตึกไหน ไปทำอะไรมาบ้าง… ผมยืนยันว่า รทสช. ไม่ได้เกี่ยวข้อง และจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายเด็ดขาด

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว