รัฐบาลแห่งชาติ: การเมืองไทยเกือบสองทศวรรษ ชงตั้ง 8 ครั้ง ไม่เคยสำเร็จ

Getty Images

“รัฐบาลแห่งชาติ” เป็นข้อเสนอเก่าที่ถูกโยนออกมาเขย่าการเมืองไทยเป็นระยะ ๆ ในห้วง 18 ปี นับตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารปี 2549 โค่นอำนาจรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จนหลังการเลือกตั้ง 2566 พบว่ามีผู้เสนอ “สูตรอำนาจพิสดาร” นี้อย่างน้อย 8 ครั้ง แม้ว่ายังไม่มีครั้งใดที่ได้รับการสนองตอบ แต่รัฐบาลแห่งชาติก็ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่ไม่มีวันตาย

ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ล่าสุด มาจากนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา ในกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งได้เสียงในสภาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ได้รับเสียงโหวตเพียงพอที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ จากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา

นายจเด็จ ระบุว่า ไม่ได้มองตัวเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับสอง แต่มีแนวคิดอยากเสนอรัฐบาลแห่งชาติเข้าไปในกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพราะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองไทยในขณะนี้ โดยงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

“จริง ๆ รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้ทำ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็ไม่มีข้อห้าม” นายจเด็จกล่าว พร้อมบอกถึงแนวทางว่า ทุกพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. มารวมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรี จะเป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. รวม 750 คน เช่นเดิม “แต่ไม่จำเป็นต้องเลือก (นายกฯ จาก) พรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุด”

รูปแบบของ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค นับตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารเดือน ก.ย. ปี 2549 ถูกโยนออกมาในบริบทของสถานการณ์การเมืองที่แตกต่างกันไป แต่ทว่ามีลักษณะร่วมกันคือ เป็นการตั้งรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน บีบีซีไทยชวนย้อนดูข้อเสนอนี้ และแนวคิดล่าสุดของ ส.ว. ในปี 2566

2549 “รัฐบาลสมานฉันท์” ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหารปี 2549 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเสนอให้มี “นายกฯ คนกลาง” ของ “รัฐบาลสมานฉันท์” เข้ามาบริหารประเทศในช่วงวิกฤต-ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2549 หลังพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 เพียงพรรคเดียว ท่ามกลางการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณของมวลชนที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

แต่ท้ายที่สุดข้อเสนอนี้มีอันตกไป เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549 แล้วส่ง “นายกฯ นายพล(เก่า)” อย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าบริหารประเทศเป็นเวลาปีเศษก่อนมีการเลือกตั้ง

2551 “รัฐบาลเฉพาะกาล” โดย พล.อ.ชวลิต สมัยนายกฯ สมัคร

พล.อ.ชวลิต ไม่ลด-ละ-เลิก เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยได้ออกมาเสนอแนวคิดนี้อีกครั้งช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2551 โดยเรียกว่าเป็น “รัฐบาลเฉพาะกาล” แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับจากพรรคใด ๆ กระทั่งต้นสังกัดอย่างพรรคพลังประชาชน-คนเสื้อแดง บอกไม่รู้-ไม่เห็นกับบทเฉพาะตัวของ “พ่อใหญ่จิ๋ว”

พล.อ.ชวลิต เสนอเรื่องนี้ ระหว่างที่มีการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อขับไล่ “การสืบทอดอำนาจ” ของนายทักษิณ ผ่านพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ได้เพียง 4 เดือน

“พ่อใหญ่จิ๋ว” เสนอทางออกนี้ เพราะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา หรือให้นายกฯ สมัคร ลาออก เพื่อให้พรรคฝ่ายค้านรวมกับพรรคร่วมรัฐบาลจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ล้วนจะไม่เป็นการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นซ้ำต่อไป

2553 “รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง” โดยคุณหญิงสุดารัตน์

ข้อเสนอเก่าถูกเอามาเล่าใหม่อีกครั้งในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังเกิดเหตุนองเลือด จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุมของมวลชนที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกคอกวัว วันที่ 10 เม.ย. 2553

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาแถลง เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลาออก แล้วจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง” ใช้เวลา 3 เดือนตกลงกรอบกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรม ก่อนยุบสภา ซึ่งก่อนลงสนามเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องลงสัญญาประชาคมว่าหากผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ต้องยุติตามนั้น

นี่เป็นอีกครั้งที่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการสนองตอบ

2557 “รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลาง” โดยอภิสิทธิ์

อีกครั้งเมื่อมวลชนอีกข้างที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556-2557 จากกรณีสภาผ่าน “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง” ก็มีความพยายามในทางลับเจรจาให้ “นายกฯ หญิงลาออก” เปิดทางตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจแก้ปัญหา

แต่ข้อเสนอนี้มาปรากฏต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวหัวข้อ “เดินหน้าประเทศไทย ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ” วันที่ 3 พ.ค. 2557 เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำ ครม.ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลางที่เกิดขึ้นบนความยอมรับของทุกฝ่าย” เพื่อบริหารการจัดทำข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ การปฏิรูป และการเลือกตั้ง ใช้เวลา 6 เดือน-1 ปี ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่สุดท้ายทั้งดีลลับ-ดีลแจ้งไม่ถูกขานรับจากคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์และ กปปส. จนในที่สุดการชุมนุมบนท้องถนนยุติลงด้วยการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

2558 “รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป” ฉบับเอนก

เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ก่อการรัฐประหารในปี 2557 ระหว่างที่ไม่มีสภาจากการเลือกตั้ง ก็มีข้อเสนอนี้ออกมาจาก “แม่น้ำร่วมสาย” อย่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วน นำทีมโดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. ในปี 2558 ถึงขนาดเตรียมชงญัตติให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติ ถามประชาชนไปเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการตั้ง “รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป”

แต่สุดท้ายถูกเบรค-ล้มไม่เป็นท่า เมื่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. บอกว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของ สปช.” ในการดำเนินการเรื่องนี้ ไม่ต่างจากเพื่อนสมาชิกอย่างนายวันชัย สอนศิริ ที่บอกว่า “ไม่เชื่อว่านักประชาธิปไตย จะร่วมมือหรือทำงานร่วมกับเผด็จการ” และนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่กล่าวว่า การไปตั้งคำถามประชามติ คงหนีไม่พ้นถูกกล่าวหาเป็นการเปิดช่องสืบทอดอำนาจให้ คสช.

2560 “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยพิชัย รัตตกุล

ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ครั้งนี้ ถูกเสนอจากนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในเดือน ก.ย. 2560 ระหว่างที่คดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังจะมีคำพิพากษาจากศาลอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว โดยไม่ไปปรากฏตัวที่ศาลนัดแรกในวันที่ 25 ส.ค. 2560

นายพิชัย ระบุถึงเหตุผลของการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าจะไม่มีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปแน่นอน เพราะการเลือกตั้งถูกเลื่อนไปแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง จากการที่กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญไม่เสร็จสิ้น รวมทั้งกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ ประกอบกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ เอง ยิ่งทำให้การปรองดองทำได้ยาก จึงมีข้อเสนอดังกล่าวขึ้นมา

รายละเอียดของรัฐบาลแห่งชาติของนายพิชัย คือการให้พรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ร่วมกับทหารตั้งรัฐบาลเพื่อหวังให้เกิดความปรองดอง เพราะให้ทหารตั้งรัฐบาลฝ่ายเดียวหลังการเลือกตั้ง ไม่มีทางปรองดองได้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการตอบสนองทั้งจากบรรดาทหารใน คสช. และนักการเมือง รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ขณะนั้น ที่มองว่าเป็นความกังวลของผู้ใหญ่ และไม่แน่ใจว่าข้อเสนอของนายพิชัยในเชิงรูปธรรมคืออะไร และพูดไม่ชัดเจนว่าจะตั้งก่อนหรือหลังเลือกตั้ง

2562 “รัฐบาลแห่งชาติ” และ “รัฐบาลปรองดอง” โดยเทพไท ประชาธิปัตย์

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในเดือน เม.ย. 2562 หลังการเลือกตั้งเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร และอยู่ระหว่างที่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดรู้แน่ชัดว่าจะได้จำนวนที่นั่งในสภาฯ เท่าไร และปัญหาสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่ กกต. พลิกไปมาชนิดรายวัน

เทพไท อ้างว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองตอนนั้น ประเทศไทยจะต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีวาระเพียงแค่ 2 ปี จากนั้นคืนอำนาจแก่ประชาชนและเลือกตั้งใหม่

อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ยังโยนชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็น “นายกฯ คนกลาง” ของรัฐบาลแห่งชาติออกมา 4 คน มีองคมนตรี 2 คน คือ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ และนายชวน หลีกภัย โดยเชื่อว่าหากมี “นายกฯ คนกลาง” ทุกพรรคการเมืองพร้อมถอยคนละก้าว รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่มีจุดยืนไม่สืบทอดอำนาจ

ข้อเสนอนี้ไม่ได้ถูกตอบรับไปขับเคลื่อนจากฝ่ายใด และมีความเห็นจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ระบุว่า ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองตอนนี้ยังไม่มีเหตุและความจำเป็นในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติแต่อย่างใด

2566 “รัฐบาลแห่งชาติ” โดย ส.ว. จเด็จ

เหตุผลที่ ส.ว. จเด็จ เสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมานั้น เขาได้บอกกับรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์ อสมท วันนี้ (1 มิ.ย.) ว่า การเมืองหลังจากวันเลือกตั้งเป็นต้นมา แม้มีความคืบหน้าในการตั้งรัฐบาล แต่ยังมีปัญหาที่ “ยังไม่จบ” ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประธานสภาฯ หรือการ “เตรียมความพร้อมออกหน้าออกตา” ของพรรคก้าวไกล ในการเป็นรัฐบาล

ไม่เพียงเท่านั้น ส.ว. รายนี้ยังเห็นว่า อาจเกิดปัญหาบางประการขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่ตอนนี้กำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

“(แก้ไขมาตรา 112) จะเป็นปัญหาใหญ่และจะแบ่งฝ่ายกัน ทำไมต้องรอให้อะไรเกิดขึ้นในทางที่ไม่ดี และทำไมต้องไปทำการเมืองกันบนถนน” นายจเด็จกล่าว ถึงเหตุผลที่ต้องมีการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นมาในจังหวะเวลานี้

ส.ว. จเด็จ ยืนยันว่า ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกผลการเลือกตั้ง แต่ให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งมาแต่ละพรรค รวมตัวกันเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าพรรคที่่ร่วมจัดตั้ง “ต้องถือหลักในการสมานฉันท์ และถือหลัก 3 ด้าน คือ ชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์”

นายจเด็จยังกล่าวถึงอำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรีด้วยว่า จะยังเป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. รวม 750 คน เช่นเดิม “แต่ไม่จำเป็นต้องเลือก (นายกฯ จาก) พรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุด” และเห็นว่าพิธาและพรรคก้าวไกล ยังติดกับการแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 จึงยืนยันตามเดิมว่า “รับไม่ได้” ส่วนจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือเป็นใครนั้น นายจเด็จ กล่าวว่า เป็นใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติสร้างความแข็งแกร่งให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่จำเป็นต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

เป็นไปได้แค่ไหน

“รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ ส.ว.จเด็จ ระบุว่าเป็นรัฐบาลที่รวบรวม ส.ส. จากทุกพรรค ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ร่วมกับ “สองลุง” คือ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามคำขวัญก่อนเลือกตั้งว่า “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา”

ส่วนความเป็นไปได้ในการหนุนแคนดิเดตนายกฯ จากขั้วรัฐบาลเดิม จากการหนุนของ ส.ว. ว่าจะสนุบสนุน “ลุง” คนใด

หากอ้างอิงผลการลงมติสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ของรัฐสภา ในการลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งพบว่า กลุ่มที่หนุนสูตรหาร 500 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุน ชนะการโหวต มี ส.ว. ลงมติหนุน 150 คน

ส่วนกลุ่ม ส.ว. ที่หนุนสูตรหาร 100 ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ให้ประกาศสนับสนุนไว้มีเพียง 7 คน ที่เห็นชอบ ได้แก่ นายไกรสินธิ์ ตันติศิรินทร์, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, นายวันชัย สอนศิริ, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ โดยมี ส.ว. โหวตคว่ำ 154 คน และงดออกเสียง 73 คน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว