รัสเซีย ยูเครน : จีนช่วยอะไรแก่รัสเซียบ้างในสงครามนี้

 

Presidents Putin and Xi in February 2022

Reuters
ปธน.ปูติน และ ปธน.สี พบหารือเมื่อเดือน ก.พ. 2022 เพื่อกระชับความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า จีนกำลังพิจารณาส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบ่งชี้ว่า จีนอาจให้ความช่วยเหลือด้านข่าวกรองแก่กองกำลังรัสเซียที่สู้รบในยูเครนอยู่แล้ว และกำลังก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายสำคัญของรัสเซีย

จีนส่งอาวุธไปช่วยรัสเซียหรือไม่

จีนได้ขยายขีดความสามารถในการผลิตด้านการทหาร และปัจจุบันถือเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) ระบุว่า “อาวุธของจีนมีความก้าวหน้ามากขึ้นทุกขณะ”

“ยกตัวอย่างเช่น โดรนของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธภัณฑ์ที่รัสเซียน่าจะสนใจเป็นอย่างมาก”

สหรัฐฯ ระบุว่า ที่ผ่านมา บริษัทจีนได้ให้ “ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธสังหาร” ต่อรัสเซียอยู่แล้ว และมีข้อมูลใหม่ที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลจีนอาจให้ “ความช่วยเหลือด้านอาวุธสังหาร” ด้วย

รัฐบาลสหรัฐฯ เตือนว่า การยกระดับความช่วยเหลืออาจทำให้จีนต้องเผชิญ “ผลลัพธ์ร้ายแรง” ตามมา

ดร.มาเรีย ชากินา ผู้เชี่ยวชาญด้านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระบุว่า จีนไม่ได้ส่งอาวุธไปช่วยรัสเซียอย่างเปิดเผย แต่อาจขายยุทโธปกรณ์ไฮเทคที่สามารถนำไปใช้ด้านการทหารให้แก่รัสเซียอย่างลับ ๆ

“มีหลักฐานว่าจีนคือผู้ส่งออก “สารกึ่งตัวนำ” หรือ เซมิคอนดักเตอร์ รายใหญ่ที่สุดให้แก่รัสเซีย โดยทำผ่านบริษัทเปลือก (shell company) ในฮ่องกงและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” เธอกล่าว

“บริษัทจีนบางรายยังจัดหาโดรนให้รัสเซีย โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายระหว่างจุดประสงค์ด้านการทหารและพลเรือน”

ศูนย์ศึกษาขั้นสูงด้านความมั่นคง (Center for Advanced Defense Studies) ในสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทจีนอาจส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้รัสเซียใช้ในระบบเรดาห์ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรบริษัทจีนรายหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าส่งภาพถ่ายดาวเทียมของยูเครนให้กลุ่มทหารรับจ้างแวกเนอร์ (Wagner) ซึ่งช่วยรัสเซียรบกับยูเครน

จีนช่วยด้านเศรษฐกิจรัสเซียอย่างไร

หลังจากรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. ปีก่อน บรรดาชาติตะวันตกได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ เพื่อตอบโต้รัสเซีย เช่น การห้ามนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งออกสินค้าไฮเทคให้รัสเซีย

บริษัทตะวันตกหลายรายได้ตัดสัมพันธ์กับรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ตัวเลขการค้าระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ดิ่งฮวบลงในปี 2022

อย่างไรก็ตาม การค้าโดยรวมระหว่างรัสเซียกับจีนในปี 2022 กลับมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2021

ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจีนสู่รัสเซียก็เพิ่มขึ้น 13% แตะระดับ 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตัวเลขการส่งออกสินค้ารัสเซียสู่จีนเพิ่มขึ้น 43% ไปอยู่ที่ 114,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่มูลค่าการค้าของรัสเซียกับประเทศตะวันตกดำดิ่งลงในปี 2022 จีนได้ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

จีนซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเท่าใด

ในปี 2022 รัสเซียส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG สู่จีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2021

นอกจากนี้ยังขายก๊าซธรรมชาติให้จีนเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2022 ผ่านท่อส่งก๊าซพาวเวอร์ออฟไซบีเรีย (Power of Siberia) อีกทั้งยังส่งออกน้ำมันดิบให้จีนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปริมาณการค้าพลังงานเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นกับจีนช่วยชดเชยยอดขายน้ำมันและก๊าซให้กลุ่มอียูที่รัสเซียสูญเสียไปเมื่อปีก่อนได้

ในปี 2021 ก๊าซจากรัสเซียมีสัดส่วน 40% ของก๊าซที่อียูนำเข้าทั้งหมด แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 15% ในปี 2022

ขณะที่ปริมาณน้ำมันที่อียูซื้อจากรัสเซียมีสัดส่วน 14% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในปี 2022 ลดลงจากปี 2021 ซึ่งมีสัดส่วน 26%

LNG terminal second phase under construction

Getty Images
รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดไปยังจีน แทนที่ซาอุดีอาระเบีย โดยลดราคาขายน้ำมันดิบให้จีนในขณะที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน

เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ประจำปีของรัฐบาลรัสเซียมาจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือ จี 7 รวมทั้งอียู และออสเตรเลีย ได้กำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล โดยมีเป้าหมายตัดลดรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย เพื่อไม่ให้นำเงินไปใช้ทำสงครามในยูเครน

อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธทำตามมาตรการดังกล่าว และซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียตามราคาในตลาดโลก

ปัจจุบันรัสเซียกำลังวางแผนขยายการส่งออกสินค้าด้านพลังงานเชื้อเพลิงให้แก่จีน

ทั้งสองชาติได้ทำข้อตกลงสร้างท่อส่งก๊าซแห่งใหม่ ที่ชื่อ “พาวเวอร์ออฟไซบีเรีย 2” โดยท่อส่งพาวเวอร์ออฟไซบีเรียแห่งแรกเริ่มใช้งานในปี 2019 ภายใต้สัญญา 30 ปีที่มีมูลค่ากว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าท่อก๊าซแห่งใหม่จากไซบีเรียจะเริ่มเปิดใช้งานเมื่อใด

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว