
นักฟิสิกส์คนดังแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับเพนตากอน เตรียมออกค้นหาเศษชิ้นส่วนอุกกาบาตที่ตกนอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี เพราะต้องสงสัยว่าแท้จริงวัตถุดังกล่าวเป็นยานสำรวจขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะถูกส่งมาจากยานแม่ของเอเลียนเพื่อสำรวจโลกและระบบสุริยะ
ดร. อาวี โลบ (Avi Loeb) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และดร. ฌอน เอ็ม. เคิร์กแพทริก (Sean M. Kirkpatrick) ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนเพื่อไขความกระจ่างเหตุการณ์ประหลาดที่ยังไร้คำอธิบาย (AARO) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เผยแพร่รายงานฉบับร่างที่พวกเขาร่วมกันเขียนขึ้นเรื่อง “ข้อจำกัดทางกายภาพว่าด้วยปรากฏการณ์ทางอากาศซึ่งไม่สามารถระบุที่มาได้”
- กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”
- วันหยุดเดือนมิถุนายน 2566 เช็กวันหยุดราชการ วันหยุดชดเชย วันสำคัญ
- อนุทินเปิดตัวภรรยาคนที่ 3 หลังหย่าแจก 50 ล้าน จ่ายเงินสดรายเดือนตลอดชีพ
รายงานนี้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานของ ดร. โลบ ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าดาวเคราะห์น้อยรูปร่างประหลาด “โอมูอามูอา” ที่เป็นแท่งยาวคล้ายซิการ์และเดินทางมาใกล้โลกเมื่อปี 2019 นั้น แท้จริงแล้วเป็นยานแม่ของเอเลียนจากนอกระบบสุริยะ แต่ได้อำพรางตนเองให้มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง ทว่ากลับไม่มีกลุ่มก๊าซห่อหุ้มเหมือนดาวหางทั่วไป ทั้งยังสามารถเร่งความเร็วขึ้นในทิศทางที่ออกห่างจากดวงอาทิตย์ ซึ่งนับว่าผิดปกติอย่างยิ่ง

ดร. โลบระบุว่า ก่อนหน้าที่โอมูอามูอาจะเดินทางมาเยือนโลก 6 เดือน มีเหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์น้อย IM2 ความกว้างราว 1 เมตร พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งต่อมาองค์การนาซายืนยันว่า IM2 เป็นวัตถุอวกาศชิ้นแรกที่พบว่ามาจากนอกระบบสุริยะ ทั้งยังมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษเหนืออุกกาบาตที่พบทั่วไปด้วย
“สองเหตุการณ์นี้บังเอิญเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า วัตถุอวกาศเทียมจากนอกระบบสุริยะอย่างโอมูอามูอา อาจเป็นยานแม่ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว ซึ่งได้ปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กจำนวนมากออกมาขณะเดินทางเข้าใกล้โลก เพื่อให้ยานที่ดูคล้ายกับอุกกาบาตก้อนเล็ก ๆ นี้ ทำการสำรวจโลกและระบบสุริยะ” รายงานของดร. โลบ และดร. เคิร์กแพทริก ระบุ
นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองชี้ว่า ปฏิบัติการสำรวจอวกาศของเอเลียนในลักษณะนี้ ไม่ได้แตกต่างไปจากวิธีการที่นาซาส่งดาวเทียมหรือยานสำรวจขนาดเล็กออกไปศึกษาห้วงอวกาศนอกโลกเลย

ดร. โลบ เรียกสิ่งที่อาจเป็นยานสำรวจในรูปของอุกกาบาตเทียมอย่าง IM2 ว่า “เมล็ดแดนดิไลออน” (Dandelion seeds) เนื่องจากดอกแดนดิไลออนนั้นสามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ของมันออกไปกับสายลม เหมือนกับที่ยานแม่ของเอเลียนอาจส่งยานสำรวจขนาดเล็กจำนวนมากออกสำรวจระบบสุริยะได้ โดยใช้ประโยชน์จากแรงไทดัลที่เกิดขึ้นเพราะความโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ หรืออาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่น ๆ
เนื้อหาของรายงานยังชี้ว่า เป็นเรื่องยากที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถตรวจจับเมล็ดแดนดิไลออนจากต่างดาวนี้ได้ เพราะมีขนาดเล็กจนไม่อาจสะท้อนแสงอาทิตย์มากพอที่จะให้กล้องโทรทรรศน์มองเห็นได้
นอกจากนี้ มันยังสามารถตกสู่พื้นโลกโดยไม่ถูกเผาไหม้จนหมดไปในบรรยากาศ หากมีการออกแบบให้รูปทรงคล้ายร่มชูชีพ โดยสัดส่วนพื้นผิวที่มากกว่ามวลจะทำให้ร่อนลงสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ดร. โลบระบุด้วยว่า บนยานแม่ของเมล็ดแดนดิไลออนเหล่านี้ ในปัจจุบันอาจไม่มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาหลงเหลืออยู่ เนื่องจากไม่อาจทราบได้ว่ายานแม่และยานสำรวจขนาดเล็กถูกส่งให้ออกมาทำภารกิจสำรวจจักรวาลตั้งแต่เมื่อใด จึงมีความเป็นไปได้ว่าเผ่าพันธุ์และอารยธรรมต่างดาวที่อยู่ในกาแล็กซีอันไกลโพ้น อาจดับสูญไปจนหมดสิ้นแล้วก่อนยานเดินทางมาถึงโลกก็เป็นได้ ซึ่งนี่คือคำอธิบายของดร. โลบ ต่อการที่นักวิทยาศาสตร์ไม่พบสัญญาณของสิ่งมีชีวิตใด ๆ ในโอมูอามูอา

แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของดร. โลบ ทั้งยังมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ชี้ว่า โอมูอามูอาเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยธรรมดาที่เคลื่อนตัวแบบประหลาดจากการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจน แต่ดร. โลบยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อพิสูจน์สมมติฐานของเขาต่อไป
ล่าสุด ดร. โลบกำลังเตรียมการร่วมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อค้นหาเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตแบบที่คล้ายกับ IM2 โดยมีเป้าหมายเป็นก้อนอุกกาบาตซึ่งตกลงที่นอกชายฝั่งเกาะมานุส (Manus Island) ของประเทศปาปัวนิวกินี เมื่อปี 2014
โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ค้นหาด้วยวิธีใช้เรือลากเลื่อนติดตั้งแม่เหล็กไปตามพื้นมหาสมุทร ที่ระดับความลึก 1.7 กิโลเมตร ภายในพื้นที่เป้าหมายกว้างราว 100 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนขนาดเล็กของอุกกาบาตดังกล่าวมาทำการพิสูจน์ว่าเป็นวัสดุธรรมชาติหรือเป็นวัสดุที่มาจากการประดิษฐ์ขึ้นกันแน่
“โครงการนี้มีโอกาสล้มเหลว แต่เราก็ต้องลงมือทำ เพราะการประกาศแนวคิดทฤษฎีที่ไม่ธรรมดา ต้องการหลักฐานในระดับที่เหนือชั้นมายืนยันด้วยเช่นกัน” ดร. โลบกล่าวปิดท้าย
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว