กลิ่นตัวบำบัด นักวิทยาศาสตร์สวีเดนทดลองใช้กลิ่นเหงื่อรักษาโรควิตกกังวล

Getty Images นักวิทยาศาสตร์เก็บกลิ่นเหงื่อจากบริเวณรักแร้มาทำการทดลอง

เหงื่อที่ร่างกายของคนเราผลิตออกมาในช่วงที่มีความสุขหรืออยู่ในอารมณ์ผ่อนคลาย มีสรรพคุณช่วยลดอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยโรคกลัวสังคมได้—นี่คือสมมติฐานของทีมนักวิทยาศาสตร์สวีเดนที่กำลังทำการทดลองด้วยการให้ผู้ป่วยดมกลิ่นเหงื่อที่เก็บมาจากรักแร้ของอาสาสมัคร

คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนจากสถาบัน Karolinska ในกรุงสตอกโฮล์ม นำเสนอผลการทดลองเบื้องต้นในที่ประชุมนานาชาติด้านจิตเวชศาสตร์ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มี.ค. ที่ประเทศฝรั่งเศส

พวกเขาตั้งสมมติฐานว่า เหงื่อที่ร่างกายขับออกมาขณะอารมณ์ดีมีความสุขจะไปกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ทำให้คนที่ได้กลิ่นนี้ผ่อนคลายและสงบลง ซึ่งการทดลองนี้อยู่ในระยะแรกเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะพิสูจน์สมมติฐานนี้ว่าเป็นจริง

มนุษย์กับกลิ่น

นักวิทยาศาสตร์เจ้าของโครงการทดลองนี้อธิบายว่า คนเราเกิดมาพร้อมกับประสาทรับกลิ่นที่ดีเยี่ยม ทารกแรกเกิดจะโปรดปรานกลิ่นตัวแม่และกลิ่นนมแม่เป็นพิเศษ เมื่อโตขึ้นการรับรู้กลิ่นช่วยให้เราตรวจจับอันตรายรอบตัวและปกป้องตัวเองจากภัยนั้น เช่น กลิ่นของอาหารที่ไม่ปลอดภัย กลิ่นควันไฟ เป็นต้น กลิ่นมีผลต่อปฏิกิริยาของเราต่อสภาพแวดล้อมและต่อผู้คนที่พบเจอ กลิ่นยังทำให้เรารับประทานอาหารอร่อยขึ้นและกระตุ้นความทรงจำเก่า ๆ ในอดีตได้อีกด้วย

มนุษย์มีเซลล์ประสาทรับกลิ่นอยู่บริเวณเพดานภายในช่องจมูก เมื่อได้กลิ่น เซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ใต้สมองที่เรียกว่าระบบลิมบิค ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความทรงจำ

การทดลอง

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า กลิ่นตัวของมนุษย์บ่งบอกถึงภาวะอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นได้ว่ามีความสุขหรือวิตกกังวล และยังสามารถทำให้คนอื่นที่ได้กลิ่นนี้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกัน จึงได้ทำการทดลองโดยเริ่มจากการเก็บตัวอย่างเหงื่อที่รักแร้ของอาสาสมัครขณะที่พวกเขากำลังดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสนุกสนานหรือเขย่าขวัญ

Advertisment

จากนั้นก็นำกลุ่มตัวอย่างจำนวน 48 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีอาการของโรคหวาดกลัวสังคม (social anxiety) มาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้สูดดมกลิ่นเหงื่อของอาสาสมัคร อีกกลุ่มหนึ่งให้สูดอากาศบริสุทธิ์เฉย ๆ โดยทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการบำบัดอาการหวาดกลัวสังคมด้วยวิธีฝึกจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันและหลีกเลี่ยงการคิดวนเวียนในแง่ลบควบคู่ไปด้วย

ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้ดมกลิ่นเหงื่อมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดมกลิ่นเหงื่อ

Advertisment

เอลิซา วิกนา หัวหน้าทีมวิจัย วิเคราะห์ว่า “เหงื่อที่ร่างกายขับออกมาขณะที่กำลังมีความสุขให้ผลเช่นเดียวกับเหงื่อที่ออกมาขณะดูภาพยนตร์เขย่าขวัญ มีความเป็นไปได้ว่าเหงื่อของมนุษย์มีสารเคมีบางอย่างที่ส่งผลต่อการรักษาอาการวิตกกังวล”

“เป็นไปได้เช่นกันว่านี่อาจเป็นแค่ผลจากการที่ผู้ปวยได้รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่ง จึงรู้สึกดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องศึกษากันต่อไป การทดลองหลังจากนี้ เราจะเก็บตัวอย่างกลิ่นเหงื่อของอาสาสมัครขณะดูภาพยนตร์สารคดีที่ไม่เร้าอารมณ์ใด ๆ มาทดลองด้วย”

ทำไมต้องเก็บเหงื่อจากรักแร้

เหงื่อที่ขับออกมาทางผิวหนังส่วนใหญ่จะไม่มีกลิ่น แต่ต่อมเหงื่อที่รักแร้และขาหนีบจะขับสารประกอบบางอย่างออกมาด้วย เมื่อสารประกอบนี้เจอกับแบคทีเรียบนผิวหนังและบริเวณรูขุมขนก็จะเกิดเป็นกลิ่นตัวขึ้นมา

ดันแคน โบค จากองค์กรการกุศลที่ชื่อ Fifth Sense ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านการรับรู้กลิ่นและรส ยืนยันถึงความสำคัญของกลิ่น และสนับสนุนการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและสุขภาพจิตของคน

“การรับรู้กลิ่นสัมพันธ์กับสุขภาวะทางอารมณ์ ผู้ที่สูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่นตัวของคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิตหรือลูก ๆ ทำให้บุคคลนั้นซึมเศร้าและรู้สึกโดดเดี่ยวได้” เขากล่าว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว