เปิดบันทึกถอดบทเรียนภาวะ “Work ไร้ Balance” ในวงการแพทย์ไทย

กรณีประกาศลาออกจากราชการของ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล หรือ “ปุยเมฆ” ไม่ใช่กรณีแรกที่ถือว่าเป็นบทสะท้อนปัญหาที่บุคลากรทางแพทย์กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

บีบีซีไทยเรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจากการ “ถอดบทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23” ในเรื่อง “Work life balance for Patient and Personal Safety” (ความสมดุลในการใช้ชีวิตเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์) โดย รศ. นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่สังคมไทยและแวดวงสาธารณสุขกำลังเผชิญอยู่

คำถามที่ตามมาคือ สภาพการณ์ปัจจุบันที่บีบบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์เลือกเดินออกจากระบบราชการ

สถานการณ์การ แพทย์-พยาบาล ปัจจุบัน

จากข้อมูลของแพทยสภา ในปี 2566 มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็น ชาย 39,207 คน หญิง 33,043 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 32,198 คน และกระจายอยู่ในต่างจังหวัดอีกจำนวน 34,487 คน

เลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า ด้านกำลังการผลิตแพทย์เฉพาะปี 2566 คาดว่า จะมีการผลิตแพทย์ราว 3,000 คน และในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีแพทย์ทั้งหมด 100,000 คน ต่อประชากรไทยราว 66 ล้านคน คิดเป็นแพทย์ 1 คน ต่อ ประชากร 660 คน

อย่างไรก็ดี ภายหลัง #หมอลาออก ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ ทำให้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาแถลงชี้แจง และเปิดเผยตัวเลขการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน คณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 หรือ 5 ปีย้อนหลัง

ข้อมูลพบว่า มีนักศึกษาแพทย์สำเร็จการศึกษา 13,141 คน แบ่งเป็น จัดสรรให้ส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น จัดสรรให้ 3,937 อัตรา ไปปฏิบัติงานจริง 3,023 คน ส่วนของ สธ. จัดสรรให้ 9,951 อัตรา ไปปฏิบัติงานจริง 9,970 คน

ตัวเลขรายปี 5 ปีย้อนหลัง ที่ สธ. เปิดเผย มีดังนี้

  • ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ.ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน
  • ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,054 อัตราปฏิบัติงานจริง 2,044 คน
  • ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน
  • ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน
  • ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ.ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน

อัตราการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง พบว่า เฉลี่ยมีการลาออกปีละอย่างน้อย 455 คน และเกษียณปีละ 150-200 คน หรือเฉลี่ยรวมปีละ 655 คน

ทำให้สถานการณ์บุคลากรแพทย์ประจำกระทรวงสาธารณสุข มีดังนี้

  • แพทย์บรรจุรวม 19,355 คน
  • แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน (1.2%) เฉลี่ยปีละ 23 คน
  • แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน (9.69%) เฉลี่ยปีละ 188 คน
  • แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน (4.4%) เฉลี่ยปีละ 86 คน
  • แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน (8.1%) เฉลี่ยปีละ 158 คน

ทั้งนี้ รองปลัด สธ. ยอมรับว่า การผลิตแพทย์เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการของประชากรนั้น เป็นเรื่องท้าทาย เบื้องต้น ตั้งเป้าผลิตให้มีแพทย์ในระบบ สธ. รวม 35,000 คน ภายในปี 2569 หรืออีก 3 ปีต่อจากนี้

ขณะที่ ข้อมูลจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Nurses Connect เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. อธิบายถึงสาเหตุของปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในไทยว่า ส่วนสำคัญมาจากการสูญเสียพยาบาลออกจากระบบในแต่ละปีกว่า 7,000 คน แม้ว่าจะสามารถผลิตได้ปีละ 10,000 คน ก็ตาม นอกจากนี้ยังพบอีกว่า พยาบาลจบใหม่ลาออกหลังจากทำงานได้ 1 ปี ถึง 48%

แพทย์รับภาระงานมากกว่ามาตรฐาน 20 เท่า

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ต้องมีจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,000 คน แต่เมื่อศึกษาลงในรายละเอียดกลับพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่เลือกทำงานในเขตกรุงเทพฯ ในขณะที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด โรงพยาบาลระดับอำเภอ หรือ โรงพยาบาลชุมชน บางแห่งมีแพทย์เพียง 1 คน เท่านั้น ที่สำคัญยังต้องรับภาระในการทำงานบริหารไปด้วย

“นั่นหมายความว่า แพทย์รับภาระงานมากกว่ามาตรฐานราว 10-20 เท่า เฉลี่ยทั่วประเทศ (นอกจากการรักษาพยาบาล) แต่ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม” รศ. นพ.เมธี ระบุในบันทึกรายงาน

นอกจากนี้ ในส่วนงานของพยาบาล องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัดส่วนพยาบาลต่อจำนวนประชากรไว้ที่ 1 ต่อ 200 คน โดยในปี 2565 พบว่า สัดส่วนพยาบาลต่อจำนวนประชากรในประเทศอยู่ที่ 1 ต่อ 660 นั้น จึงหมายความว่า พยาบาล 1 คนในไทยต้องทำงานเท่ากับพยาบาล 3 คน ด้วยค่าแรงเท่าเดิม

ค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างไร

ในบันทึกดังกล่าวได้ระบุถึง ค่าตอบแทนในระบบราชการของไทยต่อบุคลากรทางการแพทย์ไว้ว่า แพทย์ในระบบราชการมีรายได้เป็นเงินเดือนราว 50,000-60,000 บาท หากนับจากส่วนต่าง ๆ และมีค่าเฉลี่ยเวรต่อชั่วโมงไม่ถึง 100 บาท มีชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ 100-200 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ที่ให้รายได้สูงกว่า

ขณะที่บางส่วนก็เปลี่ยนอาชีพไปประกอบธุรกิจคลินิคเสริมความงาม ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ขั้นต่ำราว 200,000 บาทต่อเดือน และมีชั่วโมงการทำงานที่ต่ำกว่าแพทย์ในระบบราชการถึงเท่าตัว

หมอกำลังผ่าตัด

Getty Images

ทั้งนี้ จากการศึกษาของสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย พบว่า มีแพทย์ทำงานติดต่อกันสูงถึง 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่โดยเฉลี่ยควรทำงานเพียง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น เพื่อให้ชีวิตสมดุล

ทว่า สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ส่วนใหญ่กลับทำงานเกินกว่าช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่มี work life balance และยังถือว่าอาจจะขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สองข้อสำคัญ ประกอบด้วย

  • ข้อ 23 เรื่องสิทธิในการทำงาน ที่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในการทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวจต่อการทำงาน ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม
  • ข้อ 24 สิทธิในการพักผ่อน ที่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับโอกาสในการพักผ่อน และการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้ง การจำกัดเวลาในการทำงานตามสมควร และได้รับวันหยุดเป็นครั้งคราว โดยทั้งที่ได้รับค่าจ้าง

    หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว